ยืดเยื้อมานานจนย่างเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว

สำหรับ “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 (พ.ศ. 2565) หลังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศปฏิบัติการพิเศษทางการทหารกับยูเครน พร้อมออกคำสั่งให้กองทัพกรีธาพลยกข้ามพรมแดนเข้าไปรุกรานยูเครน ก่อไฟสงครามเป็นเปลวลุกโชนมาถึง ณ ชั่วโมงนี้

โดยไฟสงครามข้างต้น ก็ส่งผลสร้างความสะพรึงให้แก่บรรดาชาติในภูมิภาคยุโรป ซึ่งในที่นี้ คือ กลุ่ม“สหภาพยุโรป” หรือ “อียู” อันประกอบด้วยชาติสมาชิก 27 ประเทศ เนื่องจากสมรภูมิรบของสงคราม คือ ยูเครน นั้น อยู่ในภูมิภาคยุโรปดังกล่าว และหลายประเทศก็มีพรมแดนใกล้ชิดติดกับยูเครน ประเทศที่กลายเป็นสมรภูมิรบ เช่น โปแลนด์ และโรมาเนีย เป็นต้น ซึ่งบรรดาประเทศเหล่านี้ ต่างหวาดผวาว่า ไฟสงครามที่รัสเซีย เจ้าของสมญานามว่า “พญาหมี” นั้น จะไหม้ลุกลามเข้ามายังประเทศของพวกตนเข้าให้ได้สักวัน

นอกจากกองทัพรัสเซีย ที่เหล่าชาติตะวันตกในยุโรปต่างพากันสะพรึงกันแล้ว ก็ยังมี “วากเนอร์” กลุ่มนักรบรับจ้างจากทางฟากรัสเซีย ซึ่งแสดงความร้ายกาจในสงครามรัสเซีย-ยูเครนดังกล่าว และปัจจุบันก็ไปตั้งค่าย ตั้งทัพกันที่เบลารุส ประเทศพันธมิตรของรัสเซีย จนประชิดติดพรมแดนกับโปแลนด์ พร้อมกับมีความเคลื่อนไหวทางการทหารเป็นประการต่างๆ สร้างอาการเขย่าขวัญสั่นประสาทให้แก่บรรดาชาติยุโรปมิใช่น้อย

ส่งผลให้ชาติสมาชิกอียูเหล่านั้น ต้องขยับปรับเปลี่ยนจัดสรรงบประมาณด้านกลาโหมกันใหม่

ตามการเปิดเผยของนายชาลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรปแห่งสหภาพยุโรป ระบุว่า ในปี 2023 (พ.ศ. 2566) ที่เพิ่งผ่านพ้นมา ชาติสมาชิกอียู 27 ประเทศ ได้ใช้งบประมาณด้านกลาโหมรวมแล้ว 2.70 แสนล้านยูโร หรือราว 2.95 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2022 (พ.ศ. 2565) ที่ใช้ไป 2.40 แสนล้านยูโร หรือราว 2.62 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังเป็นจำนวนที่มากกว่าเมื่อปี 2021 (พ.ศ. 2564) คิดเป็นอัตราเฉลี่ยร้อยละ 6

โดยงบฯ ที่เพิ่มดังกล่าว ก็ถูกนำไปจัดสรรในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับทางการทหาร ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกำลังพลหน่วยต่างๆ รวมถึงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนอุปกรณ์หนัก หรือฮาร์ดแวร์ทั้งหลายของกองทัพ

Photo : AFP Photo : AFP

ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของฝ่ายบริหารของอียู เช่น คณะมนตรียุโรป และองค์กรสถาบันระหว่างประเทศต่างๆ เช่น “สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม” หรือ “เอสไอพีอาร์ไอ” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ซิพริ” (SIPRI : Stockholm International Peace Research Institue) ออกมาระบุว่า งบประมาณด้านการทหารที่บรรดาชาติยุโรปจัดสรรไปใช้นั้น ส่วนใหญ่ก็นำไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เป็นหลัก

โดย “เอสไอพีอาร์ไอ” เปิดเผยว่า บรรดาชาติในยุโรป ต่างจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เมื่อช่วงปี 2023 ที่เพิ่งผ่านพ้นมา เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 5 ปีก่อนถึง 2 เท่า ตามการจัดเก็บสถิติในทุกๆ 5 ปี ซึ่งในรอบ 5 ปีของ 2023 นั้น ก็เริ่มจากปี 2019 (พ.ศ. 2562)

