วันที่ 15 มี.ค.67 ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กส่วนตัว "Chaiyan Chaiyaporn" ระบุว่า...

"การหมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง"

จากวิทยานิพนธ์เรื่อง “กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476” ของนิคม จารุมณี (วิทยานิพนธ์ปริญญาโท อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2519) ได้กล่าวว่า

“นับตั้งแต่วาระแรกที่คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว พวกเจ้าถูกก้าวร้าวเสียดสีป้ายร้ายมาก และเมื่อรัฐบาลเรียกตัวหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ถูกหนังสือพิมพ์บริภาษแทบไม่เว้นวัน รวมทั้งเจ้านายก็ถูกเสียดสีก้าวร้าวเช่นกัน (อ้างอิง วิชัย สุวรรณรัตน์, “การปฏิวัติ รัฐประหารและกบฏภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ใน ชัยอนันต์ สมุทวนิชและผู้อื่น, สัตว์การเมือง หน้า 94)

การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อทำลายพระมหากษัตริย์มิได้กระทำด้านเดียวเฉพาะแพร่ข่าวทางหนังสือพิมพ์ นอกจากโจษจรรด้วยปากแล้ว ยังอาศัยศาลสถิตยุติธรรมทำการโฆษณาล่วงละเมิดและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกด้วย เหตุการณ์นั้นคือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งเรียกว่า สมุดปกขาว มีข้อความตอนหนึ่งว่า

‘…..เรื่องกรรมกรรถรางที่ผู้เขียนอ้างว่าเป็นการแสดงข้อหนึ่งถึงความระส่ำระสายอันนี้นั้น ข้าพเจ้าขอตอบได้ว่า การที่กรรมกรรถรางหยุดงานนั้น หาใช่เพราะความเดือดร้อนจริงจังอันใดไม่ ที่เกิดเป็นดังนั้น เพื่อจะได้เปิดโอกาสให้ตั้งสมาคมคนงานและตนจะได้เป็นหัวหน้า ได้รับเงินเดือนสบายๆเท่านั้น....’ (อ้างอิง เลื่อน ศราภัยวาณิช, ฝันร้ายของข้าพเจ้า หน้า 10)

พระบรมราชวินิจฉัยนี้ได้กลายเป็นเหตุให้นายถวัติ ฤทธิเดช เลขานุการสมาคมกรรมกรรถรางเป็นโจทก์ยื่นฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อศาลพระราชอาญาว่าหมิ่นประมาท เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2476 ซึ่งนายประสิทธิ์ ณ พัทลุง ได้เขียนเรื่อง ‘เหล้าเก่าในขวดใหม่’ ลงในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ฉบับประจำวันที่ 27 กันยายน 2489 มีข้อความตอนท้ายว่า

‘…..พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้อาภัพ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นพระมหากษัตริย์องค์เดียวที่ถูกฟ้องในคดีอาญา (และคดีแพ่งด้วย เมื่อทรงสละราชบัลลังก์แล้ว) โดยกล่าวหาว่า พระองค์ทรงร่วมมือกับเจ้าคุณมโนปกรณ์นิติธาดาในทางการเมือง ทำผิดวิถีทางรัฐธรรมนูญในครั้งเจ้าคุณมโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่เกรียวกราวกันในปี พ.ศ. 2476 และในตอนหลังโจทก์ได้ไปขอพระราชทานอภัยโทษที่สงขลา เรื่องจึงเงียบไป แต่ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดบางคนคงจะทราบเรื่องดีว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะเป็นคนธรรมดา แต่ผู้ที่ช่วยเกลาสำนวนฟ้องให้นั้นเป็นคนสำคัญเพียงใด...’ (อ้างอิง เลื่อน ศราภัยวาณิช, ฝันร้ายของข้าพเจ้า หน้า 10-11)

การฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งนี้ ทำให้เป็นที่สงสัยกันว่า ลำพังพลเมืองสามัญไม่กล้าจะกระทำการได้ถึงเพียงนั้น จะต้องมีคนสำคัญในวงการรัฐบาลสนับสนุนรู้เห็นเป็นใจ หรือชักใยอยู่เบื้องหลัง ดังนั้น คนทั้งหลาย ซึ่งปฏิเสธหลักการของคอมมิวนิสต์จึงพากันเจ็บร้อน จับกลุ่มปรึกษา ปรารภ ด้วยหวั่นเกรงว่ารัฐบาลคงจะใช้นโยบายเศรษฐกิจ (ระบบนารวม/ผู้เขียน) ของนายปรีดี พนมยงค์เป็นแน่นอน โดยมากได้แสดงความเห็นไปในทางหักหาญ ทำนองเมื่อฝ่ายเขาปฏิวัติซ้อนได้ ฝ่ายเราก็ปฏิวัติบ้าง หลักความคิดนี้แพร่สะพัดไปทั่วประเทศ” (อ้างอิง เสาวรักษ์, ตัวตายแต่ชื่อยัง หน้า 285-286)

-----

(ผู้เขียน: ข้อความที่ว่า “ทำนองเมื่อฝ่ายเขาปฏิวัติซ้อนได้” หมายถึง การทำรัฐประหารวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 หลังจากที่ทำรัฐประหารครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475)

--------

“บุคคลที่ถูกสงสัยว่า เป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลังการฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในครั้งนี้ คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม โดยมีความมุ่งหวังจะแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น หาได้มีความสำคัญแต่อย่างใดไม่ เป็นความต้องการจะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั่นเอง และที่สำคัญคือ ศาลอาญาได้ประทับรับคำฟ้องของนายถวัติ ฤทธิเดชไว้ด้วย อันเป็นการกระทำที่ลบหลู่พระบรมเดชานุภาพ และผิดรัฐธรรมนูญเป็นอย่างมากในครั้งนั้น (อ้างอิง สัมภาษณ์พลโทประยูร ภมรมนตรี วันที่ 12 กันยายน 2518)

และในบทนำของหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ ฉบับวันที่ 21 กันยายน 2476 ได้ตีพิมพ์ว่า

‘….ความเอิกเกริก อื้อฉาวอย่างสามานย์ที่นายถวัติ คิดขึ้นคราวนี้ ต้องมีมูลเหตุเนื่องมาแต่อะไรอย่างหนึ่ง ซึ่งน่าจะค้นคว้า เพราะอย่างไรก็ดี นายถวัติและพรรคพวกคงไม่โง่พอที่จะคิดว่าจะฟ้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้คล่องๆ นอกจากนายถวัติแกล้งทำขึ้น เพื่อที่จะทำลายพระราชกิติคุณ เนื่องมาแต่พระราชวิจารณ์โครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งเป็นการประจบในขณะที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกำลังเดินทางกลับมาในประเทศสยาม เช่นนี้ เป็นสิ่งที่น่าคิดว่า ในกาลข้างหน้า นายถวัติจะทำอะไรประจบหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอีก และเราก็ควรเริ่มระวังป้องกันเสียแต่บัดนี้ อย่าปล่อยให้ตะวันสายบ่ายจัดจนเสียการงาน ดังที่เป็นมาแล้ว....”

(หนังสือที่ระลึกในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ ร.ท. จงกล ไกรฤกษ์ หน้า 87)