กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียล หลังมีการแห่แชร์ร์งานวิจัยฉบับหนึ่ง ที่อ้างว่า การทำ IF สูตรกิน 8 ชั่วโมง อด 16 ชั่วโมง เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 91%

ล่าสุดวันนี้ (20 มี.ค.67)  นพ.สมรส พงศ์ละไม แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าวว่า การงดอาหารแบบ IF อาจส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่?

สรุปแบบสั้นๆพร้อมกลืน = งานวิจัยชิ้นนี้ ยังไม่น่าเชื่อถือ มีข้อสงสัยเยอะมากๆ รอตัวเต็มก่อน, ส่วนตัวเชื่อว่าการทำ IF อย่างเหมาะสมถูกต้อง ให้ผลดีต่อสุขภาพมาก

ขยายความสำหรับประชาชนง่ายๆ

1- ในมุมมองวิชาการ งานวิจัยนี้ไม่ได้มีดราม่าอะไรเลย เพราะข้อจำกัดของงานวิจัยเองหลายข้อ ท่านที่เรียนการวิจารณ์วิเคราะห์วิจัยมา (ตั้งแต่ป.โทขึ้นไป) จะเข้าใจ แต่คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เรียนเรื่องนี้อาจจะตกใจกับหัวเรื่องได้ จริงๆแล้ววิจัยนี้ไม่ได้เน้นที่คนกิน IF เลย แต่เป็นการดูระยะเวลาในการกิน แล้วมาคำนวนย้อนหลัง ซึ่งคนละเรื่องกับ IF จริงจัง

2- หากพิจารณาเพียงหัวข้องานวิจัยอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ ไม่ได้หมายความว่าหนึ่งเป็นสาเหตุของอีกอย่างหนึ่งเสมอไป

Correlation ≠ Causation

มีความสัมพันธ์ ≠ เป็นสาเหตุ

3- ในงานวิจัยนี้มีปัจจัยหลายประการที่อาจก่อให้เกิดอคติหรือปัจจัยรบกวน เช่น ความดัน เบาหวาน ไขมัน พฤติกรรมการสูบบุหรี่ ประเภทและปริมาณอาหารที่บริโภค โรคประจำตัว การพักผ่อนไม่เพียงพอ และการใช้สารเสพติด เป็นต้น

4- จากข้อมูลเบื้องต้น พบว่ากลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยมีดัชนีมวลกายเฉลี่ยอยู่ในระดับน้ำหนักเกิน (BMI 27) ตั้งแต่แรก แตกต่างกับคนเอเชียหรือคนไทยเรา

5- ในกลุ่มคนที่งดอาหารนานที่สุดพบว่ามีอัตราการสูบบุหรี่สูงถึง 27% ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตโดยตรงและรุนแรง ดังนั้นจะไปโทษ IF อย่างเดียวเลยคงไม่ได้

6- งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาแบบไปข้างหน้าจากข้อมูลแบบสอบถาม จึงอาจมีข้อจำกัดด้านความน่าเชื่อถือเมื่อเปรียบเทียบกับการวิจัยเชิงทดลอง นิสัยการกินเปลี่ยนกันได้ตลอดเวลา อีกทั้งคนที่งดกินอาหารเวลานาน มีจำนวนน้อยมากๆเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น

เท่าที่ดูมีโอกาสเกิดผลบวกลวงได้สูงมาก (false positive)

7- มักพบว่าการศึกษาลักษณะนี้ไม่สามารถควบคุมตัวแปรทุกประการได้อย่างสมบูรณ์แบบ เช่น ประเภทอาหาร ปริมาณแคลลอรี่ อาหารอเมริกันอนุมานได้ว่ามีแป้ง น้ำตาล ไขมัน ของทอด น้ำอัดลมค่อนข้างเยอะ ซึ่งทำให้ตายได้สูง แตกต่างกับอาหารเมดิเตอร์เรเนียนหรืออาหารเอเชีย

8- ผลการศึกษาบางครั้งอาจนำไปสู่ข้อสรุปที่ตรงกันข้ามกับสามัญสำนึก ดังเช่นงานวิจัย meta-analysis ในคนหลายหมื่นคนพบว่า ผู้ที่ใช้ครีมกันแดดกลับมีอัตราการเกิดมะเร็งผิวหนังสูงกว่าผู้ที่ไม่ใช้! เนื่องจากความเข้าใจว่าครีมกันแดดสามารถป้องกันมะเร็งได้ จึงทำให้พฤติกรรมเสี่ยงต่อการสัมผัสแสงแดดเพิ่มมากขึ้นมาก

การนำไปใช้ที่เหมาะสมคือ ควรหลีกเลี่ยงแดดที่รุนแรงมากเกินไปและใช้ครีมกันแดดด้วย จะลดโอกาสเกิดมะเร็งผิวหนังได้มากที่สุด

*** ในทำนองเดียวกัน ถ้าคนส่วนใหญ่คิดว่าการกิน IF แล้วจะมีสุขภาพดี ดังนั้นจึงทำให้คิดว่าสามารถกินหวาน มัน เค็ม น้ำอัดลม สูบบุหรี่ นอนดึก เสพยาได้ สุดท้ายก็ตายมากขึ้น ***

สุดท้าย ควรติดตามผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์และวิเคราะห์อย่างวิทยาศาสตร์อย่างเป็นกลาง ไม่ควรด่วนหลงเชื่อข้อมูลที่อาจไม่สมบูรณ์ หมอไทยไม่เชื่ออะไรง่ายๆอยู่แล้ว

แล้วเพื่อนๆคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ ^^

(ปล.ถ้าอยากลงลึกแบบสถิติ ใส่ลิงก์ในเมนต์นะครับ)

นพ.สมรส (ที่แปลว่าแต่งงาน)

แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด (PMR = Physiatrist) #DrSomros #IntermittentFasting

ขอบคุณ  เฟซบุ๊ก Somros MD Phonglamai