กฎหมายสมรสเท่าเทียมถกจบ จ่อชงสภา 27 มี.ค.นี้ ไฟเขียวผู้หลากหลายทางเพศสมรส ได้สิทธิตามกฎหมาย แต่ยังไม่เปลี่ยนคำนำหน้า ก้าวต่อไปลุ้นเปลี่ยนสัญชาติ ใช้เทคโนโลยีช่วยตั้งครรภ์  

วันที่ 14 มี.ค.67 ที่รัฐสภา นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการสมรสเท่าเทียม แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ว่า ที่ประชุมมีมติรับร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมแล้ว จากนี้จะส่งคืนสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 27 มี.ค.นี้ ในวาระ 2 วาระ 3 ซึ่งคาดว่าน่าจะผ่านการพิจารณาเช่นเดียวกน ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวจะเป็นการเปลี่ยนบริบทสังคมครั้งใหญ่ โดยสาระสำคัญเป็นการสร้างความเท่าเทียมในการแต่งงาน จากเดิมจะระบุว่ว่าเป็นเพศหญิง เพศชายเท่านั้น แต่กฎหมายฉบับนี้จะระบุว่า “บุคคล” ดังนั้นไม่ว่าจะเพศไหนก็สามารถแต่งงาน สมรสได้ มีสิทธิทางกฎหมายเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อนั้นยังไม่มีในกฎหมายฉบับนี้ แต่จะเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันในก้าวต่อไป   

ด้านนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิ และรองประธานคนที่สองของการพิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียม กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวนับเป็นความเท่าเทียมครั้งแรกที่เกิดขึ้นในสภานิติบัญญัติ ที่ทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่ยังมีอีกหลายก้าวที่เราต้องก้าวต่อไป  ประเด็นสำคัญของกฎหมายนี้คือการอนุญาตให้บุคคลอายุ 18 ปี ขึ้นไปสมรสกันได้ตามกฎหมาย และมีสิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสที่มีตามกฎหมายอื่นๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังประกาศใช้กฎหมายแล้ว 120 วัน อาทิ สิทธิสวัสดิการข้าราชการ สิทธิลดหย่อนภาษี รวมถึงสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ แต่เรื่องการขอสัญชาติ และการรับบริการตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีทางการแพทย์นั้นยังเป็นก้าวต่อไปที่จะผลักดัน