Universal Design หรือ อารยสถาปัตย์ ถูกพูดถึงบ่อยครั้ง ในยุคผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพื่อใช้เป็นกรอบแนวคิดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมือง โดยเฉพาะเรื่อง “ทางเท้า” นโยบายสำคัญที่ กทม.วางแผนดำเนินการถึงปี 69 มุ่งผลักดันกรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการ กทม. และโฆษก กทม. อธิบายว่า อารยสถาปัตย์ในมิติของกทม.คือการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ ให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งการพัฒนาทางเท้าต้องคำนึงถึงผู้พิการ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิง ชาย สามารถใช้ร่วมกันได้ปลอดภัยครอบคลุม ไม่อำนวยความสะดวกเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าฯกทม.ได้กำชับว่า การปรับปรุงทางเท้าต้องมีความละเอียด เช่น รอยต่อระหว่างทางเท้ากับทางเข้าบ้านหรือสำนักงานอาคารต่าง ๆ ต้องเรียบเสมอกัน หรือมีทางลาดขึ้นลง ลดความชันต่างระดับ ให้นึกถึงผู้ใช้รถวีลแชร์

จากข้อมูลจากทราฟฟี่ ฟองดูว์ (1เม.ย.67) ระบุ มีผู้แจ้งปัญหาราว 549,560 เรื่อง แก้ไขแล้ว 430,296 เรื่อง พบปัญหาทางเท้า 81,946 เรื่อง แก้ไขแล้ว 66,128 เรื่อง สูงสุดอันดับ 3 รองจากเรื่องถนน และเรื่องอื่น ๆ เนื่องจากเรื่องทางเท้าเกี่ยวข้องกับงานหลายด้าน เช่น ทางเท้าชำรุด ความปลอดภัย ความสะอาด ไฟส่องสว่าง อุบัติเหตุ สิ่งกีดขวาง และบางจุดไม่มีทางเท้า คนต้องลงเดินบนผิวจราจร กทม.จึงแบ่งการพัฒนาทางเท้าเป็น 3 ส่วนหลัก คือ

1.ทางเท้าที่ต้องซ่อมแซม ซึ่งดำเนินการไปแล้วกว่า 300 กิโลเมตร และที่ต้องปรับปรุงตามนโยบายถนนสวย 16 เส้นทาง ในเขตบางนา ประเวศ พระโขนง ปทุมวัน วังทองหลาง ลาดพร้าว บางกะปิ สัมพันธวงศ์ จตุจักร บางรัก คลองเตย วัฒนา ราชเทวี พญาไท รวมถึงส่วนที่ต้องปรับให้มีทางลาดขึ้นลงในจุดเชื่อมต่อระหว่างทางม้าลาย/ซอย/อาคาร/บ้านเรือน เช่น บริเวณถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย4 ถนนเพลินจิต ถนนสวรรคโลก และส่วนที่ต้องปรับให้เสมอระดับผิวจราจร เช่น บริเวณเกาะกลางถนนเชื่อมต่อทางม้าลาย เพื่อให้การข้ามทางม้าลายเลียบสะดวกตลอดแนวโดยไม่มีทางเท้าต่างระดับบนเกาะกลางถนนมาขวาง เป็นประโยชน์ต่อผู้พิการทางสายตา ผู้สูงอายุ ผู้ใช้รถวีลแชร์ ปัจจุบันดำเนินการแล้ว เช่น บริเวณถนนสีลม ถนนพระราม4 เป็นต้น

2.ทางเท้าที่ต้องก่อสร้างใหม่ ตามแผนปี 2567 กว่า 36 รายการทั่วกรุงเทพมหานคร ยึดการก่อสร้างตามมาตรฐานทางเท้าใหม่ที่ กทม.กำหนด เน้นความคงทนแข็งแรง โดยใช้ทรายหยาบบดอัดแน่นเป็นฐานรองพื้นไม่น้อยกว่า 95% STANDARD AASHTO จากนั้น วางทับด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก 240 KSC หนา 10 ซม. พร้อม WIRE MESH ส่วนบริเวณทางเข้า-ออก ใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก หนา 15 ซม. จากนั้นใช้ปูนทรายสำเร็จรูปสำหรับปรับระดับกระเบื้องซีเมนต์ปูพื้นหนา 2 ซม. ก่อนปูกระเบื้องซีเมนต์ ขนาด 40x40x3.5 ซม.ที่ชั้นบนสุด

