“บิ๊กแรงงาน”ชงขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่เป็น  400 บาท เข้าครม.วันนี้ คลุมพื้นที่ 10 จังหวัด เผยปรับขึ้นค่าแรงไม่จำเป็นต้องประกาศปีละครั้ง ยอมรับก่อนสิ้นปีหากปรับรวดเดียวอาจเสี่ยงถูกเลิกจ้าง 

เมื่อวันที่ 1 เม.ย.67  นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งที่ 2 ประจำปี 2567 ว่า ตามที่คณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 (ไตรภาคี) ประกอบด้วยฝ่ายราชการ ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง มีมติร่วมกันในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งที่ 2 ประจำปี 2567 นำร่องในบางพื้นที่รวม 10 จังหวัด ในกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป ซึ่งทำให้มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่มากกว่า 400 บาทต่อวันนั้น ขอยืนยันว่ามติดังกล่าวเป็นการหารือร่วมกันของไตรภาคี โดยรมว.แรงงานไม่ได้มีส่วนในการเสนอข้อคิดเห็นในที่ประชุม เพียงแต่หารือร่วมกับฝ่ายราชการว่ากิจการใด ในพื้นที่ใดมีความเหมาะสมในการปรับขึ้นค่าจ้าง ก็ขอให้ทางอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไปศึกษาความเป็นไปได้ แล้วนำมาหารือกันอีกครั้งในที่ประชุมไตรภาคี ซึ่งตนจะนำมติดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 2 เม.ย. จากนั้นก็จะมีการประกาศบังคับใช้ให้ทันวันที่ 13 เม.ย.นี้ ตามที่ได้วางกรอบเวลาไว้

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า หลังจากนำร่องใน 10 จังหวัดแล้ว ก็จะต้องมีการศึกษาข้อมูลและดูต่อว่ามีอาชีพอะไรที่ควรปรับเพิ่มได้ในปีนี้ ซึ่งในมิติใหม่ที่ตนได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้มาดูแลกระทรวงแรงงาน เราจะไม่ใช้ข้อมูลเดิมๆ ในการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปีละ 1 หน ตนคิดว่าในแต่ละปี เศรษฐกิจของเราตลอดปีไม่นิ่ง ต้นปีอาจไม่ดี แต่ก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เสร็จสิ้นแล้ว ก็จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งต้องไปดูว่าหลังจากนั้นมีกิจการใดที่มีความเติบโต และอยู่ในจังหวัดใดบ้าง ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไปศึกษา แล้วนำส่งเข้าสู่คณะกรรมการชุดใหญ่ ดังนั้น มิติใหม่ เราไม่จำเป็นต้องประกาศค่าจ้างขั้นต่ำปีละ 1 ครั้ง เราควรประกาศได้มากกว่านั้น เชื่อว่าก่อนจะถึงสิ้นปีปฏิทิน จะสามารถประกาศค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ในสาขาอาชีพอื่นๆ ได้เพิ่ม

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีลูกจ้างในอาชีพอื่นๆ จังหวัดอื่นๆ วิพากษ์วิจารณ์การปรับค่าจ้างเฉพาะบางพื้นที่ บางอาชีพ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้าง ต้องดูความพร้อมของผู้ประกอบการ โดยจากการศึกษาชี้ชัดว่ายังไม่สามารถปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั้งจังหวัดได้ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่มีอัตราการถือครองแรงงานมากถึงร้อยละ 80 เป็นอย่างน้อย หรือราว 3-5 ล้านคน การปรับขึ้นค่าจ้างก็จะเกิดความเสี่ยงในการเดินหน้าต่อไปไม่ได้ อาจทำให้เกิดการเลิกจ้างงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากการประกาศขึ้นค่าจ้างทำให้สถานประกอบการต้องปิดกิจการ ดังนั้น กระทรวงแรงงานจึงต้องพิจารณาเรื่องนี้เป็นสำคัญ

เมื่อถามว่า แนวคิดในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า 1 ครั้ง ใน 1 ปี มีแนวทางผลักดันให้สำเร็จอย่างไร นายพิพัฒน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องหารือกับคณะกรรมการไตรภาคี โดยคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดต้องทำงานมากขึ้น จากเดิมที่ทำงานปีละ 1 ครั้ง ต่อไปก็ต้องทำงานทั้งปี แต่เชื่อว่าคณะอนุกรรมการฯ ยินดีที่จะทำ