วันที่ 14 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 3/ 2567 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 ซึ่งได้พิจารณาพิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ประกอบด้วย  มีมติให้ยึดอายัดทรัพย์สินจำนวน 30 รายคดี ทรัพย์สินทั้งหมด 467 รายการพร้อมกับผลมูลค่าประมาณ 301 ล้านบาท แบ่งเป็น การยึดอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด มูลค่าประมาณ 88 ล้านบาท อาทิ คดีของนายฮุ้ยหวาง หวัง ที่ขยายผลจากคดีผับจิ้นหลิง มูลค่า 53 ล้านบาท, ความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือพนันออนไลน์ มูลค่าประมาณ 129 ล้านบาท

มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจำนวน 18 รายคดี ทรัพย์สิน 822 รายการ พร้อมดอกผลมูลค่า 1,092 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นความผิดเกี่ยวกับการโกงประชาชน หรือพนันออนไลน์ โดยมีคดีสำคัญคือ คดี การฉ้อโกงประชาชนของนางสาวธารารัตน์กับพวก ที่หลอกให้ประกอบธุรกิจขายสินค้าออนไลน์และชักชวนให้ลงทุนแลกเปลี่ยนเงินสกุลบาทเป็นสกุลหยวน โดยทรัพย์สินประกอบด้วยจำนวน 224 รายการ เช่น ที่ดิน ห้องชุดรถยนต์ บัญชีเงินฝากธนาคาร พร้อมดอกผล รวมมูลค่าประมาณ 1,017 ล้านบาท  ซึ่งผู้เสียหายในคดีนี้สามารถยื่นคำร้องเอกสารประกอบเพื่อขอรับการคุ้มครองสิทธิ์ได้ที่สำนักงาน ปปง.ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์- 6 พฤษภาคม 2567 โดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่เว็บไซต์ของ ปปง. 

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯยังได้มีมติเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปชดใช้ผู้เสียหายจำนวน 400 คดีทรัพย์สิน 24 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 32 ล้านบาท  รวมผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2567 มีคำสั่งให้ยึดอายัดทรัพย์สินไปแล้ว 128 คำสั่งจำนวน 116 รายคดี รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ดำเยินการประมาณ 6,460 ล้านบาท ได้ดำเนินการคุ้มครองสิทธิ์ผู้เสียหายในทรัพย์สินจำนวน 40 คดีรวมมูลค่าทรัพย์สินที่ดำเนินการประมาณ 5,242 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายวิทยากล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการยึดทรัพย์สินของ ปปง.สามารถดำเนินการได้โดยไม่มีอายุความ และตรวจสอบตลอดเวลา หากสามารถสืบทราบได้ว่ามีการยักย้ายถ่ายทรัพย์สินไปยังผู้ใดก็สามารถดำเนินการมีคำสั่งยึดทรัพย์สินได้ตลอด 

#อายัดทรัพย์สิน #ปปง