ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

“เสรีภาพคือสิ่งที่มีคุณค่าอันสำคัญยิ่ง ..แห่งชีวิตของคนเราทุกคน..มันคืออาณาเขตของการ กระทำที่เป็นอิสระ และมีมิติที่ทรงพลังต่อการมีชีวิตอยู่..หากแต่ว่ามันต้องเป็นไปในบริบทที่แม่นตรงและรัดกุม..โดยไม่คาบเกี่ยวอยู่กับความเห็นแก่ตัว กระทั่งกลายเป็นการกระทำที่มุ่งเอาแต่ใจเฉพาะตนเอง..เพราะนั่นคือความวิบัติแห่งสัมพันธภาพในการใช้ชีวิต..เพื่อโยงใยถึงประโยชน์สุข..

แน่นอนว่า..นี่คือหลักคิดที่สำคัญยิ่งที่ตัวตนของทุกๆคนต้องควรคิด..เพื่อความประจักษ์แจ้งต่อการอยู่ร่วมกับผู้อื่น..ในวงกว้างอย่างนับเนื่อง..ตลอดไป”

“ศานติแห่งสารัตถะเบื้องต้น..เปรียบดั่งบทสรุปจากบทเรียนของการเรียนรู้ที่ได้รับ..จากหนังสือแห่งภูมิปัญญาอันยิ่งใหญ่.. “เสรีภาพไม่ใช่การตามใจ” (Freedom Not License) ประพันธกรรมที่ปลูกสร้างชีวิตให้อิ่มเต็มต่อความเข้าใจโลกแห่งชีวิตที่ลึกซึ้งและ..ประกอบสร้างถึงความ “ปัญญาสติในความหมาย..” อันสุดหยั่ง...โดย “เอ.เอส.นีล” (A.S.Neill )...

โดยเนื้อแท้แห่งชีวิต “เอ.เอส.นีล” (Alexander Sutherland Neill)คือ..เขาเป็นผู้ก่อตั้ง โรงเรียนซัมเมอร์ฮิลล์ และ คนส่วนมากรู้จักในนาม “กบฏทางการศึกษา”..โรงเรียนของเขาได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนทางเลือก..ที่ได้บุกเบิกหลักการด้านเสรีภาพ กับ การปกครองตนเอง แนวใหม่ให้กับระบบการศึกษา ตลอดจนการเลี้ยงดูเด็ก..โดยปฏิเสธระบบการศึกษาแบบเก่าอย่างสิ้นเชิง...

“เราจะเเยกเเยะเสรีภาพ(Freedom)กับการทำตามใจชอบ(License)ออกจากกันได้อย่างไร?..ว่ากันว่า..เสรีภาพ..ถ้าหากหยิบยื่นให้กับเด็กมากเกินไป..ก็ย่อมกลับกลายเป็นการทำอะไรตามใจชอบ... จะให้เด็กควบคุมตัวเองได้อย่างไร?..ถ้าหากเราไม่คอยยับยั้งให้แกทำอะไรตามใจชอบ..” นั่นล้วนเป็นคำถามที่มีคนยกขึ้นมาถาม “นีล” เนืองๆ.. ก็แล้วใครล่ะ..ที่จะส่งเสริมให้เด็กทำอะไรตามที่แกต้องการได้..เสียทุกอย่าง..ผมคนหนึ่งล่ะ..ไม่เคยทำอย่างนั้นแน่..เด็กสามารถตัดสินใจในสิ่งที่แกไม่อยากทำได้..เช่นในเรื่องของการเรียนภาษาละติน แต่แกจะไม่มีอิสระที่จะเลือกเล่น “โปลิศจับขโมย”..ในรถยนต์ของพ่อ... “ นีล” ..ยังได้เน้นย้ำถึงว่า..อะไรคือคำนิยามอันถูกต้องของการควบคุมตนเอง..

