หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชีย ณ ชั่วโมงนี้ กำลังผจญชะตากรรมกับฝุ่นหมอกควัน หรือมลภาวะทางอากาศ จนส่งผลกระทบกับสุขภาพของผู้คนอย่างแสนสาหัส

โดยชะตากรรมจากฝุ่นหมอกควันที่ว่า ก็ผจญกันมานานหลายเดือนแล้ว หรือนับตั้งแต่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาวที่เพิ่งผ่านพ้นไปมาเลยก็ว่าได้ ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลที่มีสภาพอากาศแห้งจัด จนส่งผลให้ฝุ่นละอองลอยฟุ้งกระจายไปในอากาศแตกต่างจากช่วงฤดูฝน ที่มีความชื้นชุ่มฉ่ำของฝน ทำให้ฝุ่นละอองเหล่านั้นไม่ฟุ้งกระจายไป

พิษภัยอันตรายของมลภาวะทางอากาศ จากฝุ่นละอองหมอกควันข้างต้น ก็ถึงกับทำให้ “องค์การอนามัยโลก” หรือ “ดับเบิลยูเอชโอ” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ฮู” (WHO : World Health Organization) นั้น ต้องออกแนวทาง หรือไกด์ไลน์ ว่าด้วยการจัดอันดับคุณภาพอากาศของเมืองต่างๆ จำนวนกว่า 100 เมือง ในประเทศทั้งหลาย ซึ่งในครั้งนี้ มุ่งเป้าไปที่ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งกำลังผจญชะตากรรมกับปัญหามลภาวะทางอากาศอย่างรุนแรง ณ เวลานี้

ไกด์ไลน์ขององค์การอนามัยโลกข้างต้น ก็ได้อ้างอิงกับรายงานของ “ไอคิวแอร์ (IQAir)” บริษัทด้านเทคโนโลยีคุณภาพอากาศ อันมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองโกลดัช ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ศึกษาติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศในประเทศต่างๆ ของภูมิภาคเอเชีย ตลอดช่วงปี 2023 (พ.ศ. 2566) ที่ผ่านมา

โดยดับเบิลยูเอชโอ ระบุว่า ในจำนวน 134 เมืองของประเทศในภูมิภาคเอเชียนั้น ล้วนประสบปัญหามลภาวะทางอากาศอย่างเลวร้าย ภายหลังจากทางไอคิวแอร์ ศึกษาติดตามคุณภาพทาอากาศในพื้นที่กว่า 7,812 เมืองทั่วโลก

ในจำนวน 134 เมืองข้างต้นนั้น ปรากฏว่า อยู่ในประเทศอินเดียถึง 83 เมือง ซึ่ง “ไอคิวแอร์” ระบุว่า คุณภาพของอากาศใน 83 เมืองประเทศอินเดียที่ว่า ก็ต่ำกว่ามาตรฐานที่ “องค์การอนามัยโลก” กำหนดไว้ถึง 10 เท่าด้วยกัน และแน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนพลเมืองทั้ง 83 เมืองอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ทั้งนี้ ปัญหามลภาวะทางอากาศที่บรรดาเมืองเหล่านี้ประสบ นอกจากเรื่องฝุ่นหมอกควันแล้ว ก็ยังมีเรื่องเกี่ยวกับปัญหาของ “ฝุ่นละอองอนุภาคขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน” หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า “ฝุ่นพีเอ็ม 2.5” อีกด้วย ซึ่งฝุ่นพีเอ็ม 2.5 นี้ ก็ถูกจัดให้เป็นฝุ่นพิษจิ๋ว ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์และสัตว์อื่นๆ ในพื้นที่อย่างใหญ่หลวง

ตามรายงานของ “ไอคิวแอร์” ระบุว่า “เบกูซาไร” เมืองหลวงทางอุตสาหกรรมและทางการเงินของรัฐพิหาร ประเทศอินเดียว ก็ถูกจัดให้เป็นเมืองที่มีคุณภาพทางอากาศเลวร้ายหนักที่สุด

โดยการศึกษาติดตาม พบว่า เมืองเบกูซาไรแห่งนี้ มีปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในระดับตัวเลขความเข้มข้น 118.9 ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นตัวเลขที่เกินค่ามาตรฐานตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึง 23 เท่า

ส่วนเมืองอื่นๆ ในอินเดีย ที่เผชิญกับปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ระดับรุนแรงรองๆ ลงมาตามลำดับ ได้แก่ คูวาหาฏี ในรัฐอัสสัม และกรุงนิวเดลฮี รวมถึงเมืองมุลลานปูร์ ในรัฐปัญจาบ

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศในอินเดียครั้งล่าสุด ซึ่งมีการเปิดเผยเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏว่า กรุงนิวเดลฮี หรือนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย กลายเป็นเมืองที่มีมลภาวะอากาศเลวร้ายที่สุดในโลกในเวลานี้ ด้วยค่าเฉลี่ยดัชนีฝุ่นพีเอ็ม2.5 อยู่ที่ 92.7 ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร และค่าดัชนีคุณภาพอากาศ หรือเอคิวไอ (AQI) เกินกว่าระดับ 460 อันเป็นตัวเลขที่ถือได้ว่า เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์เรา และสัตว์ต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง

รายงานของ “ไอคิวแอร์” ยังเปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่นหมอกควัน และพีเอ็ม 2.5 ในประเทศอินเดีย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนมากถึง 1.3 พันล้านคน จากจำนวนประชากรของอินเดียทั้งสิ้นราวกว่า 1.43 พันล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 96 ด้วยกัน ซึ่งประชากรชาวอินเดียจำนวน 1.3 พันล้านคนเหล่านี้ อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ประสบปัญหามลภาวะทางอากาศ หรือมีคุณภาพทางอากาศเลวร้าย ในระดับที่มากกว่าองค์การอนามัยโลกกำหนดมาตรฐานคุณภาพทางอากาศไว้ถึง 7 เท่าโดยเฉลี่ย

นอกจากอินเดีย ตามรายงานของ “ไอคิวแอร์” ก็ระบุว่า พื้นที่เมืองในประเทศอื่นๆ ของเอเชียใต้ และเอเชียกลาง ก็ประสบความเลวร้ายของคุณภาพอย่างหนักหนาสาหัสด้วยเหมือนกัน ได้แก่ บังกลาเทศ ปากีสถาน ในเอเชียใต้ และทาจิกิสถาน ในเอเชียกลาง

สาเหตุปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เกิดปัญหามลภาวะทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นหมอกควัน และพีเอ็ม2.5 นั้น ก็มาจากการเผาพื้นที่ทางเกษตร ควันจากไฟป่า ควันที่ปล่อยจากท่อไอเสียของยวดยานพาหนะ ควันที่ปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรม และจากการก่อสร้างในพื้นที่การก่อสร้างขนาดใหญ่

ฝุ่นจากการก่อสร้างในพื้นที่โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหามลภาวะทางอากาศ (Photo : AFP)

ส่วนผลกระทบของฝุ่นหมอกควัน และพีเอ็ม2.5 ต่อสุขภาพของมนุษย์เรานั้น ก็ได้แก่ ทำให้เกิดโรคของระบบทางเดินหายใจต่างๆ ขึ้น เช่น โรคหอบหืด โรคปอด รวมถึงทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบเลือด ระบบหัวใจ โรคมะเร็งชนิดต่างๆ และระบบสมอง โดยมีรายงานว่า ฝุ่นพิษที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศข้างต้น ยังทำให้สมองมีปัญหา ก่อให้เกิดภาวะความรู้คิดในเด็กต้องบกพร่องได้ด้วย สำหรับ การศึกษาติดตามชีวิตความเป็นอยู่ของเหล่าเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ประสบกับปัญหามลภาวะทางอากาศ

โดยโรคร้ายจากปัญหามลภาวะทางอากาศดังกล่าวนั้น ก็คร่าชีวิตมนุษย์เราในแต่ละปีมิใช่น้อย ซึ่งตามการรายงานทั้งของไอคิวแอร์ และองค์การอนามัยโลก ก็ระบุว่า มนุษย์เราต้องเสียชีวิตจากโรคร้ายที่มาจากปัญหามลภาวะทางอากาศมากกว่า 5 – 7 ล้านคนต่อปี

การรณรงค์ให้ประชาชนเห็นพิษภัยของปัญหามลภาวะทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในอินเดีย (Photo : AFP)

เรียกว่า เป็นอันตรายร้ายแรงเพราะคร่าชีวิตมนุษย์เรา ได้มากกว่าวิกฤติการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 หรือโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่งสงครามการสู้รบของมนุษย์เราด้วยกันเองในหลายสมรภูมิรบเสียอีก