การพัฒนาศูนย์เด็กอ่อน-เด็กเล็กใกล้ชุมชนและแหล่งงาน เป็นนโยบายในหมวดเรียนดี ตามแนวคิดพัฒนากรุงเทพฯ 9 ดี 9 ด้าน โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เหตุผลว่า นโยบายดังกล่าวจะช่วยลดภาระและค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองระหว่างที่ต้องไปทำงาน ซึ่งที่ผ่านมา กทม.มีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน (ศพด.) จำนวนน้อย ส่วนมากเป็นของเอกชน ขณะที่เด็กตั้งแต่อายุ 0-8 ปี เป็นช่วงเวลาที่มีพัฒนาการมากที่สุด ควรมีการพัฒนาโครงสร้างเพื่อรองรับด้านต่าง ๆ เช่น เรื่องอุปกรณ์ ค่าอาหาร ส่งเสริมการเรียนรู้ สวัสดิการผู้ดูแล ตลอดจนเพิ่มและปรับปรุง ศพด.ในชุมชน ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยมีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยแนวทางดำเนินการในปี 2567 ว่า กทม.แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแรก บริหารจัดการและปรับปรุงด้านกายภาพของ ศพด. จำนวน 89 ศูนย์ ขณะนี้ มีแผนดำเนินการแล้ว 27 ศูนย์ ปรับปรุงแล้ว 5 ศูนย์ ประกอบด้วย เขตบางขุนเทียน 2 ศูนย์ ได้แก่ ศพด.ชุมชนเพชรทองคำ และ ศพด.ชุมชนสามัคคี เขตบางนา ได้แก่ ศพด.ชุมชนหมู่บ้ายซอยเชลียง 1 เขตสาทร ได้แก่ ศพด.ชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู เขตสาทร ได้แก่ ศพด.ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ นอกจากนี้ ยังได้รับงบประมาณในการปรับปรุงเพิ่มอีก 14 ศูนย์ และได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในรูปแบบ CSR จำนวน 8 ศูนย์ อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้

ส่วนอีก 28 ศูนย์ อยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณ จำนวน 13,682,291.83 บาท และอีก 10 ศูนย์ อยู่ระหว่างประเมินค่าใช้จ่าย และยังมีอีก 34 ศูนย์ อยู่ระหว่างดำเนินการ แบ่งเป็น ติดตามรวบรวมข้อมูล 29 ศูนย์ อยู่ระหว่างขออนุญาต 3 ศูนย์ ได้แก่ ศพด.เขตบางซื่อ ซึ่งเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย การเคหะแห่งชาติ และพื้นที่เอกชน รวมถึง มีอีก 2 ศูนย์ ซึ่งเจ้าของพื้นที่ยังไม่ยินยอมให้ใช้พื้นที่

นายศานนท์ กล่าวว่า ในการพัฒนาปรับปรุงด้านกายภาพศูนย์เด็กอ่อน-เด็กเล็ก (ศพด.) กทม.ยังมีแผนจัดทำห้องปลอดฝุ่น 803 ห้อง ใน 241 ศูนย์ แบ่งเป็นห้องปลอดฝุ่นติดตั้งเครื่องปรับอากาศ 227 ห้อง ปัจจุบันดำเนินการแล้วประมาณร้อยละ 33.47 และห้องที่ไม่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ 532 ห้อง ดำเนินการแล้วร้อยละ 66.26 ซึ่งในจำนวนนี้ มีศูนย์ที่พร้อมติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพิ่ม 95 ห้อง

“สาเหตุที่ศูนย์บางแห่งไม่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เพราะกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายและค่าบำรุงรักษา รวมถึงสภาพห้องไม่เหมาะกับการติดตั้ง กทม.อยู่ระหว่างหาทางแก้ไข โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจขนาด BTU ของเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสมกับการติดตั้งในศูนย์เด็กเล็ก และตรวจสอบเครื่องปรับอากาศที่ติดตั้งไปแล้วให้พร้อมใช้งาน”

