ต้องยอมรับว่าปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ยังคงมีผู้ตกเป็นเหยื่ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางภาครัฐได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหา ทั้งการกวาดขัดจับกุมผู้ที่เป็นอาชญากรในประเทศ และการร่วมมือกับต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ในการร่วมกันจับกุม แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการได้หมด

ทั้งนี้จากข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ระหว่าง วันที่ 18 - 22 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา นั้น “นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล” โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) เผยว่า  Thai Police Online รับแจ้งคดีออนไลน์ทั้งหมด 4,490 เรื่อง มูลค่าความเสียหาย 508,563,700 บาท และมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวงผ่านเครือข่ายออนไลน์ในหลายรูปแบบจำนวน 5 คดี ร้องเรียนมายัง AOC1441 ประกอบด้วย คดีที่ 1 หลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 60 ล้านบาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายได้รู้จักมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook และได้มีการชักชวนให้ลงทุนเทรดทองคำ อ้างว่าได้รับผลตอบแทนสูงจากเปอร์เซ็นต์ที่ร่วมลงทุน ,คดีที่ 2 หลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 70 ล้านบาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายรู้จักมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook และได้มีการเพิ่มเพื่อนทาง Line ชักชวนให้ลงทุนเทรดตลาดหุ้นฮ่องกง https://chhlweb.tfdcdcsite/ อ้างได้รับผลตอบแทนสูง จากเปอร์เซ็นต์ที่ลงทุน ,คดีที่ 3 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน มูลค่าความเสียหาย 9 ล้านบาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์ มิจฉาชีพอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจรับแจ้งความออนไลน์จากเพจ Facebook แจ้งว่าเงินในบัญชีของผู้เสียหายถูกนำไปฟอกเงิน อยู่ระหว่างการส่งหลักฐานให้ทางทนาย เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจให้ผู้เสียหายโอนเงินไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางการเงินและจะโอนเงินคืนให้ภายหลัง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงิน

คดีที่ 4 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 109,000 บาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายพบโฆษณาชักชวนหารายได้พิเศษจากช่องทาง Line เป็นลักษณะงานกระตุ้นยอดขายสินค้า ผลตอบแทนรายได้ 5-20% ของราคาสินค้า ผู้เสียหายสนใจจึงติดต่อพูดคุยตามคำแนะนำของมิจฉาชีพ โดยให้โอนเงินไปเพื่อเพิ่มยอดสินค้าให้มีความน่าเชื่อถือ ระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริง ภายหลังเริ่มโอนเงินเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ และคดีที่ 5 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 5,370 บาท รายละเอียดคดี พบว่า มิจฉาชีพสร้างเพจ Facebook ปลอม ชื่อว่า Baiyoke Skye Hotel ผู้เสียหายหลงเชื่อคิดว่า เป็นเพจจริงของโรงแรมใบหยกสกายกรุงเทพ ประตูน้ำ จึงได้ติดต่อจองรับประทานอาหาร โดยในครั้งแรกโอนเงินมัดจำ และค่าประกันไป ต่อมามิจฉาชีพแจ้งว่ายังมีค่าประกันเพิ่มเติมที่ต้องชำระอีก แต่ในครั้งหลังผู้เสียหายไม่ได้โอนไปให้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

และจากความจริงจังในการปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ล่าสุด “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม”  (ดีอี) จับเข่าประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชา  เซ็น “เอ็มโอยู”  กำจัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาค ซึ่งทาง “ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ” ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า กระทรวงดีอี ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนจัดตั้งคณะทำงาน ASEAN Working Group on Anti - Online Scams เพื่อปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์และแก๊ง Call center โดยมีการประชุมกันครั้งที่ 1 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิก พบว่า การหลอกลวงออนไลน์ในอาเซียนมีหลากหลายช่องทาง เช่น SMS โทรศัพท์ และผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนกฎหมาย กฎระเบียบ แนวทางการจัดการปัญหา การตอบโต้มิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ ของประเทศสมาชิก ที่ประชุมได้ตกลงให้มีการแลกเปลี่ยนและรวบรวมข้อมูลระหว่างกัน เพื่อยกระดับไปสู่มาตรการและนโยบายการป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงออนไลน์ในระดับอาเซียน เช่น การปิดกั้นเว็บไซต์ในอาเซียน การกำหนดกลไกประสานงานโดยแต่งตั้งผู้ประสานงานหลักของแต่ละประเทศ และการพิจารณาแผนการทำงานของคณะทำงานต่อไป

นอกจากนี้ กระทรวงดีอีได้หารือทวิภาคีกับหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ โดยเฉพาะแก๊ง Call Center และ Online Scam ซึ่งเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่ไทยมีบทบาทสำคัญในการยกระดับความร่วมมือและการดำเนินงานของอาเซียนในการจัดการและรับมือกับปัญหาเหล่านี้ จากการหารือพบว่ากัมพูชามีแนวทางในการปิดกั้น URL ที่เข้าข่ายหลอกลวง และการส่งข้อมูลให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมและ ISP ดำเนินการปิดกั้นที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งไทยชื่นชมและต้องการให้ความร่วมมือในเรื่องนี้

“ที่ประชุมเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินโครงการประเมินผลแผนแม่บทดิจิทัลอาเซียนปี 2025 (ADM 2025) เพื่อประเมินความสำเร็จของอาเซียนในการปรับเปลี่ยนเป็นประชาคมผู้นำด้านดิจิทัลและขับเคลื่อนบริการ เทคโนโลยี และระบบนิเวศด้านดิจิทัล ซึ่งจะช่วยในการวางแนวนโยบายที่เหมาะสมในการพัฒนาด้านดิจิทัลของอาเซียนในระยะถัดไปและสนับสนุนการจัดทำแผนแม่บทดิจิทัลของอาเซียนปี 2030 การเยือนกัมพูชาครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ”

ขณะที่หน่วยงานที่เฝ้าระวัง “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย “นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล” รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการเลขาธิการ กสทช. ระบุว่า ไม่มีนโยบายรับลงทะเบียนซิมเพื่อยืนยันตัวตนผ่านทุกช่องทาง ซึ่งขณะนี้มีมิจฉาชีพได้ทำการแอบอ้างชื่อ ‘สำนักงาน กสทช.’ โดยดำเนินการส่งข้อความ หรือ SMS หลอกลวงประชาชน อ้างให้กดลิงก์เพื่อลงทะเบียนยืนยันตัวตนการถือครองซิมก่อนจะถูกระงับ

เชื่อว่าความตั้งใจในการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์อย่างจริงจัง!!!

วันหนึ่งอาชญากรรมออนไลน์จะหมดไปจากประเทศไทย!!