ยังคงเป็นที่สนใจสำหรับมีการเผยแพร่ข้อมูล การทำ IF สูตร 16/8 หรือกินอาหารในช่วงเวลา 8 ชั่วโมง และอดอาหารในช่วงเวลา 16 ชั่วโมง มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มสูงขึ้น 91% โดยเฉพาะในคนที่ป่วยเป็นโรคหัวใจหรือโรคมะเร็ง

ล่าสุดวันนี้ (22 มี.ค.)  รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  โพสต์เฟซบุ๊ก "หมอหมู วีระศักดิ์" ระบุว่า อย่าพึ่งเชื่อ! การกินแบบ IF เสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

ตามที่ระบุไว้ในข่าวประชาสัมพันธ์การประชุมทางวิทยาศาสตร์ของ American Heart Association: บทคัดย่อการวิจัยถือเป็นข้อมูลเบื้องต้นจนกว่าจะตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ

ตามการวิจัยเบื้องต้น Association Between Time-Restricted Eating and All-Cause and Cause-Specific Mortality ที่นำเสนอใน American Heart Association's Epidemiology and Prevention│Lifestyle and Cardiometabolic Scientific Sessions 2024 วันที่ 18-21 มีนาคม 2024

 

รายละเอียดการศึกษาและภูมิหลัง:

1. การศึกษานี้รวมผู้ใหญ่ประมาณ 20,000 คนในสหรัฐอเมริกา โดยมีอายุเฉลี่ย 49 ปี

2. ติดตามผู้เข้าร่วมการศึกษาเป็นระยะเวลาเฉลี่ย 8 ปี และสูงสุด 17 ปี

3. การศึกษานี้เป็นการรวบรวมข้อมูลแบบสอบถามการทานอาหารทางออนไลน์ ระหว่างปี 2546-2561

 

ผลการวิจัยพบว่า:

1. ผู้ที่ปฏิบัติตามรูปแบบการรับประทานอาหารให้หมดโดยใช้เวลาน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจสูงขึ้น 91%

2. ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ระยะเวลารับประทานอาหารไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมงแต่น้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองที่สูงขึ้น 66%

3. การรับประทานอาหารที่จำกัดเวลาไม่ได้ลดความเสี่ยงโดยรวมของการเสียชีวิตจากสาเหตุใดๆ เลย

4. ระยะเวลาการรับประทานอาหารมากกว่า 16 ชั่วโมงต่อวันสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในผู้ป่วยมะเร็ง

5. เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงรับประทานอาหารโดยทั่วไปที่ 12-16 ชั่วโมงต่อวัน ระยะเวลารับประทานอาหารที่สั้นลงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการมีอายุยืนยาวขึ้น

6. งานวิจัยนี้ สนับสนุนแนวทางการบริโภคอาหารที่ระมัดระวังและเป็นส่วนตัวมากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าคำแนะนำเหล่านั้นสอดคล้องกับสถานะสุขภาพของแต่ละบุคคลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ล่าสุด

โดยรวม การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการรับประทานอาหารแบบจำกัดเวลาอาจให้ประโยชน์ในระยะสั้นแต่ส่งผลเสียในระยะยาว

ข้อสังเกตส่วนตัว: งานวิจัยนี้ ยังเป็นงานวิจัยที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ อย่าพึ่งเชื่อทั้งหมด และส่วนตัวคิดว่า แม้ว่าการศึกษาจะระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานอาหารเป็นเวลา 8 ชั่วโมงกับการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ไม่ได้หมายความว่าการรับประทานอาหารแบบจำกัดเวลา (IF) ทำให้เกิดการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ควรต้องมีการวิจัยในอนาคตเพื่อตรวจสอบกลไกทางชีววิทยาที่อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างตารางการรับประทานอาหารที่จำกัดเวลา (IF) กับผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ของหัวใจและหลอดเลือด ครับ

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก: https://newsroom.heart.org/.../8-hour-time-restricted...

เรียบเรียงโดย: รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี #หมอหมูวีระศักดิ์ #ตีแผ่ทุกความจริงด้วยวิทยาศาสตร์

 

ขอบคุณ เฟซบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์