วันที่ 17 เม.ย.67 นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง ครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง)

 

นางสาวปิยะวรรณ จระกา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสวนหลวง ตั้งกระทู้ถามสดเรื่อง การแก้ไขปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างดับ ขัดข้อง บริเวณศาลาที่พักผู้โดยสารหรือป้ายรถโดยสารประจำทางในพื้นที่เขตสวนหลวง โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเขตสวนหลวงจำนวนมาก เกี่ยวกับไฟฟ้าส่องสว่างดับ ขัดข้อง บริเวณศาลาที่พักผู้โดยสารหรือป้ายรถโดยสารประจำทาง ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไขติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ประชาชนที่ต้องสัญจรในช่วงเวลากลางคืนไม่มีความปลอดภัย รวมถึงสอบถามแนวทางติดตั้งศาลาที่พักผู้โดยสารมาตรฐานใหม่ของ กทม.

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงกรณีดังกล่าวแทนนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งลาประชุมในวันนี้ว่า เรื่องไฟดับยอมรับว่าเป็นความจริง เนื่องจากช่วงเวลาที่ กทม.จ้างเหมาเอกชนในการบำรุงรักษาไฟฟ้าส่องสว่างศาลาที่พักผู้โดยสารสิ้นสุดลง สำนักการจราจรและขนส่ง จึงจ้างเหมาบริษัทรายใหม่ เริ่มสัญญาตั้งแต่เดือน มี.ค. ถึง ก.ย.67 แต่ปัญหาสำคัญคือ มิเตอร์ไฟฟ้าเดิมยังเป็นชื่อของบริษัทที่รับจ้างเหมา สำนักการจราจรฯ จึงต้องเปลี่ยนเป็นชื่อของ กทม. โดยพื้นที่กรุงเทพฯใต้มีศาลาที่พักผู้โดยสาร ประมาณ 600 หลัง ทำให้มีปัญหาไฟฟ้าดับ ปัจจุบัน กทม.ได้จ่ายเงินจำนวนกว่า 800,000 บาท ให้การไฟฟ้านครหลวง เพื่อทำการบรรจบสายไฟฟ้าให้ กทม.เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน มิ.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม ระหว่างการบรรจบสายไฟฟ้า ผู้รับจ้างรายใหม่ต้องติดตั้งไฟส่องสว่างระบบโซล่าเซลล์ในจุดที่ไม่มีความสว่างทดแทน ตามสัญญาว่าจ้างเมื่อเดือน มี.ค.67 เพื่อดูแลบำรุงรักษาศาลาที่พักผู้โดยสาร

 

ส่วนแนวทางก่อสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารมาตรฐานใหม่ ในส่วนเขตสวนหลวงมีศาลาที่พักผู้โดยสารทั้งหมด 58 หลัง มีการก่อสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารมาตรฐานใหม่ทดแทนของเดิม จำนวน 4 หลัง ซึ่งยังติดปัญหาการก่อสร้าง เนื่องจากถูกท้วงติงว่าไปบดบังหน้าร้านอาคารพาณิชย์ในพื้นที่ แต่ความเป็นจริงสามารถก่อสร้างได้ เนื่องจากมีทางเท้ากว้างถึง 5 เมตร สำนักการจราจรฯจึงอยู่ระหว่างออกแบบ ลดขนาด เพื่อไม่ให้กระทบต่อคนในพื้นที่ คาดว่าจะใช้เวลาในการออกแบบ 1-2 เดือนนับจากนี้ หลังจากนั้นจึงจะมีการของบก่อสร้างโดยเร็วที่สุด

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.เริ่มก่อสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารมาตรฐานใหม่ในปีนี้ไปแล้ว ประมาณ 80 หลัง ในปี 68 คาดว่าจะเพิ่มอีกประมาณ 100 หลัง กระจายไปทุกเขตทั่วกรุงเทพมหานคร

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามแผนเดิม สำนักการจราจรและขนส่งเป็นผู้ออกแบบศาลาที่พักผู้โดยสารมาตรฐานใหม่ (P016) เพื่อสามารถนำไปติดตั้งบนพื้นที่หลากหลาย ประกอบด้วย 3 แบบ คือ แบบที่ 1 ขนาดเล็ก กว้าง 2.5 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 2.5 เมตร ไม่มีที่นั่งพักคอย แบบที่ 2 ขนาดกลาง มีขนาดเท่าแบบที่ 1 แต่มี 3 ที่นั่งพักคอย แบบที่ 3 ขนาดใหญ่ กว้าง 2.5 เมตร ยาว 6 เมตร สูง 2.5 เมตร มี 6 ที่นั่งพักคอย พร้อมรองรับจอภาพบอกข้อมูลแบบดิจิทัล เช่น สายรถเมล์ที่จะมาถึง เส้นทาง นาทีรอคอย รวมถึงติดตั้งกล้องวงจรปิด อินเทอร์เน็ต Wi-Fi (Smart Bus Shelter)