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้านั้น คือระหว่างปี 2019 – 2023 (พ.ศ. 2562 – 2566) กับ ระหว่างปี 2014 – 2018 (พ.ศ. 2557 – 2561) ปรากฏว่า บรรดาชาติในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประเทศที่อยู่ในบริเวณภาคพื้นทวีป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี เป็นต้น ก็ใช้งบฯ กลาโหมจัดซื้อนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มขึ้นคิดเป็นอัตราเฉลี่ยร้อยละ 94

เมื่อแยกย่อยไปในแต่ละประเทศ ที่นับว่าใช้งบฯ กลาโหม จัดซื้อนำเข้าอาวุธยุทโธปรณ์แบบเพิ่มขึ้นอย่างพุ่งกระฉูด ก็ได้แก่

“เยอรมนี” นำเข้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 188 หรือ 188 %

“ฝรั่งเศส” นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 112 หรือ 112 %

นอกจากประเทศในภาคพื้นทวีปยุโรปแล้ว แม้กระทั่งประเทศที่อยู่นอกภาคพื้นทวีป เช่น “อังกฤษ” ประเทศที่เป็นเกาะ ก็นำเข้าอาวุธเพิ่มขึ้นร้อยละ 41

อย่างไรก็ดี ในรายงานของ “เอสไอพีอาร์ไอ” ระบุว่า ประเทศในยุโรปที่จัดซื้ออาวุธมากที่สุดของภูมิภาค นั่นคือ “ยูเครน” ประเทศที่เป็นสมรภูมิรบกับรัสเซีย ซึ่งกำลังโรมรันพันตูกันอยู่นั้น จัดซื้อนำเข้าอาวุธมากถึงร้อยละ 6,633 หรือ 6,633 %

จากตัวเลขข้างต้น ก็ส่งผลให้ “ยูเครน” กลายเป็นประเทศที่นำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์มากเป็นอันดับ 4 ของโลก ตามหลังเพียงอินเดีย ซาอุดีอาระเบีย และกาตาร์ เท่านั้น

โดยการนำเข้าอาวุธของยูเครน ส่วนหนึ่งก็มาจากความช่วยเหลือจากบรรดาชาติมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งก็คือเหล่าประเทศในภูมิภาคยุโรป นั่นเอง โดยที่ช่วยเหลือแก่ยูเครนมากที่สุด เป็น “สหรัฐอเมริกา” ประเทศผู้นำชาติมหาอำนาจตะวันตกที่อยู่นอกทวีปยุโรป เพื่อนำไปทำสงครามต่อต้านกองทัพรัสเซีย ที่กำลังรุกรานยูเครนอยู่นั้น

ทั้งนี้ จากการให้ความช่วยเหลือที่มีต่อยูเครน ก็ส่งผลกระทบต่อบรรดาชาติยุโรปที่ให้ความช่วยเหลืออยู่เหมือนกัน โดยทำให้พวกเขาขาดแคลนอาวุธ ซึ่งแม้หลายประเทศจะผลิตอาวุธได้เอง แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการนำไปประจำการตามเหล่าทัพต่างๆ อาทิ กระสุนปืนน้อยใหญ่นานาชนิด เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่น กระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 มม. ซึ่งทางชาติสมาชิกอียู ได้ให้ความสนับสนุนช่วยเหลือต่อยูเครนจำนวนนับล้านนัด

Photo : AFP

รายงานของ “เอสไอพีอาร์ไอ” เปิดเผยว่า จากการที่ยุโรป จัดซื้อนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์มากมายมหาศาลเช่นนี้ ก็ทำให้ประเทศผู้ผลิตอาวุธสงคราม รับผลประโยชน์อย่างเป็นล่ำเป็นสันในช่วงขวบปีที่ผ่านมา ซึ่งประเทศที่ว่านั้นก็คือ “สหรัฐฯ” นั่นเอง ประเทศที่ถูกยกให้เป็นผู้ผลิตอาวุธสงครามรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยชาติยุโรป นำเข้าอาวุธจากสหรัฐฯ มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 55 หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของการนำเข้าอาวุธจากประเทศต่างๆ สำหรับ การเตรียมความพร้อมของกองทัพในการรับมือกับรัสเซีย หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินไม่คาดฝันขึ้น ก็ขนาดบุกจู่โจมยูเครนอย่างสายฟ้าแลบก็ยังทำมาแล้ว