ข้าวกล้องที่บางแตน เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2541 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการพัฒนาส่วนพระองค์ ณ ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ที่ได้มีพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่ซึ่งเป็นที่ดินส่วนพระองค์ จำนวน 384 ไร่ ในรูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่เกษตรกรทั่วไปได้เข้ามาเรียนรู้และนำไปปฏิบัติใช้กับตนเองได้โดยจัดเป็นพื้นที่นา 292 ไร่ เพื่อผลิตพันธุ์ข้าวจำหน่ายให้เกษตรกรในจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดใกล้เคียง พร้อมทั้งให้สมาชิกของโครงการยืมพันธุ์ไปปลูก เพื่อผลิตข้าวขายให้กับโครงการ นอกจากพื้นที่นาแล้ว ในโครงการของพระองค์ยังมีแปลงสาธิตการทำเกษตรแบบผสมผสานปลูกพืชผักอนามัย ผักปลอดสารพิษ ปลูกหญ้าแฝกและปลูกป่าชุมชน รวมถึงโครงการตลาดชุมชนเพื่อเป็นสถานที่จำหน่ายปัจจัยการผลิตด้านการเกษตรแก่เกษตรกรในราคาถูกอีกด้วย และในวันนั้นเอง พระองค์ได้มีพระราชดำรัสถึงข้าวความตอนหนึ่งว่า “ อย่างข้าวกล้อง คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยกินกัน เพราะเห็นว่าเป็นข้าวของคนจน ข้าวกล้องมีประโยชน์ทำให้ร่างกายแข็งแรง ข้าวขาวเมล็ดสวยแต่เขาเอาของดีออกไปหมดแล้ว....” จากพระราชดำรัสนี้แสดงให้คนไทยได้ตระหนักรู้ว่าพระองค์ทรงห่วงใย และปรารถนาให้ประชาชนชาวไทยมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง อันเป็นรากฐานที่จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของทุกคน. สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยกระเบา ฯให้ชาวนครพนม เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปทอดพระเนตรภูมิประเทศในเขต ตำบลน้ำก่ำ จังหวัดนครพนม และได้มีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยกะเบา ที่บริเวณบ้านดอนสวรรค์ ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม เพื่อเก็บกักน้ำที่ห้วยกะเบาตอนต้น สำหรับส่งไปสนับสนุนพื้นที่เกษตรกรรมของสมาชิกนิคมทหารผ่านศึก กับกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติตามบริเวณพื้นที่สูง ซึ่งตัวอ่างนี้จะอยู่ต้นลำห้วยที่มีน้ำไม่มากจึงต้องพิจารณานำน้ำจากแหล่งน้ำข้างเคียงมาช่วยเสริมอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้สามารถส่งน้ำช่วยพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 2,000 ไร่ ในเขตบ้านดงหมู จ .นครพนม และพื้นที่นอกเขตนิคมทหารผ่านศึก ในเขตอำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหารอีกด้วย .....แม้จะผ่านมากว่า 30 ปี แล้ว แต่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกระเบาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก็ยังคงทำหน้าที่ส่งผ่านสายน้ำที่เกิดจากพระราชหฤทัยห่วงไยของพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อสร้างความอยู่ดีสุขให้แก่พสกนิกรของพระองค์ตลอดมา. เสริมอาหารโปรตีนตามแหล่งน้ำพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นอย่างยิ่ง พระองค์มีพระราชดำริให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและฝาย ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาความแห้งแล้งหรืออุทกภัยอยู่เสมอ และเนื่องจากทรงตระหนักว่าสัตว์น้ำเป็นอาหารโปรตีนที่สำคัญของราษฎร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการพัฒนาการประมงในแหล่งน้ำที่ได้มีพระราชดำริให้จัดสร้างขึ้น ควบคู่ไปด้วยในทุกๆ พื้นที่ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ด้วยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ และจัดการทางด้านการประมงควบคู่กันไป พร้อมกันนั้นยังได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการพัฒนาด้านการประมงในแหล่งน้ำธรรมชาติ ให้เป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาและส่งเสริมให้ราษฎรใช้ประโยชน์และได้รับประโยชน์จากปลาในแหล่งน้ำอย่างแท้จริง ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ณ บริเวณบ้านก๊กส้มโฮง ตำบลกุสุมาลย์ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 ความตอนหนึ่งว่า "สำหรับอ่างเก็บน้ำ ก็จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดชนิดต่าง ๆ เพื่อเป็นอาหารโปรตีนส่วนรวมของราษฎร..." ในหลวงกับไอที พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระทัยและทรงศึกษาอย่างลึกซึ้งในการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทรงสนับสนุนการค้นคว้าในทางวิทยาการคอมพิวเตอร์และทรงศึกษาคิดค้นสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ด้วยพระองค์เอง เช่น ทรงประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรไทยที่มีลักษณะงดงาม เพื่อแสดงผลบนจอภาพคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกพระราชกรณียกิจต่างๆ ทั้งยังทรงเคยประดิษฐ์ ส.ค.