ย้ำคำสั่ง คสช.เอาผิดพ่อแม่ ปล่อยลูกก่อเหตุแล้ว 6 ราย ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการประชุมร่วมกันทั้งสถาบันอาชีวศึกษารัฐและเอกชน จำนวน 51 แห่ง ซึ่งเป็นสถานศึกษากลุ่มเสี่ยงในเขตพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และในเขตกรุงเทพฯ เพื่อทบทวนมาตรการแก้ไขปัญหาความรุนแรงและเหตุทะเลาะวิวาท ประจำภาคเรียนที่ 2/2559 ซึ่งได้รายงานสภาพปัญหาในปฏิบัติงานที่ผ่านมา และการเพิ่มมาตรการเร่งด่วน ให้มีการปรับระบบการดูแลนักเรียน นักศึกษา ระบบแนะแนว และระบบครูที่ปรึกษา เพิ่มการติดต่อสื่อสารระหว่างสถานศึกษากับผู้ปกครองให้มากขึ้น เพิ่มมาตรการในการกวดขันวินัย รวมทั้งปรับการเรียนการสอนเชิงคิดวิเคราะห์มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเด็กไม่คิด จึงทำผิด ดร.สุเทพ กล่าวต่อไปว่า ส่วนระบบการบริหารในวิทยาลัย ให้ดำเนินการ 3 ส่วน ดังนี้ 1.ให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินงาน 2.ทุกวิทยาลัยรักษาความต่อเนื่องในทุกกิจกรรมโดยเคร่งครัด และ 3.ให้วิทยาลัยสร้างเครือข่าย เกี่ยวกับการป้องปราม เช่น สร้างเครือข่ายไปยังทหาร ตำรวจ ประกันสังคม โดยให้มีการประสานกันภายในพื้นที่ สำหรับผู้ปกครองให้ประชาสัมพันธ์ ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยบิดา มารดาหรือผู้ปกครองต้องยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็กและเยาวชนให้ได้ เพราะหากเด็กกระทำความผิดผู้ปกครองก็จะมีความผิดตามกฎหมายด้วย "ขณะนี้ผู้ปกครองบางส่วนยังไม่เข้าใจจึงต้องเน้นย้ำ โดยหลังจาก คสช.มีคำสั่งออกมา ตอนนี้มีเด็ก 6 ราย ที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาทและถูกดำเนินการตามกฎหมาย มาตรา 30/2559 ซึ่งผู้ปกครองไม่ทราบว่ามีคำสั่งนี้และต้องถูกดำเนินคดีด้วย และหาก สอศ.สืบข้อเท็จจริงได้ว่าสถานศึกษาปล่อยปละละเลย ให้เกิดเหตุซ้ำซาก ก็จะใช้มาตรการทางการบริหารเข้ามาดูแล ทั้งวิทยาลัยรัฐและเอกชน ซึ่งวิทยาลัยเอกชนนั้นสามารถสั่งปิดสถานศึกษาได้ ทั้งนี้ ได้มอบให้แต่ละวิทยาลัย คิดโครงการที่สื่อถึงการแก้ปัญหาทะเลาะวิวาท ทำแผนปรับปรุงข้อบกพร่องให้แล้วเสร็จภายใน2สัปดาห์แล้วนำเสนอให้ สอศ.พิจารณาต่อไป" ดร.สุเทพ กล่าวและว่า ส่วนมาตรการระยะกลาง อาทิ ให้มีการคัดกรองก่อนเข้าศึกษา ร่วมกันจัดกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ ปรับหลักสูตรเน้นสร้างทักษะชีวิต ควบคุมตนเอง สร้างคุณธรรมจริยธรรม เป็นพลเมืองดี เคารพสิทธิผู้อื่น แก้ปัญหาด้วยสันติวิธี และจัดให้มีการเรียนรักษาดินแดน (รด.) ตั้งแต่ ปวช.ปีที่ 1 รวมถึงนักศึกษาระบบทวิภาคีด้วย