แบงก์รัฐหั่นดอกเบี้ย-ออกสินเชื่อ ดบ.ต่ำ ลดภาระยุครายได้น้อย-รายรับไม่เพิ่มสู้ ศก.ถดถอย ส่งสัญญาณสถาบันการเงินช่วยลูกหนี้
 
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตในอัตราชะลอตัวซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตร้อยละ 2.8 ในปี 2567 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำ และชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แม้ส่วนหนึ่งเกิดจากราคาสินค้ากลุ่มพลังงานที่ลดลงตามมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ แต่โดยรวมเป็นการบ่งชี้ถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอ นอกจากนี้สถานการณ์ดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่ม ทำให้มีภาระผ่อนชำระต่อเดือนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ศักยภาพในการหารายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ทำให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กระทบขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา กระทบการส่งออก และกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม 
 
โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประชาชนและผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบตามที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชนทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ และในครั้งนี้จะเป็นการรวมตัวกันของแบงก์รัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยดำเนินการลดหรือตรึงดอกเบี้ย พร้อมทั้งจัดเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงจนเกินไป ซึ่งที่ผ่านมาแบงก์รัฐทุกแห่งได้ช่วยกันตรึงดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปี 2565 และชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 ถึงแม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นหลายครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ธนาคารออมสินได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate: MRR) ลงร้อยละ 0.15 ต่อปี ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มีโครงการบ้าน ธอส. สุขสบาย เพื่อให้ลูกหนี้เดิมของ ธอส. สามารถยื่นขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงได้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีโครงการสินเชื่อ SME Refinance เพื่อลดต้นทุนให้กับลูกหนี้ นอกจากนี้แบงก์รัฐทุกแห่งได้ช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้และลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่กลุ่มลูกหนี้รายย่อยและกลุ่มลูกหนี้ SMEs รวมทั้งมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการทุกกลุ่ม 
 
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า การรวมตัวของแบงก์รัฐเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในครั้งนี้จะเป็นการส่งสัญญานไปถึงสถาบันการเงินต่างๆให้หันมาช่วยเหลือลูกหนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดดอกเบี้ย การพักหนี้ การช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยลดภาระให้ประชาชน เพิ่มสภาพคล่องมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนและลดความเปราะบางทางเศรษฐกิจดังกล่าว นอกจากการขับเคลื่อนมาตรการของภาครัฐซึ่งเป็นมาตรการกึ่งการคลังแล้วยังต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ 
 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 
1.ธนาคารออมสิน โทร. 02-299-8000 หรือสายด่วน 1115 
2.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร. 02-555-0555 
3.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โทร. 02-645-9000 
4.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โทร. 02-265-3000 หรือสายด่วน 1357 
5.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โทร. 02-169-9999 
6.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โทร. 02-650-6999 หรือสายด่วน 1302 
7.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โทร. 02-890-9999 

#ลดดอกเบี้ย #ธนาคารรัฐ #หนี้ครัวเรือน #ลูกหนี้ #ข่าววันนี้