ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

“ความสุขหรือความทุกข์ในชีวิต..ล้วนมีทัศนียภาพของนัยทางความรู้สึกเกิดขึ้นกับใจแห่งใจเสมอ..หากเราจะคิดใคร่ครวญและไม่ปล่อยให้มันได้มีโอกาสอำพรางหรือซ่อนเร้นตัวตนของตนจนเกินไป..

เหตุดั่งนี้...ชีวิตจึ่งอาจรอดพ้นจากความหมองเศร้าได้ ถ้าเรากล้าสนทนากับความทุกข์ ด้วยภาษาที่เปิดเผยถึงจิตวิญญาณอันแข็งแกร่ง..แต่ในขณะเดียวกัน..เราอาจจะลื่นถลา..และล้มลงอย่างสิ้นท่า..ถ้าไม่ตระหนักในคุณค่าของโชคชะตาชีวิต..

ภาวะเปรียบในเงื่อนไขแห่งบทบาทชีวิตอันอาจจะเกิดขึ้นทั้งในสองส่วนนี้..คือความรื่นรมย์แห่งการผจญภัยในชีวิต..ขณะที่เราทุกคน..ล้วนต่างเป็นผู้มองเห็น...สัจของภาพแสดงแห่งชีวิต..ที่ทะลุเปลือกของมายาคติ..เข้าไปสู่่พื้นที่แสดงอันเป็น..อมตธรรมของตัวเอง...”

นัยแห่งข้อคิดข้างต้น..คือเมล็ดพันธุ์ของการรับรู้ในรู้สึกต่อ กระบวนการใช้ชีวิตด้วยสำนึกแห่งใจ เพื่อที่จะหยั่งรู้เป็นการเฉพาะในธรรมชาติของปฏิกิริยานานา ...ผ่านลักษณาการของพื้นที่ชีวิตแห่งสารัตถะในความหมายอันงดงามและสั่นไหวของ..กวีนิพนธ์..ตลอดจนความเป็นไปในเบื้องลึกสุด..ของมัน..!

“รอยยิ้มและน้ำตา..ที่หล่นร่วงจากหัวใจ..ล้วนมหัศจรรย์” นั่นคือตัวอย่างบทสะท้อนแห่ง “ทัศนียภาพของความรื่นรมย์” รวมบทกวีเล่มใหม่..ที่ละเมียดละไมในภาษาแห่งใจและ..เข้มข้นจริงใจในการสื่อสารสายธารแห่งความคิดวิเคราะห์อันอ่อนโยน..ประพันธกรรมของ “กวีหญิง” ..ผู้สร้างสรรค์ผลงานด้วยใจสู่ใจ “ปันนารีย์”...

“เพื่อนของฉันเคยบอกว่า เธอไม่มีใครในชีวิตเลย/เธอมักนั่งพิงกำแพงเสมอ/อย่างน้อยที่สุดชีวิต..ก็ยังมีกำแพง”

ภาพทางเลือก..ของความคิดเพื่อความอยู่รอดบทนี้..ดำเนินอยู่แบบละดำเนินไปคล้ายว่างเปล่า..แต่กลับสร้างความหวังผ่านการสังเกต..เเรงแบกรับของชีวิตได้ว่า..เราจะมีกันอยู่สักเพียงไหน...เพราะมันคือสิ่งที่ยึดพยุงชีวิตต่อความเป็นต้นรากของชีวิต.. “ฉันคิดว่ากำแพงแข็งแกร่งน้อยกว่าภูเขา/กำแพงย่อมพังลงง่ายๆ/แล้วเธอจะพิงอะไร../...ภูเขาพิงกันอยู่ชั่วนาน/มันไม่อาจเป็นสิ่งชั่วกัปชั่วกัลป์บนโลกใบนี้/วันหนึ่งภูเขาใหญ่โตลูกนั้น/ถูกทำให้หายไป โดยน้ำมือมนุษย์/ความจริงตรงหน้า จึงไม่พึ่งพิงสิ่งใดอยู่ดี..”

