วันที่ 1 มี.ค.67 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมฝ่ายการเมือง กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านบางคน ใช้วิธีการบูลลี่ รัฐมนตรีว่าไม่ไปตอบกระทู้สดในสภานั้น ซึ่งตนเข้าใจ เพราะเคยถูกเลื่อนกระทู้สดตอนเป็นฝ่ายค้าน แต่ก็ไม่ติดใจอะไร เพราะส่วนใหญ่รัฐมนตรีก็จะมาตอบในสัปดาห์ถัดไปบ้าง ตอบด้วยเอกสารบ้าง ซึ่งวันนี้รัฐสภาควรจะแก้ไขข้อบังคับการประชุมรัฐสภาได้แล้ว เพราะข้อบังคับเดิมต้องให้สมาชิกแจ้งถามตอน 8 โมงเช้า และจะให้รัฐมนตรีมาตอบ 11 โมงเช้า วันเดียวกันมีเวลาเพียง 2- 3 ชั่วโมง 

“ตอนตนเป็นฝ่ายค้านก็เข้าใจรัฐมนตรีของรัฐบาลที่มีภารกิจสำคัญกำหนดไว้ล่วงหน้า ซึ่งหากถามนายกรัฐมนตรี ท่านอาจมอบหมายรัฐมนตรีอื่นๆ มาตอบได้ แต่หากถามเจาะจง รัฐมนตรีรายบุคคลก็เกิดปัญหาบ่อยครั้งเพราะรัฐมนตรี มีนัดหมายภารกิจของประเทศที่สำคัญไว้ แต่หากไม่มีภารกิจใดๆ แล้วยังไม่มาตอบกระทู้อย่างนี้ต้องถือว่าเป็นการหนีสภา“
      
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ฝ่ายค้านยื่นกระทู้สดถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอน 8น. ต้องมาตอบประมาณ 10-11น. ซึ่ง กระทรวงฯ มีการแถลงข่าวอย่างชัดเจนว่าวันพฤหัสบดีที่ 29กุมภาพันธ์ จะต้องไปมอบที่ดินทหารให้ประชาชนที่จังหวัดกาญจนบุรี ตามที่ตนแถลงข่าวก่อนหน้านั้น 2 วันอยู่แล้ว จึงขออภัยฝ่ายค้านมา ณ โอกาสนี้   ทั้งนี้ตนได้หารือกับรัฐมนตรีแล้ววันพฤหัสบดีหน้าจะไม่ไปงานราชการใดๆ เพื่อที่จะรอตอบกระทู้ถามสดของฝ่ายค้านจึงขอให้ฝ่ายค้านเตรียมยื่นอีกครั้งได้เลย  
             
“ตนเป็นฝ่ายค้านมาหลายครั้ง และรัฐมนตรีกลาโหมก็เป็นเคยประธานวิปฝ่ายค้าน เข้าใจดีถึงการให้เกียรติฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งในสมัยอยู่ฝ่ายค้านก็ใช้วิธีการอะลุ่มอล่วย ให้ฝ่ายรัฐบาลได้เตรียมตัวล่วงหน้า เช่นประสานกันก่อน 1-2 วันแล้วยื่นช่วงเช้าถาม 11 โมง ก็ไม่ติดขัดอะไรสามารถถามได้ บางทีรัฐมนตรีไม่มาตอบ ตนก็ถามลอยกับประธาน ชวน หลีกภัย เพื่อให้ตอบเป็นเอกสารได้ แต่ทั้งนี้ยืนยันว่าในวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคมนี้ รัฐมนตรีกลาโหม จะไปรอตอบกระทู้สดของฝ่ายค้าน เพราะรัฐมนตรีแจ้งกับตนว่าจะเคลียร์คิวไม่รับนัดใดๆ ในวันพฤหัสบดีหน้าแล้ว
       
นายจิรายุ กล่าวอีกว่าขอเรียกร้องให้รัฐสภา แก้ไขข้อบังคับเรื่องกระทู้สดที่ระบุให้ยื่นตอน 8 โมงเช้าและให้รัฐมนตรีมาตอบตอน 11 โมง มีเวลาเพียงแค่ 2-3 ชั่วโมง  ประชุมสภามาหลายสมัย รัฐมนตรีเกือบร้อยละ 50 ไม่สามารถมาตอบได้ทัน และเตรียมข้อมูลมาตอบไม่ชัดเจน เพราะไม่รู้ว่าจะถามเรื่องอะไร แต่ถ้าแก้ไขข้อบังคับให้ยื่นล่วงหน้า 1-2 วัน ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายนิติบัญญัติและผลประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป