โครงการพัฒนาลุ่มน้ำบริเวณเชิงเขาพนมสวายฯ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการพัฒนาลุ่มน้ำบริเวณเชิงเขาพนมสวาย จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีพระราชดำริให้ กรมชลประทานพิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จำนวน 6 แห่ง เพื่อจัดหาน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกของราษฎรในหมู่บ้านต่างๆในเขตพื้นที่รอบเชิงเขาพนมสวาย เป็นเนื้อที่ประมาณ 1,450 ไร่ ให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี นอกจากนั้นยังมีโครงการจัดสรรที่ดินบริเวณป่าเสื่อมโทรมให้ราษฎรที่ขาดแคลนที่ดินเข้าทำกินโดยมีการจัดส่งน้ำให้ตลอดปี ซึ่งจะทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานเกษตรอย่างสมบูรณ์เช่นเดียวกับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำนางรองตามพระราชดำริ อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณแผ่ไพศาล ได้พลิกฟื้นแผ่นดินอีสานอันแห้งแล้ง ให้ชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์ เพื่อสร้างสุขให้แก่ราษฎรสืบไป บวร ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรีไปทางทิศเหนือประมาณ 120 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของโครงการ ห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราดำริ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระราชดำริแนวทางช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ ซึ่งประสบปัญหาความแห้งแล้งและเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้หลักของ “บวร” ในการแก้ไขปัญหา อาศัยความสัมพันธ์ระหว่าง บ้าน – วัด – ราชการ ซึ่งแต่ละส่วนจะช่วยเหลือเกื้อกูล ประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็งร่วมกันฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คืนความอุดมสมบูรณ์ ด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งนี้ ได้กลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาตามหลักวิถีไทยในอดีต ซึ่งมีความสมดุลและสร้างความเจริญอันยั่งยืนให้กับสังคมไทย เสด็จฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2527 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร เพื่อทอดพระเนตรกิจการของโครงการ โดยเฉพาะงานป่าไม้ อาทิ เรือนเพาะชำ และแปลงเพาะกล้าไม้สำหรับใช้ในการปลูกสวนป่า พร้อมทั้งพระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม ความว่า “ พื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาทุกแห่งก็คือการย่อส่วนภูมิประเทศของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน แล้วทำการศึกษาการพัฒนาด้านเกษตรกรรมสาขาต่างๆ เช่น การปลูกป่าใช้สอย ซึ่งได้แก่ พันธุ์ไม้โตเร็วสำหรับริดกิ่งมาทำฟืน เผาถ่าน ตลอดจนไม้สำหรับใช้ในการก่อสร้างและงานหัตถกรรม รวมทั้งผลไม้ชนิดต่างๆ โดยทดลองใช้น้ำจากโครงการชลประทานช่วยเร่งอัตราการเจริญเติบโต นอกจากนั้น จะต้องศึกษาอัตราการอุปโภคไม้ใช้สอยของประชากรในท้องถิ่นเพื่อจะได้กำหนดพื้นที่สวนป่าให้เพียงพอ เมื่อดำเนินการทดลองเป็นผลสำเร็จแล้ว จึงจัดแสดงสาธิตผลการทดลองวิจัยภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาในทำนองพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นการยืนยันว่า งานศึกษาการพัฒนาทุกงานที่สาธิตให้ประชาชนชมนั้น สามารถนำไปปฎิบัติได้ผลจริง สำหรับงานศึกษาการปลูกป่าใช้สอยแบบเร่งด่วนดังกล่าว หากนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ก็จะช่วยชะลอการบุกรุกเข้าทำลายป่าต้นน้ำลำธารได้ในที่สุด” ด้วยพระราชดำริที่พระราชทานไว้ ได้ก่อเกิดรูปแบบแห่งการพัฒนาอันเป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จที่ได้สร้างสุขให้แก่ราษฎรไทยแล้วในวันนี้ โครงการ “ อ่างเก็บน้ำภูทอกฯ” วันที่ 11 พฤศจิกายน 2522 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านนาคำแคน ตำบลนาสะแบง อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย เพื่อทอดพระเนตรโครงการอ่างเก็บน้ำภูทอก ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างสนองพระราชดำริ ซึ่งหากแล้วเสร็จสามารถสนับสนุนน้ำสำหรับการเพาะปลูกและการอุปโภคบริโภคให้แก่ราษฎรในหมู่บ้านนาคำแคน และพื้นที่ใกล้เคียงได้ตลอดปี......จากนั้นทรงเยี่ยมราษฎรที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่เป็นจำนวนมาก ณ บริเวณเชิงเขาภูทอกน้อย และทอดพระเนตรการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์หลวงซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มาทำการตรวจรักษาราษฎรที่เจ็บป่วยตลอดจนทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ แม้เวลาล่วงเลยมาตราบวันนี้ แต่ราษฎรยังคงระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งได้ทรงนำความอุดมสมบูรณ์และความสุขมาสู่ผืนแผ่นดินบ้านนาคำแคน และชาวจังหวัดหนองคาย ภาพประทับใจแห่งเรณูนคร ช่วงบ่ายวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 บนเส้นทางรับเสด็จสามแยกชยางกูร-เรณูนคร จังหวัดนครพนม วันนั้นหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารเสร็จสิ้นในช่วงเช้าแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งกลับไปประทับแรม ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ราษฎรที่รู้ข่าวก็พากันอุ้มลูก จูงหลานมารับเสด็จที่ริมถนนอย่างเนืองแน่น ดังเช่น ที่แม่ตุ้ม จันทนิตย์ วัย 102 ปี ไปรอรับเสด็จ ณ จุดรับเสด็จแถวหน้าสุดด้วยเปลวแดดร้อนแรงตั้งแต่เช้าจนสาย ได้แผดเผาดอกบัวสายในมือแม่เฒ่าจนเหี่ยวโรย แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาถึงตรงหน้า แม่เฒ่าได้ยกดอกบัวสายโรยราสามดอกนั้นขึ้นจบเหนือศีรษะแสดงความจงรักภักดี พระเจ้าแผ่นดินทรงโน้มพระองค์อย่างต่ำที่สุด จนพระพักตร์แนบชิดกับศีรษะของแม่เฒ่า ทรงแย้มพระสรวลและยกพระหัตถ์แตะมือกร้านคล้ำของเกษตรกรชราชาวอีสานอยางอ่อนโยน นับเป็นวินาทีที่สร้างสุขให้หญิงชรา และเป็นภาพประทับตราตรึงในดวงใจของพสกนิกรชาวไทยอย่างมิรู้ลืมว่า.....พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้มิเคยถือพระองค์และทรงให้ความ สำคัญกับราษฎรของพระองค์อย่างเท่าเทียมกัน. อ่างเก็บน้ำห้วยนกเค้าฯ ย้อนกลับไปในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปทอดพระเนตรโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยนกเค้า อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร พระองค์ทรงพระดำเนินทอดพระเนตรบ่อพักน้ำ-จ่ายน้ำ โดยเครื่องสูบน้ำกังหันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยนกเค้า เพื่อใช้สำหรับการเกษตรและอุปโภคบริโภคและเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรคลองส่งน้ำฝั่งขวาและฝั่งซ้ายที่ส่งน้ำไปยังพื้นที่เพาะปลูกว่า 3,000 ไร่ พร้อมกันนี้ได้พระราชทานพระราชดำริ เพิ่มเติมว่า บริเวณพื้นที่ขอบอ่างเก็บน้ำทุกแห่งที่มีลักษณะค่อนข้างราบควรจะพัฒนาให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม เช่น นาข้าว แปลงพืชไร่ พืชผักสวนครัวและแปลงหญ้าเลี้ยงปศุสัตว์ โดยใช้น้ำจากใต้ดินที่ซึมจากอ่างเก็บน้ำให้เกิดประโยชน์ ......ด้วยพระวิสัยทัศน์และสายพระเนตรที่ยาวไกลในการใช้ผืนดินว่างเปล่าให้เป็นแหล่งอาหารเลี้ยงชีวิต พระองค์ทรงช่วยเพิ่มพื้นที่ทำกินให้แก่ราษฎรที่ยากจนในตำบลเจริญศิลป์ พร้อมๆ กับวางแนวทางการใช้ประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำให้เกิดประสิทธิภาพและได้ประโยชน์สูงสุด เพื่อพสกนิกรของพระองค์อย่างแท้จริง. อ่างเก็บน้ำห้วยแดง ฯ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระเอง เพื่อเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปทอดพระเนตรอ่างเก็บน้ำห้วยแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่บ้านกุสุมาลย์ อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำสนองพระราชดำริ สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกของราษฎรหมู่บ้านต่างๆ ในเขตอำเภอกุสุมาลย์ ได้ประมาณ 3,000 ไร่ ส่งผลให้ราษฎรเหล่านั้นมีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคเลี้ยงชีวิตได้ตลอดทั้งปี และในวันนั้นนอกจากพระองค์ได้ทอดพระเนตรเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำแล้ว ยังได้ทอดพระเนตรแปลงส่งเสริมการปลูกพืชผัก ที่จะช่วยให้ราษฎรในพื้นที่รู้จักปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อบำรุงรักษาดิน มีพืชผักเป็นแหล่งอาหารเลี้ยงครอบครัวและเหลือจำหน่ายสู่ชุมชน สร้างรายได้เพิ่มเติมอีกทางหนึ่งด้วย จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว ความสุขและความอิ่มเอมใจที่เกิดขึ้นกับชาวกุสุมาลย์ยังคงไม่เลือนหาย และยังดำเนินต่อไปพร้อมกับสายน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้ เพื่อสร้างสุขแก่ราษฎรในพื้นที่อย่างยั่งยืน.