บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

บทความตอนที่แล้วได้กล่าวถึงปัญหามลพิษหมอกควันระหว่างประเทศ อันเป็นที่มา ของปัญหาปัจจุบัน ในอาเซียน เป็นที่ทราบกันดีว่า ในช่วงราวเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ของทุกปี ทางภาคเหนือของประเทศไทยจะประสบกับปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผาป่า หรืออื่นๆ มาตลอดอย่างยาวนาน ผู้เขียนจำได้ว่า สมัยเป็นเด็กเมื่อราว 40-50 ปีก่อน ยังจำได้ว่าบนฟ้าเห็นหมอกขาว บางครั้งยังเห็นมีเศษละอองเถ้าลอยตกมาจากฟ้าเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นช่วงหน้าร้อนที่มีพายุฤดูร้อนด้วย จะมีฝนตกบ้างเป็นครั้งคราว ด้วยอุณหภูมิโดยเฉลี่ยที่สูงมาก (ร้อนมาก) ซึ่งแน่นอนว่าโอกาสที่จะเกิดไฟไหม้ป่า ไม่ว่าด้วยวิธีใดเกิดขึ้นได้ง่ายมาก ณ เวลาปัจจุบัน กลับปรากฏว่าปัญหาดังกล่าวที่ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ เพราะมีสถิติสูงกว่าพื้นที่อื่นใดในโลกไม่ต้องเอาวิกฤตระดับท็อปเทน แต่เป็นวิกฤตที่ 1 ของโลกต่างหาก ว่ากันว่า ปัญหาไฟป่า และฝุ่นพิษ PM2.5 จะคู่กัน และปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นความเจริญที่มาพร้อมกับความลำบากของประชาชนในฟื้นที่

ลองมาดู จดหมายเปิดผนึก จากอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ท่านหนึ่งถึงนายกรัฐมนตรีที่มาเยือนเชียงใหม่เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2567 สรุปความว่า ภาครัฐพยายามสร้างภาพลักษณ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวว่า อากาศเชียงใหม่ดี แต่ในทางกลับกัน จากข้อมูล “ดัชนีคุณภาพอากาศ” หรือ AQI (Air Quality Index) พบว่า ปริมาณฝุ่นของเชียงใหม่ขึ้นไปอยู่ในระดับสีม่วง อันแปลว่า “ไม่ถูกสุขภาพมาก” ที่สูงเกินเกณฑ์ AQI มาก ชาวบ้านทั่วไปในพื้นที่ต่างหายใจลำบาก แสดงว่าคุณภาพอากาศที่แย่ลง ที่ผ่านมามีประชาชนและนักวิชาการร่วมกันยื่นฟ้องคดีฝุ่น PM 2.5 ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ ซึ่งได้มีคำวินิจฉัยที่ ส 1/2567 ตัดสินว่านายกฯ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ละเลยและล่าช้าต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และมีคำตัดสินให้นายกฯ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 และแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง แต่เป็นที่น่าเสียใจว่าทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมได้อุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าว จึงทำให้ผลของคำพิพากษาต้องเลื่อนออกไป แทนที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันในฐานะของฝ่ายบริหารที่มีอำนาจสูงสุด จะสั่งการให้ยุติการอุทธรณ์ แล้วดำเนินการสั่งการตามกฎหมายที่มีอย่างจริงจัง ทั้งที่ได้แสดงท่าทีต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่นมานับตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่ง เพราะปัญหาเรื่องฝุ่นมลพิษนี้มีมาช้านาน ตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนๆ แล้ว ภาพข่าวยิ่งสะท้อนเมื่อ NGO “มูลนิธิกระจกเงา” ออกปฏิบัติการดับไฟป่า (ในห้วงเวลาที่นายกฯ เยือนเชียงใหม่) ที่ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ หลังจากล้มเลิกแผนที่จะออกปฏิบัติการที่ จ.เชียงราย เนื่องจากสถานการณ์ที่นั่นลดลง

ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อนพบว่า ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ (หมอกควันฝุ่นพิษ PM2.5) มีเจ้าภาพบูรณาการแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างเป็นระบบเชิงบูรณาการแล้ว สืบเนื่องมาจากเป็นวาระแห่งชาติ มาตั้งแต่สมัย คสช. (2557-2558) เดิมมีหลักการว่า การเผาหญ้า ขยะ และสิ่งไม่พึงประสงค์ในที่โล่งแจ้ง คือหนึ่งในสาเหตุของปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 จึงรณรงค์ให้ชาวบ้านในเขตพื้นที่ชนบท ให้ยุติหลีกเลี่ยงการเผาในที่โล่งทุกอย่าง หากฝ่าฝืนทางจังหวัดก็มีมาตรการในการลงโทษ ทุกจังหวัดตามสั่งการของกระทรวงมหาดไทยเมื่อถึงช่วงต้นปีของทุกปีจึงมีการแข่งขันการปราบ “การเผาหญ้าเผาขยะฯในที่โล่ง” ที่ที่น่าหนักใจของหน่วยดับเพลิง ทั้งหน่วยราชการ อปท. และหน่วยเอกชนจิตอาสา เพราะบางพื้นที่หน่วยดับเพลิงจะทำงานหนักมาก ไฟรุนแรงมาก ทั้งไฟป่า และไฟไหม้ป่าอ้อย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคอีสาน

ตัวอย่างสถานการณ์ไฟป่าเชียงใหม่ จากการตรวจสอบ “จุดความร้อนและบริเวณพื้นที่เผาไหม้” (Hotspot & Burn Scar) วันที่ 11 มีนาคม 2567 พบที่ อ.สันทราย 29 จุด รองลงมาที่ อ.เชียงดาว รถดับเพลิงต้องออกดับไฟป่าวุ่นวายไปหมด เพราะเกิดจากคนเผาป่า เผาเพื่อหาของป่า แม้ผู้ว่าฯ จะตั้งรางวัลนำจับก็ยังยาก ฝุ่น PM2.5 สาเหตุหลักมาจากฝีมือมนุษย์ ดังนั้น การลด เลี่ยง เลิก หรือควบคุม ปัจจัยต่างๆ สำหรับการสร้างฝุ่น PM2.5 เป็นเรื่องที่เราสามารถทำได้ และเห็นผลในเชิงบวกอย่างชัดเจน

แต่สำคัญมากๆ ก็คือ ความร่วมมือจากทุกคน และการบังคับใช้กฎหมายของทางเจ้าหน้าที่รัฐ (เกี่ยวกับมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อม) อย่างเคร่งครัด ต้องช่วยกันรณรงค์ลดการเผาป่า จะทำให้ฝุ่นและควันลดน้อยลง แม้จะเรื่องยากแต่ก็แก้ได้ ถ้าเข้าใจ และทำเป็น อย่างไรก็ตามการอ้างข้อมูลดาวเทียมจากจุดความร้อน พบว่า ยังมีเทคนิคอีกหลายอย่างที่ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ สาเหตุใหญ่ที่นักวิชาการประเมินกันคือ “การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ในพื้นที่เพาะปลูกมาก ทำให้ต้องมีการเผาป่ามาก ฉะนั้น ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดอาหารสัตว์ที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน (100%) ต้องมีมาตรการจัดการควบคุมที่เหมาะสม ซึ่งเป็นหนึ่งในคำขอท้ายฟ้องในคดีปกครอง ที่ชาวบ้านได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เชียงใหม่ และชาวบ้านเป็นผู้ชนะคดีแล้ว ปัจจุบันรอการพิจารณาจากศาลปกครองสูงสุด

นอกจากนี้ มีข้อจำกัดการควบคุมว่า ดาวเทียมจะไม่สามารถจับจุดความร้อนได้หลังเวลาประมาณบ่ายสามโมง จึงทำให้มีการลักลอบเผาป่ากันยกใหญ่ โดยเฉพาะฝั่งนอกเขตแดนไทย และนอกจากนี้ การเผาป่า อาจดำเนินการได้โดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ต้องขออนุญาตเผาให้ถูกต้อง นี่คือข้อจำกัดที่เป็นข้อกฎหมายระหว่างประเทศด้วย ข้อจำกัดอื่นเช่น ต้นทุนการควบคุมไฟป่าที่ค่อนข้างสูง เอกชน NGO ต่างมีภาระค่าใช้จ่ายสูง โดรนบินตรวจสอบพื้นที่เป้าหมายต้องมีขนาดใหญ่ มีรัศมีทำการไกล ราคาแพง อาสาดับไฟป่า (จิตอาสา) ต้องใช้พลังงานและค่าใช้จ่าย และมีความเสี่ยงภัย เป็นต้น

