สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

อาทิตย์นี้เราจะมาพูดคุยถึงแนวทางในการพิจารณาเอกลักษณ์แม่พิมพ์ ของ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย นับเป็น พิมพ์ที่ 2 ใน 7 พิมพ์ของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม 1 ใน 3 ตระกูลพระสมเด็จ ที่สร้างโดย ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) โดยได้บรรจุกรุไว้ในองค์พระเจดีย์วัดบางขุนพรหม

นาม ที่ได้รับการขนานนามว่า “พระสมเด็จวัดบางขุนพรกม พิมพ์เส้นด้าย” นั้น สืบเนื่องจากพุทธศิลปะเส้นสายที่ประกอบเป็นองค์พระเรียวบางคล้ายเส้นด้าย ในอดีตนั้นยังไม่มีการแบ่งแยกพิมพ์ย่อยออกเป็นพิมพ์ต่างๆ ถึง 7 พิมพ์ เหมือนปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วย พิมพ์ใหญ่ พิมพ์หูบายศรี พิมพ์ฐานแคบ พิมพ์แขนกลม เกศยาว พิมพ์แขนบ่วง พิมพ์แขนกว้าง และพิมพ์อกตัววี (V)

เอกลักษณ์แม่พิมพ์ ของ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย

 นอกเหนือจากหลักการพิจารณาพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมเบื้องต้น ในเรื่องของคราบกรุ และความเป็นพระกรุเก่า-กรุใหม่แล้ว พระสมเด็จวัดบางขุนพรกม พิมพ์เส้นด้าย ยังมีเอกลักษณ์แม่พิมพ์ดังต่อไปนี้

- เส้นขอบแม่พิมพ์ทั้งสี่ด้านจะนูนและปลิ้นขึ้นมา

 - พื้นขององค์พระบริเวณด้านนอกซุ้มครอบแก้วจะสูงกว่าด้านในซุ้มครอบแก้ว

- พระชานุ (หัวเข่า) ด้านซ้ายขององค์พระจะสูงกว่าด้านขวา

- หัวฐานชั้นที่ 3 ด้านขวาขององค์พระจะต่ำกว่าด้านซ้าย และต่ำกว่าพระชานุด้านขวาหรือเสมอกัน ถ้าสังเกตพระชานุทั้งด้านซ้ายและขวากับฐานชั้นที่ 3 จะเห็นว่าพุทธลักษณะของพระประธานดูเหมือนจะประทับเอียงด้านซ้ายออกมาเล็กน้อย

- หัวฐานชั้นที่ 2 ทั้งสองข้างไม่มีหัวฐานสิงห์

 - หัวฐานชั้นที่ 1 จะมีเส้นนูนที่ขอบทั้งซ้ายและขวา ยกเว้นเฉพาะ พิมพ์เส้นด้าย พิมพ์ใหญ่เท่านั้นที่ฐานชั้นที่ 1 จะเป็นแท่งเหมือน พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ใหญ่

สำหรับด้านหลังของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมจะปรากฏ “รอยปูไต่” อยู่ทั่วๆ ไปขององค์พระ ในขณะที่ด้านหลังของพระสมเด็จวัดระฆังฯ จะปรากฏ “รอยปูไต่”  ตามขอบทั้ง 4 ด้านเท่านั้นครับผม