ธปท.ย้ำจุดยืนแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต มุ่งเป้ากลุ่มเปราะบาง ระบุ ศก.ไทยเดือน ก.พ.67 ขยายตัวต่ำ

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จุดยืนของ ธปท.ต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มุมมองของ ธปท.ยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิม กล่าวคือ ธปท.ยังมองเห็นความจำเป็นในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในรายละเอียดของการบริโภคเอกชน จะพบว่ามีหลายกลุ่มที่รายได้อาจจะมากกว่าในช่วงก่อนโควิดไปแล้ว และมีโอกาสเพิ่มต่อเนื่อง หากได้รับสิทธิในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไปด้วย Value for Money อาจจะไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งผลการกระตุ้นเศรษฐกิจย่อมมาก-น้อย แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม

ทั้งนี้ถ้าแตกในเรื่องการบริโภคออกมาพบว่า จะมีกลุ่มที่รายได้กลับมาเกินจุดก่อนโควิดไปแล้ว และรายได้อาจยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มนี้หากได้ไป ในแง่ประโยชน์หรือผลลัพธ์ที่จะได้ ถ้าเราดู value for money อาจไม่ได้เยอะขนาดนั้น คงต้องดูในแง่ผลที่จะเกิดขึ้นในแง่การกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เท่ากันทั้งหมด แต่มีกลุ่มที่มีความจำเป็นและควรจะได้รับการดูแล ซึ่งก็คือกลุ่มเปราะบาง แต่การพิจารณารายละเอียดต่างๆ คงต้องรอวันที่ 10 เม.ย.67

สำหรับเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ.67 โดยรวมยังขยายตัวในระดับต่ำ โดยภาคบริการยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามรายรับและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ด้านการลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นในบางหมวด ขณะที่การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากหลายกลุ่มสินค้ายังถูกกดดันจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า สินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยเชิง โครงสร้างการผลิตของไทย ด้านการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากทั้งรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลาง

ส่วนด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเงินเฟ้อทั่วไปน้อยลง จากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ตามราคาน้ำมันเบนซินที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวลดลงเล็กน้อย ตามราคาอาหารในหมวดพื้นฐานจากผลของฐานที่สูงในปีก่อน ตลาดแรงงานทรงตัวจาก เดือนก่อนโดยการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงถูกชดเชยด้วยการจ้างงานในภาคบริการ ขณะที่การระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นทั้งสินเชื่อ ตราสารหนี้และตราสารทุน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตาม ดุลการค้า และดุลบริการ รายได้ และเงินโอน

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค.67 ยังมีแรงส่งจากการท่องเที่ยว แต่ยังคงต้องติดตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าและการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ส่วนความเสี่ยงที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของการค้าโลก โดยเฉพาะการค้าที่เกี่ยวกับภาคการผลิต 2.ผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และ3.การใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ 

#แบงก์ชาติ #ดิจิทัลวอลเล็ต #ข่าววันนี้ #กลุ่มเปราะบาง