“..มันหมายถึง..กิริยามารยาทที่ดี เช่น การระงับ..การพูดคำหยาบคาย ในขณะที่คุณเล่นกอล์ฟกับชาวคริสต์กระนั้นหรือ.. “เปล่าเลย!”..การควบคุมตนเองในความหมายของผม..หมายถึง.. “ความสามารถที่จะคิดถึงหัวอกคนอื่น”..หรือ “เคารพสิทธิ์ของคนอื่น”...และเมื่อเป็นเช่นนั้น..ก็เชื่อได้ว่า..คงไม่มีใครที่จะนั่งร่วมวงกับคนอื่น..”  แล้วกล้าตักสลัดในจาน..มากินคนเดียวถึงครึ่งจาน “...”

“นีล” มีศรัทธาและเชื่อว่า..ครูที่ดีที่สุดคือครูที่หัวเราะและสนุกสนานไปกับเด็ก...ส่วนครูที่เลวที่สุดคือครูที่.. “หัวเราะเยาะเด็ก...” ต่อข้อถามที่เป็นปริศนาที่ผู้ปกครองถามต่อ “นีล” ว่า..ฉันจะทำอย่างไรดีต่อระบบการศึกษาของอเมริกา..? เนื่องเพราะ...ลูกสาวอายุสิบสี่ของเธอเกลียดโรงเรียนของแกมาก..

“เเกบอกว่า..โรงเรียนปฏิเสธความคิดริเริ่ม..(Originality)..การสอนน่าเบื่อ และ ครูบางคนชอบแดกดันเด็ก..” ด้วยเหตุนี้...แม่จึงไม่รู้จะทำอย่างไรดีที่จะไม่ให้ลูกต้องถูกกดดัน..จนอาจต้องกลายเป็น ผู้หญิงที่มุ่งแสวงหาแต่..ตำแหน่ง ฐานะ รถยนต์คันใหญ่ๆ และ บ้านราคาแพงลิ่ว..รวมทั้งมีความคิดจิตใจเป็นแบบ “คนที่ตายแล้ว”...

“นีล” ได้ให้ข้อคิดอันเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาตัดสินใจแก่เธอว่า.. ถ้าคุณมีสิทธิ์ที่จะทำได้..ก็สมควรที่จะต้องส่งลูกไปเรียนโรงเรียนเอกชน ..ที่มีความคิดไปในแนวที่คุณเชื่อ..แต่ถ้าคุุณส่งแกไปเรียนที่โรงเรียนเอกชนไม่ได้..ลูกสาวผู้น่าสงสารของคุณก็คงจะประสบกับความยุ่งยากอย่างแน่นอน บ้านที่มีความสุขและมีความเข้าใจอย่างถูกต้องเท่านั้น..ที่สามารถทัดทานการล้างสมองและความตายของ “โรงเรียนทั่วไป” ได้มีจดหมายที่น่าเศร้าที่สุดที่ “นีล” ได้เขียนขึ้น..มักจะเป็นจดหมายตอบเด็กๆทั้งชายและหญิง..ซึ่งเขียนมาบอกเขาว่า.. “พวกแกเกลียดโรงเรียนของพวกแกอย่างไร?”

“นีล” ก็จะตอบพวกเด็กๆไปว่า..ถึงแม้พวกเขาจะเกลียดบทเรียน เกลียดวิธีการนำเสนอบทเรียนถึงขนาดไหนก็ตาม..

 “ระบบอันบัดซบก็จะยังคงอยู่ที่นั่น..และ สิ่งเดียวที่จะทำได้ก็คือ..ต้องกัดฟันยอมรับมัน..แล้วพยายามเรียนให้จบให้เร็วที่สุด...เท่าที่จะเร็วได้..” ซึ่งมันก็เหมือนดั่งว่า..เราได้เข้าไปคัดง้างกับระบบซึ่งนอกจากจะเออออกับพวกครูใจแคบแล้ว..มันยังได้ทำหน้าที่เลือกเฟ้นครูพวกนั้น..เข้ามาสู่ระบบการศึกษาอย่างเห็นได้ชัด..นั่นจึงแสดงให้ประจักษ์ว่า.. “การศึกษาย่อมหาสารัตถะไม่ได้..เว้นแต่เราจะบรรจุครูที่รักและเข้าใจเด็กไว้ในโรงเรียนของเรา”

“จอร์จ เบอร์ยาร์ด ชอว์” เคยพูดเอาไว้ว่า.. “คนที่มีความสามารถจะลงมือปฏิบัติ...แต่คนที่ไม่มีความสามารถจะเอาแต่สั่งสอนคนอื่น” นั่นจึงเปรียบให้เห็นได้ชัดว่า..จะมีครูสักกี่คนที่เป็นนักปฏิวัติ..จะมีครูสอนภาษาสักกี่คนที่สามารถเขียนหนังสือดีๆสักเล่มหนึ่งได้..มีครูศิลปะสักกี่คนที่ผลิตภาพดีๆ จนถึงขนาดนำไปแสดงนิทรรศการได้..

“ผมเชื่อว่า..การที่ศิษย์เก่าส่วนมากของเราไม่ยอมเป็นครู ก็เพราะพวกเขามีความสมดุล..มีชีวิตจิตใจเกินกว่าที่พวกเขาจะยอมเข้าไปสู่ระบบที่คาดหวังให้พวกเขากลายเป็นคนวางก้าม..อยากให้คนอื่นมาทำความเคารพและเชื่อฟัง..” สังคมหรือคนส่วนใหญ่มีความเชื่อถือในระบบ...สังคมมีอำนาจที่จะบังคับและทำให้ระบบเป็นไปตามใจปรารถนา..ความตายซากและความน่าเบื่อของบางวิชาที่สอนอยู่ในโรงเรียน ได้ถ่ายทอดเข้าไปในตัวครู..ด้วยเหตุนี้..โรงเรียนจึงเต็มไปด้วยชายหญิงที่คับแคบ สำคัญตัวเองว่าแน่...ขอบฟ้าของคนเหล่านั้นถูกขีดวงอยู่แค่กระดานดำและตำราเรียน..หากคุณต้องการรู้ว่า.. “ครูส่วนมากตายซากขนาดไหน?”..ก็คือให้หยิบวารสารทางการศึกษาเล่มใดเล่มหนึ่งขึ้นมาอ่านก็ได้..

            แท้จริงแล้ว..การปฏิรูปจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ..คนผ่านไปสามชั่วอายุหลังจากมีคนเสนอขึ้นมาเป็นครั้งแรก.. และ..สักวันหนึ่งคงจะมีกฎหมายอันชอบด้วยสติสัมปชัญญะ เกี่ยวกับรักร่วมเพศ การทำแท้ง การลงโทษทางกฎหมาย และ การศึกษา..เพราะในทุกวันนี้.. “คนส่วนน้อย” ได้แต่ทอดถอนใจ และ ต้องทนกับความบ้าระห่ำทั้งหลายที่เราเรียกว่า.. “ระบบโรงเรียน” โศกนาฏกรรมอันน่าสะพรึงกลัวของเด็กส่วนใหญ่ก็คือ..เด็กส่วนใหญ่พากันยอมรับมาตรฐานอันวิกลจริตของโรงเรียน และก็ต้องสูญเสียเสรีภาพภายในตัวตนเป็นเครื่องตอบแทน..โรงเรียนของเราในวันนี้..สร้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ตายซาก โดยที่คนเหล่านี้ล้วนแต่ตกอยู่ในอุ้งมือของ “นักการเมือง คนที่คลั่งสงคราม และ..ผู้แสวงหาผลกำไร”..ทั้งสิ้น..!

