นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยแนวทางดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเงิน สีเทา และสีฟ้าว่า จากการประชุมคณะผู้บริหาร กทม.ครั้งที่ 5/2567 มีมติโอนโครงการรถไฟฟ้าลงทุนใหม่ในความรับผิดชอบของ กทม. คืนแก่กระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีฟ้า ช่วงดินแดง-สาทร โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ระยะที่1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเงิน ช่วงบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

 

โดยรถไฟฟ้าสายดังกล่าว แต่เดิม กทม.ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ดังนั้น จึงต้องทำเรื่องเสนอ คจร.เพื่อขอโอนคืนโครงการอย่างเป็นทางการ โดยสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะเลขาธิการ คจร. เพื่อพิจารณาบรรจุในวาระการประชุม คจร. ครั้งที่1/2567 แล้ว คาดว่าจะมีการประชุมเร็วๆ นี้

 

“ต้องรอการตัดสินใจอีกที ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องมองอย่างไร สุดท้ายเชื่อว่าจะมีประโยชน์มากกว่า เพราะ กทม.ไม่ได้มีเงินทุนมาก ยังมีภาระต้องดูแล เช่น เรื่องสาธารณสุข เรื่องการศึกษา จึงคิดว่ามีประโยชน์มากกว่าหากกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการ โดยเฉพาะการผลักดันราคาตั๋ว 20 บาทตลอดสาย” นายชัชชาติ กล่าว

 

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 3 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีฟ้า รูปแบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) แนวเส้นทางใหม่ในเขตเมืองชั้นในถนนประชาสงเคราะห์ เพชรบุรี วิทยุ และสาทร ระยะทาง 9 กม. จำนวน 9 สถานี ปัจจุบันอยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณในการศึกษาโครงการดังกล่าวทั้งการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) ซึ่งแนวเส้นทางไม่ผ่านถนนสายหลักจำเป็นต้องเวนคืนที่ดินอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชน

 

สายสีเทา ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ รูปแบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) แนวเส้นทางเริ่มจากต่างระดับรามอินทรา ข้ามทางพิเศษฉลองรัช มุ่งลงใต้ตามแนวถนนประดิษฐ์มนูธรรม ตัดถนนลาดพร้าว ข้ามถนนพระราม 9 ทางพิเศษศรีรัช รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เลี้ยวขวาแยกเอกมัยเหนือ เข้าสู่เกาะกลางถนนเพชรบุรี เลี้ยวซ้ายเข้าถนนทองหล่อ สิ้นสุดปากซอยสุขุมวิท55 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อเดือน ก.พ.65 กทม.โดยสจส.ศึกษารูปแบบการลงทุน PPP แล้วเสร็จเดือน มิ.ย.65 ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอ มท.เห็นชอบรายงานผลการศึกษา

 

สายสีเงิน ลักษณะเป็นรถไฟรางคู่ขนาดเบา (Light Rail Transit) แนวเส้นทางจากบางนาไปตามถนนเทพรัตน ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 19.7 กม. แบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรก จากบางนา-ธนาซิตี้ ระยะทาง 14.6 กม. จำนวน 12 สถานี ระยะที่2 จากธนาซิตี้-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 5.1 กม. 2 สถานี กทม.โดยสจส.ได้จ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมของโครงการแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างเสนอรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนการลงทุนรูปแบบ PPP (เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ) ศึกษาแล้วเสร็จเดือน มิ.ย.65 ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอกระทรวงมหาดไทย (มท.) เห็นชอบรายงานผลการศึกษา