ส่วนแนวทางดำเนินงานกลุ่มที่ 2 คือ การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมในประเด็นต่าง ๆ เพื่อสามารถจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในชุมชนได้ เนื่องจากบริบทเมืองเปลี่ยนแปลงไป มีชุมชนย่อยเกิดขึ้นใหม่และพ้นสภาพ ต้องเก็บข้อมูลและมีการขออนุญาตจัดตั้งเป็นชุมชนก่อน เพื่อจัดตั้ง ศพด.ในชุมชนต่อไปได้ ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจากคนในชุมชนด้วย โดยการยกร่างกฎหมายที่สำคัญ ได้แก่ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กองทุนชุมชนเข้มแข็ง พ.ศ. ...เพื่อส่งเสริมการกระจายอำนาจให้กับชุมชนในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ขึ้น ส่งเสริมภาคประชาชนสามารถกำหนดและบริหารงบประมาณ กทม.ได้ด้วยตนเอง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน พ.ศ... โดยแยกออกมาจากระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยชุมชนและกรรมการชุมชน พ.ศ. 2564 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้

นอกจากนี้ยังมีการแก้ระเบียบกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสนับสนุนการพัฒนาชุมชน พ.ศ... ว่าด้วยการปรับปรุงอัตราค่าตอบแทนอาสาสมัคร ผู้ดูแลเด็ก คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้ แก้ระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยชุมชนและกรรมการชุมชน พ.ศ... เรื่องการพ้นสภาพการเป็นชุมชน แก้ไขเกณฑ์อายุอาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก เป็นอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 70 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้ แก้ไขหลักเกณฑ์การจัดตั้งชุมชนรูปแบบพิเศษ ตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยชุมชนและกรรมการชุมชน พ.ศ. 2564 เช่น หลักเกณฑ์การจัดตั้ง ต้องมีผู้ยินยอมไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนบ้านในชุมชน และปรับข้อความให้ชุมชนที่บริหารจัดการตามเจตนารมณ์สามารถจัดตั้งชุมชนได้ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้

โดยการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว อยู่ระหว่างดำเนินการตามความเห็นของสำนักงานกฎหมายและคดี เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายพ.ศ. 2562 กำหนดให้ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง

ส่วนการดำเนินการกลุ่มที่ 3 นายศานนท์ กล่าวว่า กทม.กำลังเตรียมความพร้อมเปิดชั้นเรียนอนุบาลที่ขยายเพิ่ม จากเดิมมีเพียงระดับอนุบาล 1-2 ปัจจุบันได้ขยายเป็นระดับอนุบาล 1-3 รองรับเด็กอายุ 3-5 ปี ประจำปีการศึกษา 2567 จำนวน 191 โรงเรียน หรือ 215 ห้องเรียน รับเด็กอนุบาล 1 ได้ จำนวน 6,405 คน และอยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล และงบประมาณจาก กทม.เพื่ออุดหนุนเด็กชั้นอนุบาล 1 ต่อไป คาดว่าจะจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนจากรัฐบาลให้แก่สำนักงานเขตได้ภายในเดือน เม.ย.นี้ ตามจำนวนนักเรียนชั้นอนุบาล 1 จำนวน 6,405 คน

นอกจากนี้ จะมีการจัดสรรครูผู้ช่วยให้เพียงพอทั้ง 215 ห้องเรียน โดยคัดเลือกเป็นกรณีพิเศษ คาดว่าจะพร้อมปฏิบัติงานได้วันที่ 13 พ.ค.นี้ รวมถึง จัดหาพี่เลี้ยง 191 คน โดยวิธีเกลี่ยจากห้องเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 10 คน และจ้างเพิ่มอีก 41 คน คาดว่าจะดำเนินการจ้างได้ภายใน 15 พ.ค.นี้

“เรื่องการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กต้องทำทั้งระบบควบคู่กัน ทั้งด้านกายภาพ บุคลากร และด้านกฎหมาย เพื่อสามารถเข้าไปจัดตั้งและดูแลสวัสดิการอาสาสมัครหรือพี่เลี้ยงได้มากขึ้น วันนี้หลายส่วนเริ่มมีความชัดเจน ตามนโยบายที่ กทม.ตั้งเป้าไว้ ซึ่งผู้ว่าฯกทม.ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก ทำยังไงให้เด็กเติบโต ปลอดภัย มีพัฒนาการสมวัย ที่สำคัญคือลดภาระผู้ปกครองด้วย” นายศานนท์ กล่าว