“ศาลรธน.”มีติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องประธานสภาฯ ปมแก้”รธน.” ก่อนทำประชามติ ระบุไม่อยู่ในอำนาจวินิจฉัย  ส่วนคดียุบพรรค “ก้าวไกล” ขยายเวลาให้แจงข้อกล่าวหาอีก 15 วัน ด้าน “เสี่ยหนู”ยันยังไม่ได้รับสัญญาณจากนายกฯ ปรับครม. 

เมื่อวันที่ 17 เม.ย.67 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีประธานรัฐสภา (ผู้ร้อง) มีหนังสือขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ดังนี้ 1.รัฐสภาจะบรรจุวาระและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยังไม่มีผลการออกเสียงประชามติว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ 2.ในกรณีที่รัฐสภาสามารถบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ การจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จะต้องกระทำในขั้นตอนใด

ก่อนการพิจารณา เนื่องจาก นายสุเมธ รอยกุลเจริญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ระหว่างรอการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ และนายอุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอถอนตัวจากการพิจารณาคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 37 เนื่องจากเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดให้ถอนตัวจากการพิจารณาคดีได้ องค์คณะตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้จึงประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 7 คน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 52

ศาลพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7(2) และมาตรา 44 กรณีต้องเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว การบรรจุวาระการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นหน้าที่ และอำนาจของประธานรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 119 กรณีไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา และคำร้องมีสาระสำคัญเป็นเพียงข้อสงสัย และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายเนื้อหาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยโดยละเอียดและชัดเจนแล้ว ไม่ใช่กรณีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องด้วยเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของ ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7(2) และมาตรา 44 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ0 สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

ทั้งนี้ ในส่วนคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล (เรื่องพิจารณาที่ 10/2567 พรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่น คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญออกไปอีก 30 วัน ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นควรให้ขยาย ระยะเวลาออกไปอีก 15 วัน นับแต่วันที่ 18 เม.ย.67 ซึ่งจะครบกำหนดยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 3 พ.ค.67

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้ส่งสัญญาณมาถึงพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งพรรคภูมิใจไทยยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆ เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีความกังวลใจหรือไม่ เพราะพรรคเพื่อไทยอาจจะมีการปรับหลายตำแหน่ง นายอนุทิน กล่าวว่า แล้วเกี่ยวอะไรกับพรรคร่วมฯ เป็นเรื่องธรรมดาของรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสม พรรคใดที่มีความรับผิดชอบต่อกระทรวงใดๆ ก็ต้องไปจัดการ และเป็นเรื่องภายในของแต่ละพรรค
เมื่อถามถึงกระแสข่าวจะมีการปรับ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ ออกจากตำแหน่ง รมช.มหาดไทย โควต้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะส่งผลให้พรรคภูมิใจไทยคุมทั้งกระทรวงมหาดไทยนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่อง เพราะการปรับครม.เป็นดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรี ถ้ายังไม่ได้รับการแจ้งอะไรก็ไม่ควรจะถาม