วันที่ 2 เม.ย.67 นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า กระทรวงยุติธรรม ภายใต้การนำของ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีนโยบายสำคัญในการนำความยุติธรรมไปสู่ประชาชน ยกระดับหลักนิติธรรม (Rule of Law) ให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีความเสมอภาคทุกชนชั้น โดยมีกระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักในการอำนวยความยุติธรรม และช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559) ซึ่งมีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

“โดยในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ให้ความช่วยเหลือเยียวยาไปแล้วจำนวน 5,131 ราย เป็นเงินกว่า 266 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับปีงบประมาณพ.ศ. 2566 ในห้วงระยะเวลาเดียวกัน โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจำนวน 1,153 ราย เป็นเงินกว่า 53 ล้านบาท ซึ่งถือว่าบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ก่อนที่จะสิ้นไตรมาส 2 ของปี พ.ศ. 2567  อย่างไรก็ดี กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จะยังคงมุ่งมั่นพร้อมยืนเคียงข้าง "ผู้บริสุทธิ์" และพัฒนาการให้ความช่วยเหลือเหยื่อตามมาตรฐานสากลให้ครอบคลุมหลายมิติยิ่งขึ้น“ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ กล่าว

ด้านนายธีรยุทธ แก้วสิงห์ โฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวเสริมว่า การช่วยเหลือประชาชนที่กลายเป็นผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “เหยื่อและแพะ” นั้น  ผู้มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือในกรณีที่ผู้เสียหาย (เหยื่อ) ต้องเป็นผู้เสียหายที่ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ เช่น กรณีถูกทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บ หรือถูกกระทำให้เสียชีวิต ถูกกระทำอนาจาร ข่มขืนกระทำชำเรา ส่วนกรณีจำเลยหรือแพะนั้น ต้องเป็นจำเลยที่ถูกพนักงานอัยการสั่งฟ้องคดีและถูกขังในระหว่างพิจารณาคดี ต่อมาได้มีการถอนฟ้อง หรือศาลได้มีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดให้ยกฟ้อง เนื่องจากปรากฎข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ทั้งนี้ ผู้เสียหายและจำเลยต้องยื่นขอรับการเยียวยา ภายในระยะเวลา 1 ปี โดยนับแต่วันที่ผู้เสียหายถูกกระทำผิดหรือรู้ว่าเป็นการกระทำผิด ส่วนจำเลยนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง

โฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายและจำเลยไม่ให้เสียสิทธิดังกล่าว เมื่อผู้เสียหายหรือทายาทไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญา เจ้าหน้าที่ตำรวจจะแจ้งสิทธิและออกใบแจ้งสิทธิและรับคำขอการเยียวยาไว้เบื้องต้นให้แก่ท่าน ส่วนกรณีจำเลย เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็จะแจ้งสิทธิให้ทราบเช่นกัน  ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หลังจากนั้นให้ท่านนำเอกสารดังกล่าวพร้อมเอกสารหลักฐานประกอบอื่นๆ กรณีผู้เสียหาย เช่นใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลฉบับจริง ใบรับรองแพทย์ ใบชันสูตรบาดแผลหรือ สำเนาใบมรณบัตร เป็นต้น หรือกรณีจำเลย เช่น หนังสือรับรองคดีถึงที่สุด สำเนาคำพิพากษาของทุกชั้นศาล สำเนาหมายขัง หมายจำคุกและหมายปล่อย เป็นต้น มาใช้ยื่นขอรับการช่วยเหลือได้ โดยสามารถยื่นด้วยตนเอง ทางไปรษณีย์ หรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ทั้งนี้ สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ หรือติดต่อที่ สายด่วนยุติธรรม โทร. 1111 กด 77 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง