วันที่ 7 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย บก ปทส. ภายใต้การอำนวยการของ  พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธิ์  ผบก.ปทส, พ.ต.อ.อรุณ วชิรศรีสุกัญญา รอง ผบก.ปทส., พ.ต.อ.อริยพล สินสอน รอง ผบก.ปทส., พ.ต.อ.ณัทกฤช น้อยคำปัน ผกก.4 บก.ปทส. และ พ.ต.ท.เอนก นาคธร รอง ผกก.4 บก.ปทส เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.หญิง ภิ์ษัชกร เลิศวิลัย สว.(สอบสวน) กก.4 บก.ปทส., ร.ต.อ.วีรยุทธ อำมาตย์ รอง สว. กก.4 บก.ปทส., ด.ต.ภูรีรินทณ์ กสิกิจจาภิวัฒน์ ผบ.หมู่ กก.4 บก.ปทส. และ จ.ส.ต.ชัยวัฒน์ วิจิตรพล ผบ.หมู่  กก.4 บก.ปทส.ร่วมกันจับกุม  นางจันทร์เพ็ญ  อายุ 45 ปี ชาว จ.พิจิตร แสดงตนเป็นเจ้าบ้านที่ทำการตรวจค้น และเป็นเจ้าของงูสิง พร้อมตรวจยึดของกลาง  

ซึ่งประกอบด้วย 1. งูสิง (Ptyas korros) สัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ.2546 ประเภทสัตว์เลื้อยคลาน ลำดับที่  จำนวน 7 กระสอบ น้ำหนักรวม 34.26 กิโลกรัม  ตรวจสอบซุกซ่อนอยู่ภายบริเวณบ้านที่ทำการตรวจค้น 2.ซากงูสิง จำนวน 4 ถุง น้ำหนักรวม 5 กิโลกรัม ตรวจสอบซุกซ่อนอยู่ภายตู้เย็นแช่แข็ง 3.โทรศัพท์มือถือ 2 เครื่องใช้ในการติดต่อซื้อขายงูสิง จับกุมได้ที่บ้านเลขที่ 41 หมู่ 4 ต.หนองปล้อง อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร 


 
โดย กก.4 บก.ปทส.ได้สืบสวนทราบมาก่อนแล้วว่ามีตัวการสำคัญที่เป็นหนึ่งในขบวนการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองข้ามชาติอยู่ในพื้นที่จังหวัดพิจิตร โดยบุคคลดังกล่าวนี้มีพฤติการณ์รับซื้องูสิง และมักจะส่งให้กับผู้ที่เข้ามารับตามแต่จะนัดหมาย อ้างว่านำไปส่งให้ฟาร์มในจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นฟาร์มงูจงอาง นอกจากนั้นยังมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนส่งชนิดสัตว์ตามฤดูกาลไม่ว่าจะเป็นลิงแสม ตัวเหี้ย และงูเห่า จากนั้นจึงได้ทำการสืบสวนทราบว่าบ้านหลังหนึ่งหมู่ 4 ตำบลหนองปล้อง อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร มีนางแมว เป็นเจ้าบ้าน มีพฤติการณ์รับซื้องูสิง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ประเภทสัตว์เลื้อยคลาน ลำดับ 27 จริง จึงได้ขอศาลออกหมายค้นที่ 83/2567 ลงวันที่ 6 มี.ค. 67 นำหมายค้นเข้าตรวจค้นบ้านหลังดังกล่าว พบงูสิงของกลาง น้ำหนักรวมเกือบ 40 กก. ถ้านับแยกเป็นตัวได้ประมาณ 40-50 ตัว ก็น้ำหนักตัวละประมาณ 0.5 – 1 กก. เต็มถุงกระสอบ 7 ถุง พร้อมซากงูสิงซ่อนในตู้เย็นแช่แข็ง อีก 4 ถุง น้ำหนัก รวมกว่า 5 กก.  

สอบถามนางแมวรับว่าตนรับซื้อมาจากชาวบ้านจริงโดยรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 170 บาทแต่ขายต่อในราคากิโลกรัมละประมาณ 200-300 บาท ส่วนที่เป็นซากราคาอาจจะลดลงนิดหน่อย อ้างว่าทำเพื่อประกอบเลี้ยงชีพ โดยจากการตรวจสอบทั้งข้อมูลการใช้โทรศัพท์และการเงินของนางแมวแล้ว พบเงินหมุนเวียนในการค้าขายงูครั้งละไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท และมีเส้นทางการส่งออกไปถึงประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะวันออก 

เบืัองต้นไม่มีใบอนุญาตครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองแต่อย่างใด และ สัตว์ทั้งหมดที่อยู่ภายในบริเวณบ้าน และไม่เคยขออนุญาตมาก่อนแต่อย่างใด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ขยายผลและติดตามจับกุมขบวนการลักลอบค้างูสิงข้ามชาติต่อไป

สำหรับงูสิงถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ.2546 ที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นงูที่ไม่มีพิษ ไม่อันตรายต่อมนุษย์ และเป็นงูที่ควบคุมประชากรสัตว์ซึ่งเป็นพาหะนำโรค เช่น หนู ฯลฯ ไม่ให้มีจำนวนมากเกินไปในธรรมชาติ ซึ่งการที่มนุษย์จับงูสิงมาประกอบเป็นอาหารย่อมส่งผลต่อระบบนิเวศภาพรวม ทำให้เสียสมดุลทางธรรมชาติ ทำให้มนุษย์ต้องหันมาใช้สารเคมีในการกำจัดสัตว์พาหะนำโรค ซึ่งเป็นอันตรายต่อทั้งตัวมนุษย์เอง และต่อสัตว์อื่น ๆ ที่ยังมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ และในแง่ของกฎหมาย ยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการอาชญากรรม ผิด พ.ร.บ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 อัตราโทษจากการลักลอบครอบครอง จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ค้า มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกด้วย

ทั้งนี้ช่องทางการติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม พันตำรวจโทหญิง ภิ์ษัชกร เลิศวิลัย สารวัตร (สอบสวน) กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โทร 0931313946