Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.64 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.73 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 35.57-35.74 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ และการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของทองคำเพิ่มเติม และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทก็ยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องไปได้มาก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วน โดยเฉพาะฝั่งผู้เล่นต่างชาติยังคงรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าขึ้น ในการเพิ่มสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบกว่า +2% ในคืนที่ผ่านมา ตามยอดสต็อกน้ำมันดิบและยอดสต็อกน้ำมันเบนซินสหรัฐฯ ที่ลดลงมากกว่าคาด ก็อาจมีโฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับน้ำมันดิบเข้ามากดดันเงินบาทได้บ้าง 

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างระมัดระวังตัวมากขึ้น เพื่อรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิค PPI และยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในคืนวันพฤหัสฯ (ตามเวลาประเทศไทย) ทำให้ผู้เล่นในตลาดขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทคฯ ธีม AI ที่ปรับตัวได้ดีในช่วงที่ผ่านมา อาทิ Nvidia -1.1% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการหุ้นกลุ่มพลังงาน นำโดย Exxon Mobil +1.1% ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.19% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นราว +0.16% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มค้าปลีกและกลุ่ม Utilities ที่รายงานยอดขายและคาดการณ์ผลประกอบการที่สดใส อาทิ Inditex (เจ้าของแบรนด์ Zara) +7.7% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานเช่นเดียวกับฝั่งสหรัฐฯ นำโดย Shell +1.2% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงกดดันจากการขายทำกำไรหุ้นเทคฯ ใหญ่เช่นกัน โดย ASML -1.5%

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่ามุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยเฟดจะยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปมากนัก หลังรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันก่อนหน้า ทว่า การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องราว +2% ของราคาน้ำมันดิบ ก็มีส่วนกดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้น ใกล้ระดับ 4.20% อีกครั้ง  ทั้งนี้ เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงผันผวนสูงขึ้น หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาสดใสและดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี Risk-Reward ของการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวก็ยังคุ้มค่าอยู่ ทำให้เราคงมองว่า นักลงทุนสามารถทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนได้ หรือนักลงทุนอาจรอจังหวะ Buy on Dip ก็ได้เช่นกัน (อาจเน้นทยอยเข้าซื้อในโซน บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เหนือระดับ 4.20%)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง โดยส่วนหนึ่งก็มาจากทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) ที่ได้อานิสงส์จากภาพตลาดหุ้นยุโรปที่ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็ยังขาดปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุน ทำให้ผู้เล่นในตลาดใช้จังหวะการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ในการลดสถานะ Long USD ลงบ้าง โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 102.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.7-103 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ภาพตลาดสหรัฐฯ ที่กลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว กอปรกับการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) พลิกกลับมารีบาวด์ขึ้น สู่โซน 2,180 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง เปิดโอกาสให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว ก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้าง
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่ห้ามพลาดจะอยู่ในฝั่งสหรัฐฯ โดยผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ดัชนีราคาผู้ผลิต PPI และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ที่จะประกาศในช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวก็อาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ตลาดการเงินอาจผันผวนพอสมควรในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว

โดยแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ โดยเราประเมินว่า เงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำอยู่บ้าง รวมถึงการทยอยขายเงินดอลลาร์ของบรรดาผู้ส่งออก หากเงินบาทอ่อนค่าลงใกล้โซนแนวต้าน 35.80 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ต้องระวัง แรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในฝั่งหุ้น ที่เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจรอจังหวะให้ตลาดหุ้นไทยรีบาวด์ใกล้โซนแนวต้าน ในการทยอยขายทำกำไรได้ ขณะเดียวกัน ผู้เล่นต่างชาติยังคงเดินหน้าเพิ่มสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) หลังเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา (ผู้เล่นต่างชาติส่วนใหญ่ต่างมองว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ไม่ดี และมีโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่าเฟด) 

อนึ่ง ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะหากยอดค้าปลีก และดัชนี PPI ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะกดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้พอสมควร โดยเราประเมินเบื้องต้นว่า เงินบาทอาจอ่อนค่าไปทดสอบโซน 35.80-35.90 บาทต่อดอลลาร์ได้ ในกรณีเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าดังกล่าว ในทางกลับกัน หากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้มีอะไร “เซอร์ไพรส์” ตลาด เราคาดว่า เงินบาทก็อาจแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ยังไม่มากนัก เนื่องจากยังขาดปัจจัยสนับสนุนที่ชัดเจน ทำให้โซนแนวรับอาจยังอยู่ในช่วง 35.50 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 35.30 บาทต่อดอลลาร์)

โดยเรายังขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.60-35.75 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเมินกรอบ 35.50-35.85 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ

#ค่าเงินบาท #ดอกเบี้ย #กรุงไทย #พูนพานิชพิบูลย์ #ตลาดเงินตลาดทุน