ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนมี.ค.67 อยู่ที่ระดับ 63 ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือนส.ค.66 เป็นต้นมา ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 56.9 59.8 และ 72.2 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนทุกรายการเช่นกัน เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนก.พ. ที่อยู่ในระดับ 57.7 60.4 และ 73.2 ตามลำดับ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนมี.ค. ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือนส.ค.66 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมากังวลว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อบานปลาย อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย

โดยการที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าค่าครองชีพสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กับอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซาที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

สำหรับดัชนีเดือนมี.ค.ปรับตัวเล็กลงเล็กน้อยจากก.พ. และลดลงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน แสดงว่าเศรษฐกิจที่หลายคนคาดหวังว่าจะโตและฟื้นตัวดีขึ้น แต่บรรยากาศมีการแผ่วแรงในเดือนมี.ค.อาจมาจาก 2 สาเหตุสำคัญคือ 1.สถานการณ์ราคาพลังงานเริ่มสูง โดยเฉพาะเบนซิน ค่าครองชีพสูง 2.เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว ไม่คึกคัก จากพืชผลทางการเกษตรที่ออกสู่มือเกษตรกรไม่มาก ผลผลิตทางการเกษตรยังติดลบจากปัญหาภัยแล้ง ดังนั้นราคาพืชผลเกษตรสูง แต่รายได้เกษตรกรยังติดลบ ทั้ง 2 ปัจจัยเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้บรรยากาศของเศรษฐกิจทุกภูมิภาคไม่คึกคัก อีกทั้งยังมีอีกหนึ่งปัจจัยคือ การที่งบประมาณแผ่นดินยังไม่ถูกใช้ ซึ่งรัฐบาลเริ่มมีสัญญาณที่จะเร่งรัดเบิกจ่ายงบปี 2567 ใช้ในเดือนเม.ย.67 ดังนั้นสัญญาณที่เกิดขึ้นในเดือนมี.ค.จึงเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 1/67 ดูแผ่วลง คาดโต 1.5-2.0%

ทั้งนี้ภาพของความเชื่อมั่นยังมีสัญญาณที่ค่อยๆฟื้นตัวขึ้นได้ และมีทิศทางขาขึ้นต่อเนื่อง จากดัชนีที่ปรับตัวดีขึ้นมาตลอด 7 เดือน ทำให้ดัชนีเฉลี่ยในไตรมาส 1/67 ความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการยังอยู่นทิศทางขาขึ้น การดรอปลงของความเชื่อมั่นในเดือนมี.ค. เชื่อว่าน่าจะถูกเบรคสัญญาณโดยเทศกาลสงกรานต์ งบประมาณแผ่นดิน โครงการดิจิทัลวอลเล็ต และการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการลดค่าจดจำนองค่าโอนบ้านที่ราคาต่ำกว่า 7 ล้านบาท

#ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค #ข่าววันนี้ #ราคาพลังงาน #ดิจิทัลวอลเล็ต #สยามรัฐวันนี้