สัญชาตญาณแห่งการเปรียบเทียบ..สิ่งหนึ่งสู่สิ่งหนึ่ง..สำนึกหนึ่งสู่ทางของชีวิตสายหนึ่ง..พันธะชีวิตตรงส่วนนี้...เป็นภาพแสงถึงจิตเชื่อมโยงอันอ่อนโยนในนามแห่ง “หัวใจกวี” ที่สลักลึกความรู้สึกของความเป็นจริง..เอาไว้อย่างแนบชิด..เป็นบทเพลงกล่อมใจในนิวาสสถานของวงโคจรแห่งความมีอยู่..ที่ไม่ต้องออกแรงค้นหา แม้เมื่อใด..! “ฤดูกาลแปรเปลี่ยนไปตามวงโคจร/ใบไม้เปลี่ยนสี..เมฆกลายเป็นฝน/อากาศเย็นสบาย..จู่ๆกลับมีฝนเทลงมา/เช้าวันถัดมา..ลำแดดอ่อนโยนระบายสีให้ก้อนเมฆ/..ภูเขางัวเงียตื่นขึ้นมา/ความเป็นจริงเหล่านี้..ไม่ต้องออกแรงค้นหา..”

หากได้มีการทบทวนชีวิตผ่านประสบการณ์ที่ข้ามผ่าน..แม้จะพานพบแต่ก็ไม่เคยเกิดความหมายแห่งผลลัพธ์ใดๆ..นี่คือแบบจำลองหนึ่งที่่ถูกนำมาพินิจพิเคราะห์ต่อการทบทวนสิ่งอันเป็นโครงสร้างแห่งความเป็นตัวตนที่ขาดหายไปของชีวิตอันน่าเสียดาย.. “ฉันรู้..ว่ามันยากที่จะบอกเธอว่า/กองผ้าพังครีนมาทับตัวเรานั้น/บางเบาและ..นุ่มนวลกว่ากองหิน/..เรามีโอกาสพับผ้าทีละผืน.,จนกว่าเราจะลุกขึ้นมาได้/แต่กองหินเหมือนบททดสอบ/..เมื่อเราผ่านมันมาแล้ว..ไม่มีอะไรหนักหน่วงกว่านี้/..ไม่มีอะไร “กว่านี้” อีกต่อไปแล้ว../ “ปันนารีย์” ได้แสดงทรรศนะแห่งกวี..สู่การพิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงที่คาบเกี่ยวกับชีวิต..ผ่านการตีความในเงื่อนไขของกาลเวลา..และ..วิถีสัมผัสถึงการแปรเปลี่ยนในตัวตน..โดยอาศัยเบ้าหลอมจากธรรมชาติ..เป็นแรงสื่อสารอันน่ารับรู้และรับฟัง..

“ยามเช้า..เราตัดกุหลาบในสวนหลังบ้าน/มาปักแจกันให้สดใหม่ทุกวัน/เราไม่อาจเปลี่ยนความเศร้า..ให้ไปสู่ความสดชื่น ด้วยกลิ่นหอม/เราผ่านความเข้าใจ/เราเปลี่ยนแปลงตัวเอง/ไปสู่ความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย/ เราเปลี่ยนอารมณ์อ่อนไหวไปสู่ความเข้มแข็ง..ด้วยการหมั่นตรวจสอบ/ เรามีลมหายใจ..เปลี่ยนแปลงตัวเอง ในทุกเช้าวันใหม่..”

ในโลกของวันนี้..การมีชีวิตอยู่ย่อมต้องมีมิตรสหายเคียงข้างอยู่ มันเป็นส่วนจำเป็นที่จะต้องก่อเกิดความเป็น “สัมพันธภาพ” ขึ้น..ในความเป็นชีวิตหนึ่ง..หากพียงแต่ว่า..ในสัมพันธภาพนั้นจักต้องไม่รุกรานพื้นที่ส่วนตัวจนเหมือนดั่งถูกจาบจ้วง.. ณ โลกวันนี้..การอยู่อย่าง “เข้าใจ” ช่องว่างแห่งชีวิต “ระหว่างกัน” ถือเป็นสิ่งที่ชวนปฏิบัติและจดจำยิ่งนัก..แม้ว่า.. “เราแต่งต้วเหมือนกัน เราชอบสิ่งเดียวกัน/เราแนบชิดกัน เราเหมือนกัน/แต่เรา ไม่ใช่คนคนเดียวกัน/ช่องว่างระหว่างเรา เป็นพื้นที่ว่าง เพื่อเติมเต็ม/ช่องว่างนั้น ลดระยะห่าง ลดความไม่ชอบใจ/เราพึงพอใจในสัมพันธภาพที่มีช่องว่าง..”

