ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับ การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย 2024 (พ.ศ. 2567) ตามกำหนดการของการเลือกตั้ง ก็จะเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวรัสเซียที่มีสิทธิออกเสียง ซึ่งมีจำนวนราว 114 ล้านคน ได้ลงคะแนนตามคูหาเลือกตั้งต่างๆ ได้ถึง 3 วัน ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็จะถือเป็นครั้งแรก ที่ประชาชนในแว่นแคว้นไครเมีย โดเนตส์ก ลูฮันส์ก หรือลูแกนส์ก ซาปอริชเชีย และเคอร์ซอน ซึ่งเป็น 4 แว่นแคว้นของยูเครน ที่รัสเซียผนวกเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศ หลังจากไปทำสงครามยึดมาจากยูเครน สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียในหนนี้ด้วย และเป็นการเลือกตั้ง หลังจากทางการรัสเซีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของประเทศไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อปี 2020 (พ.ศ. 2563) ในอันที่จะปูทางให้ประธานาธิบดีปูตินผู้นี้ ได้อยู่ในอำนาจต่อไป จนถึงปี 2036 (พ.ศ.2579) หรือ 16 ปี นับตั้งแต่บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งกระนั้นมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ หากเมื่อกล่าวถึงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับเดิม เมื่อครั้งที่ยังไม่ได้แก้ไขเพิ่มเติมนั้น ประธานาธิบดีปูติน ก็จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในปีนี้ คือ 2024 (พ.ศ. 2567) และถ้าหากฝันของนายวลาดิเมียร์ ปูติน เป็นจริง คือ ดำรงตำแหน่งผู้ปกครองรัสเซีย ทั้งในรูปแบบหน้าฉาก เป็นประธานาธิบดีตัวเป็นๆ เมื่อปี 2000 (พ.ศ. 2543) เป็นต้นมาจากการแต่งตั้งของ “นายบอริส เยลต์ซิน” ประธานาธิบดีรัสเซียคนก่อน และหลังฉาก คือ สลับสับเปลี่ยนเป็น “นายกรัฐมนตรี” ชั่วคราว แต่มีอำนาจเหนือกว่าประธานาธิบดี ที่ครั้งกระนั้น คือ “นายดมิทรี เมดเวเดฟ” ระหว่างปี 2008 – 2012 (พ.ศ. 2551 – 2555) และลากยาวไปจนถึงปี 2036 (พ.ศ. 2579) ที่เขาฝันไว้ ก็จะทำให้นายปูติน ได้ชื่อว่า เป็นผู้นำที่ปกครองรัสเซียยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ในยุคสมัยจักรวรรดิรัสเซีย ที่เขาครองอำนาจยาวนานกว่า “สมเด็จพระจักรพรรดินี แคทเธอรีนมหาราชินี” ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และเหนือกว่า “นายโจเซฟ สตาลิน” ประธานาธิบดีในยุคสหภาพโซเวียตรัสเซีย ที่ล่มสลายไป โดยถ้าหากถึงวันนั้น นายปูติน ก็จะดำรงตำแหน่งผู้นำรัสเซียยาวนานถึง 36 ปีเลยทีเดียว จากปี 2000 (พ.ศ. 2543) ถึงปี 2036 (พ.ศ. 2579) ยาวนานแบบข้ามยุค ข้ามรุ่น ของมนุษย์เราเลยก็ว่าได้ ที่ผ่านมานายปูติน ผ่านศึกเลือกตั้งมาหลายครั้งหลายครา แต่ก็ต้องบอกว่า ไม่สร้างความวิตกกังวลใจให้แก่เขาเท่ากับหนนี้ แม้กระทั่งรัฐบาลรัสเซียของเขาก็วิตกกังวลด้วยเช่นกัน โดยเมื่อว่าถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียหนนี้ แม้บรรยากาศการสู้ศึกในสมรภูมิเลือกตั้ง ไม่ต้องมีอะไรให้ลุ้นกันกับชัยชนะของนายปูติน เพราะไม่ว่าจะอย่างไรเสีย นายปูติน ก็ได้รับชัยชนะอย่างแน่ๆ แบบที่กล่าวได้ว่า “นอนมา” เลยก็ว่าได้ เพราะผู้สมัครรับเลือกตั้งคู่แข่งคนอื่นๆ มิใช่เป็นคู่ต่อกรของเขา อาจกล่าวได้ว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเหล่านั้น มี 3 คน เป็นเพียงไม้ประดับเท่านั้น ส่วนคู่แข่งของเขาจริงถูกกำจัดจนลาโลกไปอย่างเป็นปริศนาไปแล้ว นั่นคือ “นายอเล็กเซ นาวาลนี” ทว่า เมื่อชัยชนะที่ได้มาเหนือกว่าคู่แข่งคนอื่นๆ อย่างไม่ต้องลุ้นอะไร แล้วเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้ประธานาธิบดีปูติน