วันที่ 18 มี.ค.2567  ที่ค่ายขุนเจืองธรรมิกราช มณฑลทหารบกที่ 34 จ.พะเยา นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระโหม พร้อมด้วยพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ยาเสพติดภายในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข มทบ. 34 และกองอาสารักษาดินแดน (อส.) พร้อมตรวจเยี่ยมศูนย์บำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดเสพ มทบ. 34 ตรวจเยี่ยม รพ.ค่ายขุนเจืองธรรมิกราช และตรวจเยี่ยมการดูแลสวัสดิการกำลังพลชั้นผู้น้อย บ้านพักกำลังพล มทบ. 34

โดย นพ.ตะวัน ที่ปรึกษา จิตแพทย์นายแพทย์ชำนาญการโรงพยาบาลพะเยา และที่ปรึกษาสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดพะเยา กล่าวถึงกระบวนการนำผู้ป่วยเข้าสู่จุดบำบัดโดยเข้ารับการบำบัดมาจากความสมัครใจ เบื้องต้นต้องได้รับการถอนพิษสารเสพติดในโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้พร้อมเข้าสู่กระบวนการบำบัด หลังจากนั้นจะมีการคัดเลือกผู้ป่วยเข้าสู่สถานฟื้นฟู เกณฑ์การคัดเลือกเพศสภาพชาย อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ไม่มีโรคติดต่อร้ายแรง ไม่มีพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง ไม่อยู่ระหว่างการถูกดำเนินคดี ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการฟื้นฟูในจังหวัดพะเยา มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกในสถานฟื้นฟูสมรรถภาพพลเมือง มทบ. 34 จำนวน 30 ราย และสถานฟื้นฟูกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดพะเยา จำนวน 32 ราย

ทั้งนี้ ภายใน มทบ. 34 ซึ่งใช้เป็นที่ตั้งสถานฟื้นฟูสมรรถภาพพลเมือง กรมการปกครอง กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดพะเยา ที่ 2 และมีพื้นที่ควบคุมเฉพาะผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติด โดยมีหลักสูตรใช้ฝึก 3 กระบวนการ ได้แก่ 1.กระบวนการกลุ่มหรือกระบวนการชุมชนบำบัด 2.กระบวนการให้ความรู้ ด้านสุขภาพทั้งร่างกาย และสุขภาพจิต การสร้างความผ่อนคลายการเล่นกีฬา การดูหนังฟังเพลง และ 3.กระบวนการสร้างงานสร้างอาชีพ เช่น ส่งเสริมการปลูกผัก สอนสอนตัดผม สอนทำไม้กวาดทางมะพร้าว การทำปุ๋ยหมัก ขณะที่ระเบียบปฏิบัติสถานฟื้นฟูประจำวันนั้น ผู้เข้ารับการบำบัดจะตื่นตั้งแต่ 05.30 น. เพื่อทำภารกิจส่วนตัว ออกกำลังกายในช่วงเช้า และในช่วงบ่ายจะมีกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ และกิจกรรมบำบัดจนถึงช่วงบ่าย ก่อนออกกำลังกาย และเข้านอนในเวลา 21.00 น.

รมว.กลาโหม กล่าวว่า วันนี้ถือโอกาสก่อนวันประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (19 มี.ค.) นัดพบปะเยี่ยมเยียนทุกท่าน เรื่องยาเสพติดเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพราะเป็นความต้องการของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน ด้วยเหตุยาเสพติดระบาดหนักหน่วงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้ติดยาเสพติดมีทั้งที่ตั้งใจ และไม่ตั้งใจ รวมถึงพลาดพลั้งไปจำนวนมาก เชื่อว่าหลายท่านที่พลาดเข้าไปอยากจะกลับออกมาใช้ชีวิตปกติกับสังคม ครอบครัว ญาติมิตร การเรียกร้องดังกล่าวทำให้รัฐบาลนำมาเป็นวาระที่ต้องรีบดำเนินการ ในส่วนของกระทรวงกลาโหมมีส่วนในการสนองนโยบาย โดยร่วมกับกระทรวงยุติธรรม และกระทรวงสาธารณสุข ช่วยกันคนละบทบาทคนละไม้คนละมือ บนพื้นฐานของเมตตาธรรม  

"ผู้ที่ติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วยไม่ใช่อาชญากร ไม่ใช่คนชั่วไม่ใช่คนเลว แต่เป็นความพลาดพลั้ง ดังนั้น บนพื้นฐานของเมตตาธรรม เราจึงเปลี่ยนความคิดใหม่ว่าจะไม่ทำโทษ แต่จะรักษา เราเชื่อว่ากระบวนการรักษาเป็นการให้โอกาส ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุด ทางทหารก็รับผิดชอบที่จะจัดการจัดสถานที่ดูแล ส่วนกระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข ก็รับผิดชอบเกี่ยวกับหลักสูตรต่างๆ เชื่อว่ากระบวนการดังกล่าวน่าจะเป็นกระบวนการที่ดี และหวังว่าได้ผลดี คือผู้ที่พลาดพลั้งติดยาเสพติดจะได้มีโอกาสพัฒนาร่างกาย ฟื้นฟูจิตใจ เพื่อพร้อมกลับเข้าสู่อ้อมกอดของครอบครัว ชุมชน และบ้านเมือง" รมว.กลาโหม กล่าว