มอบอำนาจผู้ปฏิบัติงาน 17 ตำแหน่ง จับปรับเข้ม ลดเสี่ยงเด็กเยาวชนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยแนวทางดำเนินงานด้านการป้องกันบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาสังกัด กทม.ว่า จากมาตรการตรวจค้นกระเป๋านักเรียน พบเด็กอายุ 7 ปี พกบุหรี่ไฟฟ้ารูปแบบกล่องนมเข้าไปโรงเรียน ขณะที่ กทม.รณรงค์ให้เด็กดื่มนม ปัญหาสำคัญคือ บุคลากรยังรู้ไม่เท่าทันรูปแบบต่าง ๆ ของบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีการพัฒนาให้ยากต่อการตรวจค้น เช่น เลียนแบบอุปกรณ์การเรียน กล่องนม ตุ๊กตา ของเล่น และขนมต่าง ๆ สามารถเข้าถึงเด็กได้ง่าย กทม.จึงมุ่งเป้าให้ความรู้บุคลากรที่ใกล้ชิดนักเรียนทั้ง 437 โรงเรียน ได้รู้เท่าทัน เพื่อเข้าใจแนวทางป้องกันและการดำเนินการเกี่ยวกับเด็ก นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนวทางป้องกันที่ต้นทางให้รัฐบาลนำไปพิจารณา เช่น ดำเนินการกับร้านขายทั่วไป และหาวิธีดำเนินการตัดร้านขายออนไลน์ หรือคัดกรองออกจากระบบอินเทอร์เน็ต รวมถึง กทม.ต้องมีการรณรงค์เพิ่มเติมในส่วนผู้บริหาร กทม.และข้าราชการต่าง ๆ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เด็กนักเรียนในการไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

“สำหรับผู้ใหญ่ อาจสามารถพูดคุยกันด้วยหลักเกณฑ์บางอย่างได้ ผ่านหัวหน้าสายงานข้าราชการต่าง ๆ แต่กับเด็กเขาอาจเข้าไม่ถึงข่าวสารที่เราพูดถึง ต้องรณรงค์ตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน ปัจจุบันช่องทางการรับรู้มีหลายชั้น ต้องมีการกำชับมากขึ้น ส่วนการจะประกาศให้โรงเรียนสังกัด กทม.เป็นโรงเรียนสีขาวปลอดยาเสพติดและบุหรี่ไฟฟ้าได้ ต้องร่วมมือกันทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ปัญหาสำคัญตอนนี้คือการจัดการที่ต้นน้ำ เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเข้าถึงเยาวชนง่ายมาก“ นายศานนท์ กล่าว

ด้าน พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า บุหรี่ไฟฟ้าจัดอยู่ในสินค้าอันตรายห้ามจำหน่ายตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 คุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 แสนบาท ส่วนผู้ครอบครอง ผิด พรบ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 คุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ จะมีการประชาสัมพันธ์ในวงกว้างต่อไป และหาทางออกเรื่องการครอบครอง โดยเฉพาะกรณีในสถานศึกษา

ส่วนแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่ กทม. ปัจจุบัน สคบ.ได้กระจายอำนาจให้ กทม. (หน่วยงานท้องถิ่น) ในการจับกุมเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยกำหนดตำแหน่งข้าราชการสังกัดกรุงเทพมหานครให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งหมด 17 ตำแหน่ง ได้แก่ 1.ผอ.สำนักเทศกิจ 2.ผอ.สำนักอนามัย 3.ผอ.สำนักพัฒนาสังคม 4.ผอ.สำนักการโยธา 5.รอง ผอ.สำนักอนามัย 6.ผอ.สำนักกฎหมายและคดี กทม. 7.ผอ.สำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย 8.ผู้ช่วย ผอ.สำนักงานเขต 9.นิติกร 10.เจ้าพนักงานเทศกิจ 11.เจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง 12.เภสัชกร 13.ผู้จัดการฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล 14.วิศวกร 15.สถาปนิก 16.นักจัดการการโยธา และ 17.นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวถือเป็นเจ้าพนักงาน สคบ.ตามกฎหมาย สามารถดำเนินการจับกุมเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าได้

#ข่าววันนี้ #กทม #บุหรี่ไฟฟ้า