3.ทางเท้าส่วนที่ทดลองรูปแบบใหม่ เพื่อแก้ปัญหาจุดที่มีถนนแคบ ไม่สามารถก่อสร้างทางเท้าได้ กทม.จึงใช้วิธีทาสีแบ่งช่องทางเดิน เพื่อให้คนเดินเท้าได้ และผู้ใช้รถสังเกตเห็นชัดเจน ทำแล้วที่ซอยสามเสน13 ซอยราชวิถี19 และถนนบำรุงเมือง ติดตั้งเสาเอสการ์ดทดแทน เพื่อใช้เป็นทางเท้าเชื่อมระหว่างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถึงถนนหน้าลานคนเมือง เป็นต้น

ด้านนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยว่า เหตุผลที่กทม.ให้ความสำคัญการพัฒนาทางเท้า เนื่องจากคนกรุงเทพฯร้อยละ 58.2 ใช้วิธีเดินเท้าเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะ เฉลี่ยเดินระยะทาง 800 เมตรต่อ 10 นาที และ ร้อยละ 31.2 ใช้ยานพาหนะส่วนตัว ซึ่งแนวโน้มคนเดินเท้ามีมากขึ้น กทม.จึงมีแผนพัฒนาทางเท้าเชื่อมโยงรถไฟฟ้าปัจจุบันมี 11 เส้นทาง 297 สถานี ระยะทางรวม 466.1 กม. ตามแนวคิด First & Last Mile เพื่อให้สามารถเดินจากที่พักไปเชื่อมรถไฟฟ้าและอื่นๆได้สะดวก ปลอดภัย

“เมืองที่มีการพัฒนาทางเท้าเชื่อมต่อกันจะช่วยส่งเสริมการค้า การท่องเที่ยว และสุขภาพ ที่ผ่านมา คนไม่ใช้ทางเท้าเนื่องจากปัญหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ ความสะดวกสบาย เช่น ไม่มีสถานีรถประจำทางในระยะเดินเท้า หรือทางเท้าไม่ต่อเนื่อง ไม่ราบเรียบ รวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ไม่สวยงาม สกปรก”

โดย กทม.ตั้งเป้าปรับปรุงทางเท้า 1,000 กม. ในปี 2569 ซึ่งบางจุดต้องร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น ทางเท้าเขตวังทองหลาง-ลาดพร้าว มีการวางท่อร้อยสายของการไฟฟ้านครหลวงเพื่อนำสายไฟลงดิน และมีการวางท่อประปาของการประปานครหลวง ต้องรอเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จจึงจะปรับปรุงทางเท้าได้ นอกจากนี้ ในจุดอื่น ๆ ยังมีการจัดระเบียบสายสื่อสารและนำสายสื่อสารลงดินร่วมกับ กสทช. ปัจจุบันจัดระเบียบสายสื่อสารไปแล้ว 58 เส้นทาง ระยะทาง 202.36 กม. นำลงดินแล้ว 11 เส้นทาง ระยะทาง 82.2 กม. ซึ่งมีการปรับปรุงทางเท้าร่วมด้วย

“โดยภาพรวม ทางเท้าควรกว้างไม่น้อยกว่า 1.20 เมตร การพัฒนาทางเท้าในกรุงเทพฯครอบคลุมหลายมิติ เช่น การนำสิ่งกีดขวางไม่จำเป็นออก ต้องประสานหน่วยงานอื่น เช่น การตัดต้นไม้ การหักเสาไฟฟ้า ตู้ไปรษณีย์ ตู้ควบคุม ป้ายต่าง ๆ รวมถึงการติดตั้งไฟส่องสว่างเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัย ที่ผ่านมา กทม.เปลี่ยนเป็นหลอด LED แล้ว 25,000 ดวง เปลี่ยนไฟบนถนนสายหลักทั้ง 50 เขต แล้ว 28,568 ดวง โดยปี 67 มีแผนเพิ่มมากกว่า 30,000 ดวง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาที่มาพร้อมการพัฒนาทางเท้าอื่น ๆ เช่น การขับขี่บนทางเท้า การลักขโมยสายไฟทำให้ไฟส่องสว่างดับ ได้รับการร้องเรียน ซึ่ง กทม.อยู่ระหว่างหาทางแก้ไขป้องกันการพัฒนาทางเท้าให้มีคุณภาพ ปลอดภัย น่าใช้ นำไปสู่การพัฒนานโยบายด้านอื่น เช่น สนับสนุนให้คนหันมาใช้ขนส่งสาธารณะ ลดการใช้พลังงาน รองรับสังคมผู้สูงอายุ เชื่อมโยงมิติสุขภาพ การท่องเที่ยว การจราจร สิ่งแวดล้อม มลพิษ ไปจนถึงการช่วยลดสภาวะโลกร้อนด้วย” รองผู้ว่าฯกทม.กล่าว