กวีนิพนธ์จำเป็นต้องมีช่องว่างให้ความคิดได้หายใจ  ให้ความรู้สึกได้โอบกอด..อะไรบางสิ่งในท่าทีแห่งประสบการณ์ของมวลมนุษย์..คือภาวะสำนึกอันพึงเกิด พึงมี..ที่ผู้เป็นกวี ต้องเข้าใจในปฏิกิริยานี้ในทุกสัมผัส..การใคร่ครวญที่ดี จึงคือ นัยของการสรรค์สร้างที่ส่งผลกระในแง่งามในความเป็นสีสันนานาของสรรพ ชีวิตเสมอ..เป็นดั่งเส้นบางๆของความเข้าใจ..เข้าไว้ด้วยกัน.. “เมื่อความผิดหวัง อยู่ในระนาบเดียวกับความดีใจ/เราพยายามหลายครั้งที่จะแยกข้อมูลทางความรู้สึกออกจากกัน/ราวกับเส้นขอบฟ้าขีดเส้นย่ำค่ำให้ท้องทะเล/ข้อมูลกองระเกะระกะในหัวสมอง ควรถูกจัดระเบียบ/มุมมองเหมือนแสงเช้า สาดเฉียงทำมุมกับโต๊ะหนังสือ/เราจดจำใบหน้าคมครบางคนจากความอ่อนโยน/แต่ความเป็นจริงก็หักเหเเสงทั้งหมด/ลงตกกระทบพื้น/ความเป็นจริงที่หักของ “ปันนารีย์” ..ก่อเกิดเป็นตรรกะอันเคลื่อนขยายขึ้นอย่างชวนตีความ..โดยเฉพาะความแข็งแกร่งของแต่ละชีวิต ซึ่งที่สุดแล้วก็ได้แปรสภาพความเป็นชีวิตมนุษย์ให้กลับกลาย เป็นสภาวการณ์อันไม่รู้ตัวตน..

“มนุษย์เหลวคนนี้ มักเคลื่อนที่ไปตามท่อน้ำ/ไหลไปตามท่อ...เปลี่ยนรูปร่างตัวเองด้วยท่อใหญ่ท่อเล็ก/เมื่อเขาหล่นลงไปในถ้วย เขาเลิกเป็นท่อ/มนุษย์เหลวคนนี้ เมื่อปีนขึ้นไปบนภูเขา/เขากลายเป็นนักปีนป่าย/เมื่อขึ้นไปถึงยอดเขา เขากลายเป็นภูเขาเสียเอง/เขากลายเป็นลมกระโชกแรง ในฤดูพายุ/หลังพายุพัด ทุกอย่างพังพินาศ และเงียบเชียบ/เขาพบว่าในความเงียบ/เขาได้ยินเสียงตัวเอง..ถามขึ้นว่า..ตัวเขาคือใคร?”

อาการกลืนกลายที่ซ้อนอยู่ เหนือมาเบื้องหลังชีวิต  สามารถสร้างปริศนาคำถามต่อการรับรู้..เพื่อที่จะเรียนรู้ในนัยของความเป็นจริงให้ถ่องแท้.. “เมื่อฉันอยากรู้ ฉันควรมีโอกาสศึกษาและตั้งคำถาม/ยกตัวอย่างคำถามแรก ยกตัวอย่างคำถามแรก คำว่าบ้าน มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การพักพิงอาศัย/แต่บ้านที่ไม่มีใครอยู่ ยังคงเป็นบ้านอยู่หรือไม่/คำถามถัดไป/ฉันปลูกดอกไม้เพียงต้นเดียวบนเก้าอี้/มันเป็นดอกกุหลาบผู้ฟังการ/จนบางครั้งฉันคิดว่ามันมีดวงตาของตัวเอง/เธอคิดว่า..มันคือดอกกุหลาบหรือเก้าอี้..”