ส. ด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อทรงอวยพรพสกนิกรของพระองค์อีกด้วย และเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2530 ได้ทรงนำโปรแกรมการสร้างตัวอักษรเทวนาครีออกแสดงเป็นครั้งแรก ตัวเทวนาครีหรือที่พระองค์ ทรงเรียกว่า "ภาษาแขก" นั้นจัดทำได้ยากกว่าตัวอักษรภาษาไทย เพราะตัวอักษรเทว นาครีมีรูปแบบไม่คงที่ ถ้านำส่วนหนึ่งของอักษรนำมาต่อกับอีกส่วนหนึ่งของอักษร จะเกิดอักษรใหม่ขึ้น ด้วยความสนพระทัยจึงทรงศึกษาตัวอักษรเทวนาครีด้วยพระองค์เอง จากพจนานุกรมและตำราภาษาสันสกฤต และทรงสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาบาลีสันสกฤต เช่น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นต้น การที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ทรงศึกษาตัวอักษรแขกก็เพื่อเป็นการนำไปสู่ความเข้าใจด้านอักษรศาสตร์และความเข้าใจในหัวข้อธรรมะ เพราะคำสอนในพุทธศาสนานั้นเดิมทีเกิดและเผยแพร่มาจากประเทศอินเดีย บรรดาธรรมะที่ลึกซึ้งและยากแก่ความเข้าใจก็อาจจะถูกตีความบิดเบือนไปได้ ดังนั้นการศึกษาค้นคว้าลึกลงไปถึงภาษาแขกจึงแสดงให้เห็นพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ชัดเจนกระจ่างมากขึ้น. ลำพะยังภูมิพัฒน์ฯ เมื่อวันที่ 25 พศฤจิกายน 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ พระองค์ทรงพบว่าพื้นที่นี้ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ น้ำที่จะใช้ปลูกข้าวก็ต้องรอเพียงน้ำฝนและน้ำค้างยามกลางคืนเท่านั้น ทำให้ข้าวที่ราษฎรปลูกมีเมล็ดลีบแห้ง ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ไม่เพียงพอต่อการบริโภค จากเหตุการณ์ในวันนั้นจึงเป็นที่มาของโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบนพร้อมระบบส่งน้ำ เพื่อสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกกว่า 4,000 ไร่ และด้วยพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล พระองค์ยังได้พระราชทานพระราชดำริเชื่อมโยงโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนกับอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ จ.มุกดาหาร โดยการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำลอดใต้ภูเขาภูบักดี มายัง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งจะมีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการผันน้ำครั้งนี้ ครอบคลุมพื้นที่ ต.สงเปลือย อ.เขาวง อีกกว่าหมื่นไร่ ซึ่งจะทำให้ราษฎรที่เคยปลูกพืชเชิงเดี่ยวมีน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชให้หลากหลายยิ่งขึ้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ....พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออุโมงค์ผันน้ำนี้ว่า “ ลำพะยังภูมิพัฒน์” ซึ่งมีความหมายว่า อุโมงค์ผันน้ำที่นำความเจริญมาสู่แผ่นดินลุ่มน้ำลำพะยัง โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงฯ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงบริเวณห้วยปลาดุก ซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ บริเวณรอยต่อของอำเภอปากชม อำเภอเชียงคาน กิ่งอำเภอนาด้วง และอำเภอเมืองเลย โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดที่ดินทำกิน ตลอดจนการจัดสรรที่อยู่อาศัยในรูปหมู่บ้านป่าไม้ ที่มีความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ราษฎรที่ยากจน ซึ่งถูกภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้าย.....ชาวบ้านบ้านชมเจริญ อำเภอปากชม จังหวัดเลย นอกจากได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาเหล่านั้นแล้ว ชาวบ้านที่นี่ยังได้รับการพัฒนาด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมต่อมาด้วย เช่น โรงเรียนร่มเกล้าบ้านชมเจริญ ที่ช่วยเพิ่มเติมความรู้ให้แก่บุตรหลานในพื้นที่ นับได้ว่าโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงบริเวณห้วยปลาดุกที่เกิดขึ้นเมื่อ 29 ปีที่แล้วได้ช่วยสร้างสุขให้กับพสกนิกรของพระองค์ ตลอดจนช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ต้นน้ำลำธารในเขตป่าสงวนแห่งชาติให้ยังคงอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน พัฒนาแหล่งน้ำที่นครพนมฯ วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่บ้านโพนงาม ตำบลหนองบ่อ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม พร้อมทั้งทอดพระเนตรพื้นที่เกษตรกรรมของราษฎรที่รับน้ำจากโครงการฝายทดน้ำบ้านโพนดู่ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรอ่างเก็บน้ำห้วยโท-ห้วยยาง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขต ตำบลเหล่าโพนค้อ กิ่งอำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร และได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยนางออ เพื่อจัดหาน้ำสนับสนุนฝายทดน้ำบ้านโพนดู่ และช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกสองฝั่งห้วยนางออให้มีน้ำทำการเกษตรได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ซึ่งนอกจากนั้นแล้วยังมีการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพด้วยการผันน้ำส่วนที่เหลือใช้จากอ่างเก็บน้ำห้วยโท ไปช่วยเสริมปริมาณน้ำให้แก่อ่างเก็บน้ำห้วยยาง และฝายทดน้ำบ้านโพนดู่ได้อีกด้วย.......เรียกได้ว่าเป็นการกระจายน้ำเพื่อสร้างสุขให้แก่ราษฎรให้ถ้วนทั่วกัน.