วันที่ 6 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่ห้องประชุม ศปก.สพฐ.ตร พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ  ผบช.สพฐ.ตร. , พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกุร ผบก.พฐก.,พ.ต.อ.หญิง วิภาวดี เกษมวรภูมิ นวท.(สบ 4) กคม.พฐก.  นายทนง ลีลาวัฒนสุข รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) แถลงข่าวเพื่อเตือนภัยผู้ประกอบการร้านค้าและประชาชน ในกรณีการพบการปลอมแปลงโลหะทองคำรูปแบบใหม่ ซึ่งใช้วิธีนำโลหะอื่นมาเจือปนกับโลหะทองคำ ทำให้ทองคำมีลักษณะเหมือนทองคำแท้ แต่มีน้ำหนักและมูลค่าต่ำกว่าทองคำแท้  


  
นายน้อย (นามสมมุติ)ผู้ต้องหา นำทองคำแท่ง ประมาณ 2 กิโลกรัม  มาขายให้ บริษัท ห้างทอง แห่งหนึ่งในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งก่อนทำการซื้อขายนั้น ทางบริษัทฯ ได้ทำการตรวจสอบแล้วเบื้องต้นกับร้านตรวจสอบทองคำ ซึ่งสามารถตรวจหาทองคำ เป็นเปอร์เซ็นต์มาตรฐานได้ โดยเมื่อร้านที่ทำการตรวจสอบแล้ว จึงได้ตอบกลับมาว่า ทองคำจำนวนทั้งหมด ผ่านการตรวจ ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์ได้ตามมาตรฐานที่ 96.5% จึงรับซื้อไว้ในราคาประมาณ 4 ล้านบาท

ต่อมาผู้ต้องหา ได้นำทองคำแท่ง จำนวนประมาณ   2 กิโลกรัม มาขายอีกครั้ง โดยมีการตรวจสอบทองคำแท่งตามมาตรฐาน จากทางร้านตรวจสอบทอง ยืนยันว่าเป็นทองคำตามมาตรฐานเช่นเดิม โดยรับซื้อไว้เป็นเงินสดจำนวนประมาณ 4 ล้านบาท ต่อมาทางร้านที่ตรวจสอบทองคำได้โทรศัพท์มาแจ้งว่า ทองที่รับซื้อไว้ครั้งแรก ได้นำไปหลอม เพื่อแปรรูปทอง ไม่สามารถนำมาขึ้นเป็นงานได้ เนื่องจากเปราะแตกหัก ซึ่งไม่ใช่ทองมาตรฐาน มีอัตราส่วนทองบริสุทธิ์เจือปนต่ำกว่ามาตรฐาน ทำให้ได้รับความเสียหาย จึงรู้ว่าถูกหลอกลวง 


  
ผลการตรวจพิสูจน์ของกลุ่มงานตรวจทางเคมี ฟิสิกส์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง พบว่า โลหะที่ใช้ผสมกับโลหะทองคำ เป็นธาตุโลหะรีเนียม (Rhenium) และทังสเตน (Tungsten)  ซึ่งไม่สามารถใช้เทคนิคพื้นฐาน เช่น หยดกรด เผาไหม้ หรือใช้เครื่องมือ X-ray ขนาดเล็กในการตรวจวิเคราะห์ เจอได้ ทำให้จำเป็นต้องใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ในการตรวจพิสูจน์