วันที่ 6 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่ห้องประชุมสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ  ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ผบช.สพฐ.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกุร ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลาง(ผบก.พฐก.) และ ทนง ลีลาวัฒนสุข รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) แถลงข่าว เตือนภัยผู้ประกอบการร้านค้าและประชาชน ในกรณีการพบการปลอมแปลงโลหะทองคำรูปแบบใหม่ ซึ่งใช้วิธีนำโลหะอื่นมาเจือปนกับโลหะทองคำ ทำให้ทองคำมีลักษณะเหมือนทองคำแท้ แต่มีน้ำหนักและมูลค่าต่ำกว่าทองคำแท้ 

โดยยกตัวอย่างพฤติการณ์ผู้ต้องหาที่เกิดขึ้นว่า คนร้ายได้นำทองคำแท่ง ประมาณ 2 กิโลกรัมมาขายให้ บริษัทห้างทอง แห่งหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งก่อนทำการซื้อขายนั้น ทางบริษัทฯได้ทำการตรวจสอบแล้วเบื้องต้นกับร้านตรวจสอบทองคำ ผลการตรวจสอบทองคำทั้งหมด ผ่านการตรวจเปอร์เซ็นต์ได้ตามมาตรฐานที่ 96.5% ร้านทองจึงรับซื้อไว้ในราคาประมาณ 4 ล้านบาท 

ต่อมาผู้ต้องหาได้นำทองคำแท่ง จำนวนประมาณ  2 กิโลกรัมมาขายอีกครั้ง ซึ่งทางร้านได้ทำการตรวจสอบ ผลที่ออกมาก็ยืนยันว่าเป็นทองคำตามมาตรฐานเช่นเดิม โดยรับซื้อไว้เป็นเงินสดจำนวนประมาณ 4 ล้านบาท จากนั้นทางร้านที่ตรวจสอบทองคำได้ติดต่อกลับมาที่บริษัทห้างทอง เพื่อแจ้งว่า ทองที่รับซื้อไว้ครั้งแรก เมื่อนำไปหลอมเพื่อแปรรูปทอง ไม่สามารถนำมาขึ้นเป็นงานได้ เนื่องจากเปราะแตกหัก ซึ่งไม่ใช่ทองมาตรฐาน มีอัตราส่วนทองบริสุทธิ์เจือปนต่ำกว่ามาตรฐาน  บริษัทห้างทองจึงทราบว่าถูกหลอกลวง

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ระบุว่า ผลการตรวจพิสูจน์ของกลุ่มงานตรวจทางเคมี ฟิสิกส์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง พบว่า โลหะที่ใช้ผสมกับโลหะทองคำ เป็นธาตุโลหะรีเนียม (Rhenium) และทังสเตน (Tungsten) ซึ่งไม่สามารถใช้เทคนิคพื้นฐาน เช่น หยดกรด เผาไหม้ หรือใช้เครื่องมือ X-ray ขนาดเล็กในการตรวจวิเคราะห์เจอได้จำเป็นต้องใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ในการตรวจพิสูจน์

โดย สิ่งที่น่ากังวลของพฤติการณ์นี้คือ ร้านขายทอง ต้องใช้เครื่องมือ 'X-ray Fluorescence (XRF) ที่ตั้งค่าให้ตรวจจับธาตุโลหะรีเนียม และ ทังสเตน ตรวจสอบทองคำได้เท่านั้นจึงจะทราบผล ทองแท้หรือทองปลอมแปลง ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการรายย่อยส่วนมากยังไม่มีเครื่องมือดังกล่าวเนื่องด้วยราคาแพง ส่วนร้านที่มีเครื่องXRF แล้วแต่ยังไม่ได้ปรับค่าให้ตรวจธาตุโลหะรีเนียม และ ทังสเตน ก็ไม่สามารถตรวจพิสูจน์ได้เช่นกัน ฉะนั้นขอให้ผู้ประกอบการที่มีเครื่องมือดังกล่าวปรับการตั้งค่า ใหม่เพื่อให้รองรับ กลยุทธ์ของมิจฉาชีพที่เปลี่ยนไป 

ส่วนผู้ประกอบการรายใดที่ยังไม่มีเครื่องมือดังกล่าว ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ(องค์การมหาชน) มีบริการรับตรวจการปลอมแปลงทอง ซึ่งใช้เครื่องมือ ปฏิบัติการ ระดับสูง แต่ทั้งนี้มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเมื่อตรวจเรียบร้อยจะมีใบรับรองจากทางสถาบันฯให้ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวต่อว่า สำนักงานพิสูจน์หลักฐานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะสามารถตรวจสอบทองคำของเอกชนได้ ต่อเมื่อวัตถุพยานชิ้นนั้นเป็นคดีความทางอาญา หรือ เป็นคดีทางแพ่งที่ศาลสั่งให้มีการตรวจสอบแล้วเท่านั้น

ทั้งนี้ขอเตือนภัยไปยังพี่น้องประชาชนว่าขณะนี้มูลค่าทองคำบาทละกว่า 35,000 บาท การที่พี่น้องประชาชนจะไปซื้อทองคำและร้านทองที่รับซื้อทองโรงรับจำนำขอให้ไปซื้อที่ร้านที่มีชื่อเชื่อถือได้เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีการใช้ผงโลหะทังสเตนที่มีน้ำหนักใกล้เคียงทองคำไปผสม