และรัฐบาลของเขาในทำเนียบเครมลิน กรุงมอสโก เกิดความวิตกกังวล เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลที่ว่านั้น ก็คือ จำนวนผู้ไปสิทธิเลือกตั้ง นั่นเอง ตามที่มีการคาดการณ์กันนั้น ประธานาธิบดีปูติน อยากจะให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่าร้อยละ 80 – 90 หรือ 100 เปอร์เซ็นต์เลยก็จะยิ่งดี ประชาชนชาวไปใช้สิทธิลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งในรัสเซีย (Photo : AFP) ทั้งนี้ การที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก ก็เสมือนหนึ่งเป็นการแสดงออกถึงการไม่ต่อต้านต่อประธานาธิบดีปูติน หลังจากที่เขาก่อสงครามกับยูเครน ด้วยการออกคำสั่งกรีธาทัพบุกรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 (พ.ศ. 2565) อันส่งผลให้รัสเซียถูกเหล่าชาติตะวันตกลงดาบด้วยการคว่ำบาตร หรือแซงก์ชันต่อรัสเซียสารพัด นอกจากนี้ ก่อนหน้านั้น ก็ยังเคยเกิดเหตุการณ์ที่ชาวรัสเซียต่อต้านเขา ในการบังคับเกณฑ์ทหาร เพื่อทดแทนกำลังพลที่สูญเสียไปในการทำสงครามกับยูเครน จนประชาชนชาวรัสเซียอยู่ในกำหนดของการเรียกเกณฑ์ทหาร ต้องอพยพหลบหนีออกจากประเทศกันไปมิใช่น้อย ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ทั้งทางยูเครน และกลุ่มผู้สนับสนุนของนายนาวาลนี ที่นำโดยนางยูเลีย ภรรยาหม้ายของนายนาวาลนี ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกัน ด้วยการรณรงค์ว่า การไม่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็เสมือนหนึ่งเป็นการคว่ำบาตรการเลือกตั้งอันไม่ชอบธรรมของผู้นำเผด็จการอย่างนายปูติน กิจกรรมต่อต้านการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียที่มีต่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย (Photo : AFP) นอกจากนี้ การที่ประชาชนชาวรัสเซียออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งมาก ทางนายปูติน และทางทีมงานรัฐบาลของเขา ก็หวังว่า จะทำให้ตัวเลขของผู้สนับสนุนต่อนายปูติน สูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ เมื่อว่าถึงคะแนนเสียงที่ได้ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว รวมถึงคะแนนนิยมของนายปูติน ที่ผ่านๆ มา ก็ตระเวนอยู่ที่กว่าร้อยละ 70 โดยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีหนนี้ ทั้งนายปูติน และทีมงานของเขา ก็หมายมั่นว่า จะต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าครั้งที่แล้ว คือ กว่าร้อยละ 70 หรือให้ถึงร้อยละ 80 เลยก็จะยิ่งดี ด้วยประการฉะนี้ ทางทีมงานรัฐบาลของเขาจึงพยายามบริหารจัดการ รวมถึงระดมทรัพยากรต่างๆ ทั้งหลายประดามี เพื่อทำให้นายปูติน ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วยคะแนนเสียงเกินกว่าร้อยละ 70 หรือถึงร้อยละ 80 ให้จงได้ อย่างไรก็ดี ก็สร้างความกังวลให้แก่บรรดาผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งจากประเทศต่างๆ ไม่น้อยอยู่เหมือนกัน เกี่ยวกับเรื่องความสุจริตโปร่งใสในการเลือกตั้งที่มีขึ้น ที่นอกจากจะมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบดั้งเดิม ที่ให้ประชาชนกาบัตรเลือกตั้งที่ทำด้วยกระดาษแล้ว ก็ยังมีการเลือกตั้งแบบออนไลน์ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์การลงคะแนนได้ไม่ยากสำหรับพวกเซียนเทคโนโลยี โดยในรัสเซียมีผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีระดับขั้นเทพมิใช่น้อย กระทั่งเหล่าชาติมหาอำนาจตะวันตกก็ยังหวาดผวา กิจกรรมต่อต้านการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียที่มีต่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย (Photo : AFP)