จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ... ตามที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทางทะเลเสนอ เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งเสริมการทำการประมงให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ชาวประมงและประชาชนที่เกี่ยวข้อง นั้น

วันที่ 3 เม.ย.67 นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ...ครั้งนี้  ได้ดำเนินการตามขั้นตอนในการเสนอกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างถูกต้องและครบถ้วน เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของการประมง โดยยึดหลักการเพื่อป้องกันมิให้มีการทำประมงผิดกฎหมาย และเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม และสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน โดยยังคงให้ความสำคัญถึงพันธกรณีระหว่างประเทศ  เนื่องจากพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้มาเป็นเวลานานกว่า 8 ปี จำเป็นต้องมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ว่ายังคงมีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตการประกอบอาชีพ และเป็นภาระแก่ประชาชน การพัฒนาตามหลักสากล รวมถึงบรรลุตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายหรือไม่  ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 77 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2560  ประกอบกับผู้ประกอบการชาวประมงซึ่งได้รับความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพ มีข้อเรียกร้องว่าได้รับผลกระทบในการบังคับใช้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558  รัฐบาลโดยรัฐสภาจึงได้รับข้อเสนอและนำมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณา โดยเริ่มจากการศึกษาและประเมินผลสัมฤทธิ์ของการบังคับใช้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558  ซึ่งรัฐสภาได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการศึกษาและเสนอแนะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมงและกิจการประมงทั้งระบบ โดยองค์ประกอบของคณะกรรมาธิการฯ นั้นมาจากผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองต่าง ๆ และผู้แทนจากทั้งฝ่ายพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ซึ่งต้องทำการศึกษากฎหมายประมง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พร้อมให้ข้อเสนอแนะต่าง ๆ แก่รัฐสภา และหลังจากการทำการศึกษาเป็นระยะเวลา 60 วัน คณะกรรมาธิการฯได้เสนอมติของคณะกรรมาธิการฯ ต่อรัฐสภาว่า มีความจำเป็นในการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยใช้ร่างฯ ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ได้เคยเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในรัฐบาลที่ผ่านมา เป็นร่างหลักในการพิจารณา โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ร่วมกันจัดทำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากการศึกษา วิเคราะห์ ในการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงทั้งระบบ อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ นำเสนอต่อประธานรัฐสภา ได้มีการยุบสภา และมีการตั้งรัฐบาลใหม่ และครม. ไม่สามารถร้องขอให้รัฐสภานำร่างฯ มาพิจารณาได้ทันภายในกำหนด 60 วันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้ง ร่างฯ นั้น จึงเป็นอันต้องตกไป 

ต่อมารัฐบาลปัจจุบัน โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายฟื้นชีวิตอุตสาหกรรมประมงให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประชาชนอีกครั้ง ด้วยการแก้ไขข้อกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสมอันเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลให้อยู่กับประเทศอย่างยั่งยืน รัฐสภาจึงได้มีมติเห็นชอบที่จะให้ทุกพรรคได้ศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหานี้ จึงมีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมงและกิจการประมงทั้งระบบ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ดังกล่าวนี้ มีความเห็นสรุปยืนยันความจำเป็นในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย โดยให้นำฉบับของสภาฯ ชุดที่แล้วมาเป็นพื้นฐานและเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ...ต่อสภาผู้แทนราษฎร

อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า จากนั้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเอกฉันท์รับหลักการและรับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ของคณะรัฐมนตรีและผู้แทนราษฎร รวม 8 ฉบับ ซึ่งสภาฯ ได้มีมติให้ใช้ร่างพระราชบัญญัติ ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีเป็นร่างหลักในการพิจารณา เนื่องจากเป็นร่างฯ ที่ผ่านการพิจารณาของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสียภาคเอกชน รวมทั้งผ่านการรับฟังความเห็นของประชาชนมาแล้ว โดยมีร่างพระราชบัญญัติ อีก 7 ฉบับ ประกอบการพิจารณา และปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณารายมาตราของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงยังไม่สามารถสรุปผลลัพธ์สุดท้ายของการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น ปัจจุบันประเทศไทยยังคงบังคับใช้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 อย่างเข้มงวดเช่นเดิม

“อย่างไรก็ตาม กรมประมงเน้นย้ำว่า สำหรับกระบวนการแก้ไขกฎหมาย ยังต้องผ่านการอภิปรายเป็นรายมาตราอย่างละเอียดถี่ถ้วนในสภาฯ จนกว่าจะได้ข้อสรุป ทั้งนี้ หากองค์กรภาคเอกชน หรือสาธารณชนมีมุมมองและข้อกังวลในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กรมประมงยินดีและพร้อมที่จะรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ.... เพื่อจะนำมาพิจารณาในร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง ในขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป”

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ... มีรายละเอียดปรากฏตาม QR Code ด้านล่าง  สามารถศึกษารายละเอียด และให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมได้ที่ กองกฎหมาย กรมประมง โทร. 02-561-2928 อีเมล [email protected]