“บ้านจันทร์ส่องหล้า” เวลานี้ไม่เพียงแต่จะเป็น “ศูนย์รวมอำนาจ” แห่งใหม่ เล่นล้ำหน้า “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี  ไปแล้วเท่านั้น แต่บัดนี้เจ้าของบ้าน เลือกส่งสัญญาณไปยังทุกฝ่าย ว่าเขากลับมาแล้ว

อย่าลืมว่าการได้รับการพักโทษ แล้วเลือกใช้ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” เป็น “สถานที่อื่นใด” ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ในลักษณะ “จำคุกนอกเรือนจำ” สำหรับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯคนที่ 23 นั้นล้วนแล้วแต่ใช้กระบวนการทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังที่เหนือกว่า ระเบียบหรือกระบวนการขั้นตอนใดๆ ทั้งสิ้น

การกลับมาสู่บ้านจันทร์ส่องหล้า สำหรับทักษิณ ถูกเปรียบเปรยว่านี่คือปฐมบททางการเมืองในภาคใหม่ นั่นคือการเมืองหลังทักษิณพักโทษ อันจะเต็มไปด้วยสีสัน ความคึกคักที่ปกคลุมไปถึง “พรรคเพื่อไทย” เมื่อ “นายใหญ่” คัมแบก

แต่อย่าลืมว่า ทักษิณ ในวัย 75ปี แม้ยังไม่ชราภาพ แต่ก็ย่อมร่วงโรย เช่นเดียวกับความเป็นไปของพรรคเพื่อไทยเอง หลังผ่านร้อน ผ่านหนาว ตั้งแต่ทักษิณ ออกนอกประเทศไปยาวนานถึง 17ปี วันนี้ของพรรคเพื่อไทย จึงอาจไม่มีอะไร “ เหมือนเดิม” อีกต่อไป

นับจาก 14 วันให้หลัง จากวันที่ ทักษิณ พักโทษ และกลับเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อเช้าตรู่ของวันอาทิตย์ที่ 18 ก.พ.67 ที่ผ่านมา ได้กลายเป็น ห้วงเวลาที่ บรรยากาศทางการเมือง “เขม็งเกลียว” ขึ้นรอบใหม่ เพราะนักโทษอย่างทักษิณ ไม่ใช่คนที่จะเลือกเล่นบท โลว์โปรไฟลว์

ในทางตรงกันข้าม บ้านจันทร์ส่องหล้า ได้เปิดรับ “แขกคนสำคัญ” ทั้งในและต่างประเทศ แวะเวียนเข้าไปเยี่ยมเยือนไม่ขาดสาย ทั้งที่ไปอย่างเงียบๆ และที่ “จงใจ” ประโคมข่าวผ่านสื่อ เพื่อแสดงให้เห็นว่า คนอย่างทักษิณ แม้จะอยู่ในความเงียบ แต่กลับไม่ได้สงบนิ่ง

ทักษิณ เปิดบ้านต้อนรับ “สมเด็จฮุน เซน” ประธานที่ปรึกษาองคมนตรี แห่งกัมพูชา เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ท่ามกลางข้อสังเกต และเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย เพราะแม้สมเด็จฮุน เซน จะบินตรงจากกัมพูชา แล้วนั่งรถหรู ตรงเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อเยี่ยมเพื่อนรัก เป็นการส่วนตัวก็ตาม  แต่อย่าลืมว่าสมเด็จฮุน เซน เดินทางเข้าประเทศไทย ไม่ใช่ในฐานะ “แขกรัฐบาลไทย” แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไทย ต้องวางกำลังดูแลอารักขาเต็มที่ว่ากันว่า ทุกอย่างผ่านการเซ็ต เอาไว้หมดแล้ว ตั้งแต่การให้ข่าวว่าสมเด็จฮุน เซน จะบินมาเยี่ยมทักษิณ

และเมื่อภาพการพบกันระหว่าง ทักษิณ กับสมเด็จฮุน เซน ปรากฏผ่านโลกโซเชียล จึงนำไปสู่การจับตาว่า จากความสัมพันธ์แน่นแฟ้นของทั้งคู่ที่ยาวนานกว่า3ทศวรรษ นั้นจะทำให้เกิดภาพ “ทับซ้อนอำนาจ” กับ นายกฯเศรษฐา นั่งทำงาน ณ ทำเนียบรัฐบาลตามมา       

สิ่งที่เกิดขึ้น ทักษิณ ทำราวกับว่า เขาไม่ได้อยู่ในระหว่างการพักโทษ เพราะจากนั้นอีกไม่กี่วันตามมา 24 ก.พ.67 นายกฯเศรษฐา นั่งรถหรูประจำตำแหน่งนายกฯคันใหม่ เข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า  ใช้เวลานานเกือบ 3ชั่วโมง ก่อนที่จะออกมาให้สัมภาษณ์สื่อหน้าบ้านจันทร์ส่องหล้านั่นเอง ว่าได้เข้าไปเยี่ยมและพูดคุยให้กำลังใจกัน

จนมีคำถามจาก “แก้วสรร อติโพธิ”  นักวิชาการชื่อดัง เขียนบทความเตือนไปยังเศรษฐา ว่าการที่นายกฯเข้าไปพบนักโทษที่อยู่ในระหว่างการพักโทษเช่นนี้นั้น จะตกเป็นจำเลย หรือพยาน ? เพราะเกณฑ์การพักโทษ นั้นทักษิณ จะต้องอยู่ในสภาพที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ตามที่ “รมว.ยุติธรรม” ได้บอกเอาไว้ก่อนหน้านี้ ดังนั้นถ้าเศรษฐา เข้าไปคุยและรับประทานร่วมกันนานหลายชั่วโมง ก็ต้องถูกเรียกสอบตามมาว่า ทักษิณ นั้นอยู่ในสภาพไหน

บ้านจันทร์ส่องหล้า ยังคงจะเปิดรับ “แขกสำคัญ” ตามมาอีกหลายรายนับจากนี้  แม้จะมีเสียงท้วงติง และเตือนจากผู้หวังดี ที่อยากให้ทักษิณ อยู่อย่างเงียบๆ พยายามลดบทบาท ไม่เปล่งรัศมี  กลายเป็น “ผู้มากบารมี”  เหนือรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย

อย่างไรก็ดี จากการเข้าพบของสมเด็จฮุนเซน ถูกจับตาและกลายเป็น “จุดอ่อน” ปมใหม่ เมื่อเกิดคำถามว่า ความสัมพันธ์ของ2อดีตผู้นำรัฐบาลเช่นนี้จะมีผล อย่างใดอย่างหนึ่งในเรื่องอาณาเขตทางทะเล ระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่ยังไม่ได้ข้อยุติมายาวนานด้วยหรือไม่ ?! โดยเฉพาะเรื่องการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ทางทะเลกับกัมพูชา ที่เกาะกูด บ้านง่ามโข่ ต.เกาะกูด อ.เกาะกูด  จ.ตราด  

เนื่องจากมีแนวโน้มว่าจะมีการกลับมาเจรจาเรื่องนี้กันอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่า มีหลายฝ่าย ทั้งสว. และอดีตนายทหารต่างแสดงความเป็นห่วง เพราะมีผลต่ออาณาเขตไทย อาทิ “เสธ.นิด” พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี  อดีตนายทหารนักบินกองทัพอากาศ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า “ เรื่องเกาะกูด นายกรัฐมนตรี ครม.ทุกคน รมว.กห.ต้องอ่านจนขึ้นใจ ผบ.เหล่าทัพ ต้องตระหนัก ฝ่ายเสนาธิการทำแผนยุทธการได้เลย ทหารทุกคนพร้อมรบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพเรือ และ กองบัญชาการนาวิกโยธิน”

