ยูนิเซฟ และ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเพิ่มการลงทุนในเด็ก โดยทั้ง 2 หน่วยงานร่วมนำเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์แก่สำนักงบประมาณของรัฐสภาและสำนักงานเลขาธิการของสภาผู้แทนราษฎรในงานสัมมนา "เสริมพลังอนาคตไทย: บทบาทสภาผู้แทนราษฎรต่อการยกระดับการลงทุนเพื่อเด็กในประเทศไทย" ซึ่งจัดขึ้นที่รัฐสภา เมื่อวันที่28 มีนาคมที่ผ่านมา

งานสัมมนาครั้งนี้มุ่งเน้นการหาแนวทางในการเพิ่มการลงทุนในเด็กเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชีวิตและพัฒนาการของเด็ก ๆ  โดยยูนิเซฟได้นำเสนอข้อมูลสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยล่าสุดเมื่อปี 2565 จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟ  ซึ่งเป็นการสำรวจด้านเด็กและสตรีที่ครอบคลุมที่สุดเพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายมีข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจ ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ ประกอบไปด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญจากยูนิเซฟ และตัวแทนคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนยูนิเซฟ

(จากซ้าย)  1. นางเซเวอรีน เลโอนาร์ดี รองผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย  2. นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร  3. รองศาสตราจารย์พิเศษดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่สี่ คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร  4. นางสาวณัฏฐณิชา ขัติยะวรา กรรมการที่ปรึกษาเยาวชน องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย  5. นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการกา

ผลสำรวจสถานการณ์เด็กล่าสุดชี้ให้เห็นว่า แม้ความเป็นอยู่ของเด็กในประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าในหลายด้าน เช่น การเข้าถึงวัคซีน หรือการเข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา แต่ก็ยังมีแนวโน้มที่น่ากังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษาและการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยพบว่าอัตราการเข้าเรียนระดับปฐมวัยลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความพร้อมและพัฒนาการของเด็กเล็ก นอกจากนี้ยังพบว่า เด็ก 1 ใน 4 คนไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก ๆ โดยเฉพาะในขวบปีแรก ซึ่งเป็นช่วงสำคัญของการพัฒนาตลอดชีวิต

นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “รัฐสภาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาผู้แทนราษฎร มีบทบาทสำคัญในกระบวนการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้แน่ใจว่าความต้องการของเด็กในด้านต่าง ๆ จะได้รับการตอบสนอง   ในฐานะตัวแทนของประชาชนซึ่งได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่กำหนดอนาคตของชาติ ท่านสามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างมหาศาลต่ออนาคตของเด็ก ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว”

ยูนิเซฟได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการจัดการด้านงบประมาณและการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผล เพื่อส่งเสริมสิทธิเด็กในด้านต่าง ๆ เช่น การศึกษา สุขภาพ และการคุ้มครองเด็ก พร้อมชี้ให้เห็นว่าประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์มีแนวโน้มที่จะเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าในระยะยาว นอกจากนี้ ดัชนีทุนมนุษย์ของธนาคารโลก ยังระบุว่า เด็กไทยที่เกิดในวันนี้จะเติบโตขึ้นและสามารถมีผลิตภาพได้เพียงร้อยละ 61 เมื่อพวกเขาอายุครบ 18 ปี แต่หากประเทศไทยลงทุนเด็กและเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะมีโอกาสเพิ่มผลิตภาพได้อีกร้อยละ 39 ของที่สูญเสียไป

นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “บทบาทสำคัญของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดสรรงบประมาณ ได้แก่ การทบทวน อนุมัติ และติดตามการใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งงานสัมมนาที่จัดขึ้นโดยสำนักงานงบประมาณรัฐสภา ยูนิเซฟ และ ยูเอ็นดีพี มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ว่าการจัดสรรงบประมาณตอบโจทย์ความท้าทายที่เด็กไทยเผชิญอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความท้าทายที่เราพบจากผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี ทั้งนี้สหประชาชาติได้พัฒนาเครื่องมือหลายอย่างที่สนับสนุนให้สมาชิกรัฐสภาใช้บทบาทของตนได้ ตั้งแต่ การจัดสรรงบประมาณที่คำนึงถึงมิติหญิงชาย ไปจนถึงการจัดกลุ่มเพื่อติดตามงบประมาณด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ก็เพื่อให้มั่นใจว่าเป้าหมายการพัฒนาประเทศ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและงบประมาณของประเทศมีความสอดคล้องกัน”

นางคิมกล่าวเสริมว่า “การลงทุนเพื่อสิทธิเด็กไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังเป็นการลงทุนทางเศรษฐกิจที่ชาญฉลาด เราทุกคนรู้ดีว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านประชากร อัตราการเกิดที่ลดลงและการเป็นสังคมผู้สูงอายุอาจเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ดังนั้น การลงทุนด้านการศึกษา สาธารณสุข และการคุ้มครองทางสังคม ไม่เพียงแต่จะส่งเสริมให้ประชาชนมีบุตรมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เด็กที่เกิดใหม่มีจุดเริ่มต้นชีวิตที่ดีและเติบโตขึ้นอย่างมีศักยภาพในการสร้างอนาคตที่สดใสให้กับประเทศไทยอีกด้วย”