สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปสังเกตการณ์กิจกรรม “ลงแขก ลงคลอง” จับปลาหมอสีคางดำ ที่ประมงจังหวัดสมุทรสงครามจัดขึ้น ภายใต้โครงการ "ปฏิบัติการล่า ปลาหมอสีคางดำ" ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำร่องใน 5 จังหวัด คือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร มีเป้าหมายในการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม กล่าวคือ ลดปริมาณปลา ควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด และนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาและได้รับความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ เอกชน และคนในชุมชน ในการจัดการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง 

ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม กำหนดเป้าหมายในการจัดกิจกรรม “ลงแขก ลงคลอง” เดือนละ 1 ครั้ง โดยครั้งต่อไปกำลังหาพื้นที่แหล่งน้ำในชุมชน เพื่อสร้างความตระหนักรู้และเข้าใจในการจับปลาหมอสีคางดำอย่างถูกวิธี ด้วยเครื่องมือที่เหมาะสม ตลอดจนนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถร่วมตัวกันทำในชุมชนได้ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับครัวเรือน เช่น ปลาแดดเดียว ปลาร้า น้ำปลา ข้าวเกรียบ หรือเมนูอาหารชนิดอื่น รวมถึงการนำไปตัดแต่งเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบส่งร้านอาหารในพื้นที่ สร้างสรรค์เป็นเมนูอาหารจากพิเศษ นอกจากนี้ กองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำของกรมประมง ยังได้นำเนื้อปลาหมอสีคางดำไปวพัฒนาเป็นอาหารในหลายเมนู เช่น ปลาแผ่น (สำหรับทานเล่น) ไส้อั่ว และน้ำปลา 

จากการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านประมงในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ทำให้รับทราบอีกหนึ่งปัญหาที่อาจถูกมองข้าม คือ คนในชุมชน หรือ คนพื้นที่ ไม่นิยมบริโภคปลาหมอสีคางดำ เนื่องจากแต่ละจังหวัดมีอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง อาหารมีความหลากหลายและเพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะปลาทะเลที่ได้รับความนิยมมากกว่าปลาชนิดนี้ จึงไม่ถูกจับไปเป็นอาหาร ทำให้ปลาหมอสีคางดำยังคงระบาดในแหล่งน้ำและคลองของจังหวัดนำร่อง 

“จังหวัดสมุทรสงคราม เคยเปิดให้คนพื้นที่และคนทั่วไปสามารถจับปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำได้ ซึ่งส่วนใหญ่คนที่มาร่วมกิจกรรม เป็นแรงงานต่างด้าวที่มาทำงานในจังหวัดใกล้เคียง มาทอดแหจับปลาและจับในปริมาณที่พอกิน ไม่ได้จับจำนวนมากเพื่อนำไปเพิ่มมูลค่าตามแนวทางที่วางไว้ ทำให้การขยายพันธุ์ปลาเป็นไปอย่างรวดเร็ว” ผู้เชี่ยวชาญด้านประมง กล่าว 

ในฐานะผู้บริโภค ขอเสนอให้ภาครัฐขยายผลจากกิจกรรม “ลงแขก ลงคลอง” โดยกรมประมงควรเพิ่มกิจกรรมในแต่ละจังหวัด เพื่อระดมพลคนไทยมาลงแขกจับปลาในพื้นที่เป้าหมายอย่างต่อเนื่อง อาจจัดเป็นกิจกรรมประจำจังหวัดปีละ 2-3 ครั้ง ตามความเหมาะสม เชื่อว่าจะมีผู้สนใจและผู้ที่เห็นโอกาสในการสร้างรายได้จากปลาหมอสีคางดำ เพื่อให้การบริโภคแพร่หลายและมีความต้องการมากขึ้น ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับปลานิล ที่เปลี่ยนสถานะจากเอเลี่ยนสปีชี่ส์ เป็นปลาเศรษฐกิจไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อนั้นคงไม่จำเป็นต้องกำจัดปลาหมอสีคางดำอีกต่อไป

กรมประมง ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาปลาหมอสีคางดำใน 4 แนวทางหลัก คือ 1. ส่งเสริมการจับปลาด้วยเครื่องมือที่เหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งอวนล้อม อวนลาก และทอดแห 2. การกำจัดด้วยวิธีธรรมชาติ โดยการปล่อยปลานักล่า เช่น ปลากะพง และปลาอีกง 3. สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าปลาหมอสีคางดำ 4. นำไปทำปลาป่น เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยมีการประสานงานกับโรงงานปลาป่น ให้มารับซื้อจากชุมชนในราคายุติธรรม จึงหวังว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในวันนี้ จะช่วยฟื้นฟูสมดุลธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และสัตว์น้ำพื้นถิ่นให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน

โดย : นรชาติ สรงอินทรีย์ นักวิจัยอิสระด้านสัตว์น้ำ