ที่สุดแล้ว.. “ปันนารีย์” ก็เปรียบสถานะของความเป็นที่สุดของการดำรงชีวิตของคนเรา ณ วันนี้..เป็นดั่งหลุมที่คนเราทุกคนมีโอกาสที่จะพลั้งตกลงไป..ในวงจรที่สับสนวกวนของจิตวิญญาณสำนึก ซึ่งมันคล้ายเป็นกับดักที่ซ่อนเงื่อนซ่อนปมอยู่กับนิวาสสถานที่คาบเกี่ยวกันระหว่าง ความจริงแท้กับความจริงลวง..ที่เป็นเหมือนเงาร่างของความอับปาง.. “ถุงหัวเราะ..เอาไว้เปิดตอนอยากหัวเราะ/เต็มไปด้วยความสุข/มีแต่เสียงหัวเราะ เปี่ยมไปด้วยความเริงร่า/ถุงความโกรธวางไว้ตรงนั้น/บนโต๊ะริมหน้าต่าง/ตรงช่องว่างระหว่างบานประตู/มันอยู่ตรงนั้น/เปิดรับมันเข้ามา/ก่อนจะหยิบขึ้นมาถือไว้/ ถุงความเศร้า/ถูกหยิบมาบ่อยที่สุด/มันมักขยายใหญ่กว่าถุงความสุข/ถุงอะไร..เผลอหยิบขึ้นมา/เราวางมันลง/และทุกครั้งหยิบมันขึ้นมา/เราจะวางมันอีกครั้ง/...วางมันลงไป/ “ทัศนียภาพของความรื่นรมย์”..ถือเป็นรวมบทกวี..ที่เปิดมุมมองอันสงบสว่าง..ให้เกิดขึ้นกับใจของผู้อ่าน..มันแผ่วเบาดุจเสียงกระซิบของถ้อยคำที่ส่องประกายของความตระหนักคิด..มิใช่ความบางเบาแห่งรู้สึก..แต่เป็นความหนักแน่นทางปัญญาญาณที่ย้ำเตือนถึงช่องว่างระหว่างความคิดกับสำนึกคิด..ธรรมชาติของคุณลักษณะทางจิตใจ..ค่อยๆเผยร่างแห่งภาพแสดงเหลี่ยมมุมของจิตวิญญาณออกมา..เหมือนสามัญแต่กลับลึกเร้น...หากไม่เกี่ยวร้อยความคิดต่อความคิด/ไม่ดูภาพประกอบที่วาดแต่งขึ้นเป็นแบบจำลองของการอธิบายชีวิตต่อชีวิต..ก็คงต้องข้ามผ่านเนื้อในอันเป็นความมุ่งหวังตั้งใจในความบริสุทธิ์แห่งปัญญาญาณเหล่านี้..

นี่คือภาวะบรรเลงแห่งกวีนิพนธ์ที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยสีสันที่ร่ำระบายตัวตนอันพิสุทธิ์..ดั่งรอยยิ้มที่ประดับอยู่บนใบหน้าเด็กน้อยผู้มีจิตใจอันงดงามเสมอ.. “เด็กหญิงคนหนึ่ง มีรอยยิ้มอยู่บนใบหน้าเสมอ/เธอชอบปลูกดอกไม้/เธอใจดีกับหนอนเขียว/ที่แอบมากัดกินดอกไม้ตอนกลางคืน/เธอคิดเสมอว่าหนอนน้อยสีเขียวคงหิวข้าว/เพื่อนแซงคิว/ระหว่างเข้าแถวซื้ออาหาร/เพื่อนคงหิวข้าวมากเช่นกัน/ เธอส่งยิ้ม/เด็กหญิงใจดีกับเพื่อนๆ/หากเชื่อว่าบันทึกของชีวิต..เป็นรากเหง้าของความเป็นชีวิต..หนังสือเล่มนี้อาจเป็นยิ่งกว่านั้น..ซ้อนซับในอ่อนโยนยิ่งกว่านั้น..มันคืออาหารของปรารถนา..ที่สุดท้ายคือพลังงานแห่งการส่งต่อความหวังของชีวิตเพื่อชีวิตในไม่ช้าก็เร็ว.. “ระหว่างการเดินทาง/ได้บอกเล่าว่า/วันหนึ่งฉันเจ็บปวด/และฉันเดินทางผ่านมันมาได้แล้ว/...ฤดูกาลต่างเดินไปจับมือกัน/คล้องแขนกัน/และบางครั้งก็ปล่อยมือมันไปบ้าง/แต่สุดท้าย/เราต่างปรารถนาจะส่งต่อพลังงานของชีวิต..อยู่เช่นนั้น/ไม่ว่าช้าหรือเร็ว/..ชีวิตของเราจะถูกบันทึก”