ขณะที่ “คำนูณ สิทธิสมาน” สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อวามผ่านเฟซบุคให้จับตาหากรัฐบาลชุดนี้จะมีทิศทางการเจรจาเรื่องแบ่งปันผลประโยชน์ทางทะเลกับกัมพูชาอย่างไร “ ประเด็นสำคัญการเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชาในเรื่องผลประโยชน์ทรัพยากรปิโตรเลียมในทะเล ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2513 หรืออาจจะนับจาก MOU ปี 2544 รวม 20 ปีกว่า แต่ทำไม่สำเร็จเสียที เพราะเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ 2 ประเทศ ยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลหรือเส้นเขตไหล่ทวีปของอีกประเทศหนึ่ง

โดยเฉพาะประเทศไทยที่ยากที่จะยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปของประเทศกัมพูชา ที่ประกาศออกมาเมื่อปี 2515 ได้ ซึ่งนี่คือจุดแห่งปัญหาทั้งมวล เส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาลากผ่านกลางเกาะกูดไปกึ่งกลางอ่าวไทย แล้ววกลงใต้ ซึ่งเกาะกูดเป็นของไทย 2 ล้านเปอร์เซ็นต์ จากสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1907 ซึ่งเมื่อกัมพูชาลากเส้นไหล่ทวีปดังกล่าว จึงทำให้เป็นการรุกล้ำอธิปไตยของไทย”

แน่นอนว่า การเคลื่อนไหวจากม็อบคปท. ที่ต่อต้านระบอบทักษิณ ทวงถามความยุติธรรมตั้งแต่ทักษิณยังไม่ได้รับการพักโทษจนกลับมาอยู่บ้านจันทร์ส่องหล้า อาจไม่มี “พลัง” มากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ชนิดพลิกขั้วในข้ามคืน และด้วยเงื่อนไขเช่นนี้จึงทำให้ ทักษิณเองไม่ยี่หระต่อท่าทีของม็อบคปท.ซึ่งมีเพียงหยิบมือ โอกาสที่จะยกระดับไปสู่ม็อบเสื้อเหลือง ม็อบกปปส. เหมือนในอดีต ย่อมเป็นเรื่องยาก

แต่ขณะเดียวกัน การท้าทายของทักษิณ เช่นนี้ใช่ว่าจะไม่อยู่ในสายตาของฝั่งอนุรักษ์นิยม ที่แม้จะจงใจ เปิดทางให้ทักษิณ กลับไทย และพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เศรษฐา ได้นั่งนายกฯ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทักษิณ จะย่ามใจและดำเนินทุกสิ่งทุกอย่างได้ตามใจนึก

อย่าลืมว่า “ดีลลับ” ที่ทำให้เกิดการตั้งรัฐบาลข้ามขั้วครั้งนี้ ย่อมไม่ได้หมายความว่า ทักษิณ จะเป็นฝ่าย “ได้ทุกอย่าง”  และเปล่งประกายโดยไม่เกรงใจใคร ในทางตรงกันข้าม  “ขั้วอำนาจเก่า” ยังมี “กับดัก” ที่วางเอาไว้ข้างหน้า ด้วยกันอีกหลายด่าน ทั้งคดี มาตรา 112 ที่ทักษิณ จะต้องฟังคำสั่งในคดี วันที่ 10 เม.ย.ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ทักษิณจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ตลอดเส้นทางหลังจากดีลลับผ่านพ้นไปแล้วจะราบรื่น โดยไม่มีอย่างใด อย่างหนึ่งสะดุด จนถึงขั้น “ล้มกระดาน” พังดีล กันใหม่ทั้งหมด เมื่อ ทักษิณไม่เลือกที่จะอยู่ด้วยความสงบ เลี้ยงหลานไปเงียบๆตามที่เคยประกาศเอาไว้ มิหนำซ้ำ “ภารกิจใหญ่” คือการสู้กับ “พรรคก้าวไกล” ก็ยังมองไม่เห็น “ทางชนะ”  ได้แต่อย่างใด  !