ความเคร่งครัดในการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และความร่วมมือของประชาชน จึงเป็นคำตอบของการแก้ไขปัญหานี้ เริ่มต้นที่ตระหนักถึงปัญหาและพร้อมรับผิดชอบเต็มที่ มิใช่การละเลยล่าช้าต่อหน้าที่ฯ ทุกคนและทุกหน่วยงานเริ่มได้เริ่มเลย ส่วนกระบวนการต้องช่วยกันแนะนำในทุกช่องทาง เป็นความห่วงใยบ้านของเราร่วมกัน

มีคำถามว่า ทำไมจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ประกาศเขตภัยพิบัติ ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะ ค่าฝุ่นพิษที่เกินเกณฑ์มาตรฐานมาก ค่าฝุ่น ค่า AQI ทะลุมาก ร.ร. เด็กก็ไม่ปิด สุขภาพเด็กต้องแย่ รัฐบาลมัวห่วงภาพลักษณ์กับเรื่องเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว จะมีการจัดแข่งรถ เพื่อให้มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันเยอะๆ อำนาจประกาศเขตภัยพิบัติเป็นของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ใช่อำนาจนายกรัฐมนตรี ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 ตาม พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 เพื่อการช่วยเหลือแประชาชนตามอำนาจหน้าที่ของ อปท. แต่อำนาจ ประกาศเรื่องฝุ่นพิษ ตาม พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เป็นกฎหมายที่มีอำนาจซ้อนกัน ดูมาตรา 4 และ มาตรา 9 “เมื่อเกิดภาวะมลพิษให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งตามที่เห็นสมควร นายกรัฐมนตรีจะมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการภายในเขตจังหวัดแทนนายกรัฐมนตรีได้ โดยให้ทำเป็นคำสั่ง และประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

ขออธิบายค่าดัชนี AQI ซึ่งแตกต่างจากค่า PM2.5 AQI คือ ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) เป็นการรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศในภาพรวมที่ประกอบด้วยมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) 1. ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) 2. ก๊าซโอโซน (O3) 3. ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) 4. ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) 5. ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) โดยกรมควบคุมมลพิษเป็นแหล่งข้อมูลและกำหนดมาตรฐาน AQI ของประเทศไทย ซึ่งมีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป โดยใช้สีในการแบ่งระดับของผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งหาก AQI เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าสูงกว่า 100 จัดเป็นระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ตั้งแต่ 0 ถึง มากกว่า 300 ซึ่งแต่ละระดับจะใช้สีเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย โดยดัชนีคุณภาพอากาศ 100 จะมีค่าเทียบเท่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป หากดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงเกินกว่า 100 แสดงว่าค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศมีค่าเกินมาตรฐานและคุณภาพอากาศในวันนั้นจะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน

ส่วนค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 นั้นเป็นคนละตัวกับค่า AQI (ซึ่งแทนด้วยค่าสีสัญลักษณ์ 5 ระดับ ตั้งแต่ค่า 0 ถึงค่ามากกว่า 300) โดยกรมควบคุมมลพิษกำหนดค่ามาตรฐานของประเทศไทย โดยใช้ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ซึ่งหากค่า PM2.5 สูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าเป็นระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันราชการได้มีประกาศที่ ค่า PM2.5 มาตรฐานที่ไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

นี่เป็นเหตุเป็นผลว่าในภาวะวิกฤติเยี่ยงนี้ ต้องมีกฎหมายที่สำคัญ คือ ร่างกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งผลึกมาเป็น ร่างพระราชบัญญัติ อากาศสะอาด ที่ถือว่าเป็น “โคตรกฎหมายในการแก้ไขปัญหาอากาศ” ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการ(วาระที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2567 ด้วยมติเอกฉันท์ 443 เสียง เพราะปัจจุบันฝุ่นพิษ PM2.5 (Particulate Matters) ถือเป็น “ปัญหาระหว่างประเทศ” ของชาติสมาชิกอาเซียน เนื่องจากเป็น “มลพิษหมอกควันที่ข้ามพรมแดน” (Transboundary Haze Pollution) ยังไม่จบมีเรื่องที่อยากจะเล่ายาวๆ ขอยกไปตอนหน้า