เพราะฉะนั้น..เราจึงสมควร ที่จะต้องบอกแก่ลูกของเราตรงๆว่า..เราคิดอะไรและรู้สึกอย่างไรต่อโรงเรียน..เพราะมันเป็นโอกาสเดียวของลูก ที่จะหลีกหนีจากการล้างสมองของรัฐไปได้.. “หนูเกลียดบทเรียน..ทำไมหนูต้องเรียนวิชาต่างๆ เช่น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ และ ภาษาอังกฤษ...วิชาเหล่านี้ให้ประโยชน์อะไรกับหนู”...    

นีลได้ชี้แจงในประเด็นแห่งข้อคำถามนี้ว่า..เขาไม่ได้เป็นครูใหญ่ผู้ทรงเกียรติ..จึงจำเป็นต้องหยิบคำถามของเด็กสาวขึ้นมาถามซ้ำอีกว่า.. “วิชาเหล่านี้ยังให้ประโยชน์หรือไม่?”..สำหรับคนที่ไม่ได้เสาะแสวงหาความรู้ด้วยความสมัครใจ..สมัยที่ “นีล” เรียนในมหาวิทยาลัย..เขาบอกว่าเขาสอบได้วิชาคณิตศาสตร์ถึง 95 เปอร์เซ็นต์...แต่การเรียนวิชานั้น จริงๆแล้วได้ให้ประโยชน์อะไรแก่เขา..นอกจากจะทำให้..สูญเสียเวลาไปกับการท่อง..จำข้อเท็จจริงที่ไร้ประโยชน์... “บางทีสิ่งหนึ่งในจำนวนไม่กี่สิ่งที่หนูจำได้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อเมริกาอาจได้แก่เรื่องราวที่ว่า “จอร์จ วอชิงตัน” โกหกไม่เป็น..แต่จะมีใครมาบอกกับหนูได้ว่า.. “ประธานาธิบดีคนหลังๆ..พูดความจริงไม่เป็น”...”

จากกรณีตัวอย่างนี้ “นีล” ได้วิเคราะห์ออกมาอย่างตรงไปตรงมาว่า.. “วิชาส่วนมากที่สอนในโรงเรียน เป็นสิ่งที่ทำให้เด็กสูญเสียเวลาอันมีค่า...ผมอยากเห็นโรงเรียนกลายเป็นสถานที่ที่สร้างสรรค์..แต่ผมจะทำอะไรได้ล่ะ..มันเหมือนว่าผมติดอยู่ในกับดัก..ผมนำบางวิชามาสอนในโรงเรียนเนื่องจากระบบสอน..ซึ่งเด็กผู้ชายในทุกวันนี้ ล้วนรู้สึกว่าถูกกดดันจากโรงเรียนทั้งนั้น.. “ทุกคนรู้ว่าอนาคตของตนต้องฝากไว้กับปริญญาบัตร..เท่านั้น”...”

ถึงที่สุดแล้ว..เราต้องยึดในหลักการแห่งปรัชญาที่ว่า..เนื่องเพราะเด็กทุกคนมีสิทธิที่ควรได้รับมาตั้งแต่เกิด..แต่เด็กทุกคนล้วนต้องการเสรีภาพในฐานะความเป็นมนุษย์ แต่จำนวนไม่น้อยแยกไม่ออกระหว่างคำว่า “เสรีภาพ” กับ “การตามใจ” ..ทั้งที่ทั้งสองคำมีความหมายต่างกันอย่างมาก.. “เสรีภาพและการทำตามใจชอบ” เป็นเรื่องที่คาบเส้นกัน..ใครๆก็ไม่อาจวางกฎลงไปให้ชัดเจนได้..

“เสรีภาพไม่ใช่การตามใจ” จึงจะให้คำตอบแก่ผู้อ่านว่า..จะเลี้ยงลูกให้เด็กมีเสรีภาพแบบไม่ตามใจตัวเองได้อย่างไร..และพ่อแม่ควรให้เสรีภาพกับลูกแบบใด..จึงจะไม่เป็นการตามใจลูกจนเด็กเหลิงเสียคนไป.. “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย..จงให้ความจริงแก่เด็กเถิด..” มีคำถามคาใจอยู่คำถามหนึ่งต่อโรงเรียนซัมเมอร์ฮิลล์..นั่นคือคำถามที่เสียดแทงใจที่ว่า.. “ซัมเมอร์ฮิลล์มีสภาพคล้ายสวรรค์..แต่ทำไมเล่า..คุณจึงไม่ยอมสอนศาสนา”

“นีล” ได้ตอบคำถามนี้อย่างมั่นใจในปณิธานของตนว่า.. “ในโรงเรียนของผม เราไม่ยอมสอนศาสนา..เพราะเราประพฤติตามหลักศาสนาอยู่แล้ว..กล่าวคือ..ถ้าหากคำว่าศาสนา..หมายถึงการมอบความรัก...สิ่งสำคัญนั้นไม่ได้อยู่ในสิ่งที่เราเชื่อ..แต่มันอยู่ในสิ่งที่เราเป็นอยู่..และสิ่งที่เราได้กระทำ..ลงไป...”

มีตัวอย่าง..ที่พระโปรเตสแตนต์บางนิกาย บางองค์ ก็ล่าหมาจิ้งจอก..บางองค์ก็ยิง นกกระทา..พ่อแม่ที่เคร่งศาสนาไม่น้อยที่เฆี่ยนตีลูก..ถึงแม้ประเภทนี้จะกล่าวถึงเหตุผลอย่างไรก็ตาม..แต่การกระทำอันแฝงไว้ด้วยความเกลียดชัง..ก็ย่อมจะพิสูจน์ได้ว่า.. “ศาสนาแห่งความรัก” ที่เขาเชื่อ..เป็นสิ่งที่เสแสร้ง เพราะมีเด็กมากมายที่ต้องถูกตีเพราะเรียนคัมภีร์ฉบับย่อ (Shorter Catechism) ไม่รู้เรื่อง..

“แต่ถ้าหากคำว่าพระเจ้า..หมายถึง “ความดี”..พระเจ้าองค์นี้ก็เป็นสิ่งที่เราพยายาม..จำเริญรอยตามในซัมเมอร์ฮิลล์ อย่างแน่แท้..” นี่คือ..การปรับปรุงสู่การพิมพ์หนังสือเล่มนี้เป็นครั้งที่ 5 /นับแต่ปี พ.ศ.2532/37 ปี ล่วงมาแล้ว..มันจึงคือหนังสือที่กระตุกเร้าต่อทรรศนะอันควรค่าของความเป็นครูอย่างหยั่งรู้..เติบโต..และเป็นจักรวาลนิยม.. “สมบัติ พิศสะอาด” แปลและเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้อย่างส่อง ทะลุถึงความเข้าใจในหน้าที่และศักดิ์ศรีแห่งชีวิตในความหมายล้ำลึกของความเป็นครู..แท้จริง..

มันคือ “ภูมิปัญญา” ที่สอนสั่งความเป็นครูแก่ครู..อย่างยั่งยืนด้วยหัวใจของความเสียสละ/ตลอดจนการประกอบสร้าง..มโนสำนึกที่อันเป็นคุณลักษณะที่ยั่งยืนของความบริสุทธิ์แห่งหัวใจที่โอบประคองด้วยความรักที่จริงใจแท้จริง..เพียงนั้น!

“คุณจะซื้อความรักไม่ได้ดอก..เนื่องเพราะ..ครูดีที่สุดนั้น..คือครูที่หัวเราะสนุกสนานไปกับเด็ก...ส่วนครูที่เลวที่สุด..ก็คือครูที่หัวเราะเยาะเด็ก..!!”