"เวิลด์แบงก์" ปรับลด”จีดีพี”ไทยปี 67 เหลือโต 2.8% จากเดิม 3.2% เหตุพิษเศรษฐกิจซึม  งบประมาณรายจ่ายของรัฐล่าช้า

 เมื่อวันที่ 1 เม.ย.67 นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์)ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า รายงานอัพเดทเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เมษายน 2567 ได้ปรับลดประมาณจีดีพีของประเทศไทยมาที่ระดับ 2.8% จากเดิมที่ 3.2% ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทั้งภายนอกได้แก่ การชะลอตัวของการค้า รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยภายในประเทศได้แก่ความล่าช้าของงบประมาณที่ส่งผลต่อการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่เงินเฟ้อที่ลดลงและติดลบนั้นเป็นผลจากการตรึงราคาพลังงาน โดยมองว่าในระยะต่อไปเงินเฟ้อจะเข้ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)


 ทั้งนี้ การคาดการณ์จีดีพีไทยดังกล่าวไม่ได้รวมผลจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลที่ประเมินว่า จะมีผลต่อจีดีพีประมาณ 1% กระจายไปในปีนี้และปีหน้าหากสามารถทำได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ตามที่รัฐบาลได้แถลง แต่นโยบายดังกล่าวก็มีต้นทุนทางการคลัง ซึ่งประเมินว่าจะเป็นการเพิ่มหนี้สาธารณะในสัดส่วนประมาณกว่า 2%
 ขณะเดียวกันประเทศไทยควรเน้นพัฒนาในด้านต่างๆอย่างยั่งยืนอาทิ ด้านการศึกษาให้สามารถกระจายได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียม การพัฒนาด้านนวัตกรรม-โครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างศักยภาพฝนการแข่งขันของประเทศในอนาคต และรองรับภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และการพัฒนาเมืองรองต่างๆให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มการสร้างรายได้ในอนาคต โดยเฉพาะรายได้ด้านบริการที่ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ขณะที่สถานะทางการคลังก็เริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น จึงต้องมีการวางแผนในการปรับฐานะทางการคลังให้สมดุลโดยเฉพาะการจัดหารายได้


 "เราอาจจะให้ความสำคัญเป้าหมายการเติบโตที่เป็นตัวเลข แต่อีกจุดที่สำคัญเป็นเรื่องของการพัฒนา และการปฎิรูปในอีกหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ทักษะแรงงาน การปฎิรูปธุรกิจไปสู่สังคม low carbon เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งมีโอกาสเติบโตได้ถึง 5%ในอีก10ปีข้างหน้าก็เป็นได้"