ดนตรี / ทิวา สาระจูฑะ

แม้กระทั่งศิลปินที่มีชื่อเสียงปล่อยผลงานใหม่ออกมา ความคาดหวังจากนักฟังย่อมมีอยู่ และผลลัพธ์อาจจะออกได้ 3 หน้า สำเร็จ, เสมอตัว และล้มเหลว แต่สำหรับซูเปอร์สตาร์อย่าง บียอนเซ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ผลงานของเธอก็จะมีความพิเศษอยู่เสมอ

Cowboy Carter อัลบั้มใหม่ล่าสุดของ บียอนเซ หรือสมญาที่เรียกขานกันว่า ควีนบีย์ มีการประกาศล่วงหน้าไว้แล้วว่า นี่คืออัลบั้มที่ 2 ในชุดไตรภาคของเธอ ซึ่งเริ่มต้นด้วยอัลบั้ม Renaissance ในปี 2022

ก่อนหน้าอัลบั้ม Cowboy Carter จะออกวางขายเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2024 เธอปล่อยซิงเกิ้ล “Texas Hold ‘Em” ออกมานำร่องในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ สร้างความตื่นเต้นให้ผู้ฟังส่วนใหญ่กับการคลุกเคล้าดนตรีคันทรี, ป๊อป และอาร์แอนด์บีได้อย่างสนุกและกลมกลืน มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บ้างจากคอคันทรีอนุรักษ์นิยมที่ปฏิเสธซาวนด์อาร์แอนด์บีร่วมสมัย แต่ในทางกลับกัน นักฟังคันทรี่รุ่นใหม่ก็เปิดรับความคิดสร้างสรรค์นี้

ไม่ว่า บียอนเซ จะมีเจตนาสร้างปฏิกิริยาหรือไม่ “Texas Hold ‘Em” ไม่เพียงถูกกล่าวถึงในวงกว้าง ยังขึ้นไปติดอันดับ 1 บนตารางซิงเกิล บิลบอร์ด ฮ็อท 100 และแน่นอนว่า เป็นแรงดึงดูดสำคัญที่ทำให้หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา Cowboy Carter กลายเป็นอัลบั้มเดียวที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในแวดวงธุรกิจดนตรีและนักฟังเพลง และขึ้นไปติดอันดับ 1 บนตารางอันดับอัลบั้ม บิลบอร์ด 200 ทันที ในสัปดาห์แรกที่ออกวาง

Cowboy Carter ขายได้ในสัปดาห์แรกมากถึง 407,000 ชุด แซงหน้ายอดขาย 251,000 ชุดของ We Don’t Trust You โดยดาวแรป ฟิวเจอร์ แอนด์ เมโทร บูมมิ่น ซึ่งเป็นอัลบั้มที่ติดอันดับ 1 สัปดาห์แรกที่ออกวางขายเช่นกันในปี 2024 ก่อนหน้านี้ และแซงหน้ายอดขายสัปดาห์แรกของ 332,000 Renaissance Act I ของเธอเอง แต่ยังไม่ทำลายสถิติ 650,000 หน่วยในปี 2016 ที่อัลบั้ม Lemonade ของเธอเองทำได้ในการวางขายสัปดาห์แรก

นักวิจารณ์และคอลัมนิสต์ทางดนตรีหลายคนพยายามวิเคราะห์ถึงความสำเร็จของ บียอนเซ ในอัลบั้ม Cowboy Carter พบว่า นอกเหนือจากการเป็นซูเปอร์สตาร์ที่มีคนติดตามอยู่ทั่วโลก ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอยู่มากมาย ตั้งแต่จังหวะในการทำโฆษณาที่ชาญฉลาดแม่นยำ จนถึงความยาวของเพลง

แต่ถ้าเอาที่เป็นหลักๆ อย่างแรกคือ ตั้งแต่ความสำเร็จของอัลบั้ม Renaissance บียอนเซ เอาชนะใจคนรุ่นใหม่ที่ฟังเพลงผ่านทางแพล็ทฟอร์มสตรีมมิ่งได้เป็นที่เรียบร้อย ดังนั้น Cowboy Carter จึงไม่ใช่การนับหนึ่ง เพราะมีฐานผู้ฟังที่หนาแน่นของ Renaissance รองรับอยู่เป็นเบื้องต้น

เหตุผลอย่างที่ 2 คือ ความคิดสร้างสรรค์ที่มีของใหม่มาให้แฟนเพลงเสมอ อัลบั้ม Cowboy Carter นำกลิ่นอายของคันทรี่และโฟล์คเข้ามาใช้งาน แต่ก็ไม่ใช่อัลบั้มการเปลี่ยนไปทำอัลบั้มคันทรีแท้ๆเพียงเพื่อหาตลาดใหม่ บียอนเซ ไม่ทิ้งความเป็นอาร์แอนด์บีที่เป็นรากฐานของตัวเธอ การทำอย่างนี้อาจจะทำให้ได้แฟนใหม่และไม่เสียแฟนเก่า หรือไม่ก็เสียทั้งสองอย่าง แต่ บียอนเซ ได้ทั้งหมด

เหตุผลต่อมาคือ การเชื้อเชิญศิลปินชั้นนำระดับโลกที่มีแรงดึงดูดผู้ฟังจำนวนมากมาร่วมร้องด้วย อย่าง วิลลี่ เนลสัน, ดอลลี่ พาร์ตัน, ไมลี่ย์ ไซรัส, โพสต์ มาโลน จนถึง วิลลี่ โจนส์ ดาวรุ่งคันทรี่ นี่คือชั้นเชิงของพาณิชย์ที่รับใช้ศิลปะ

และที่สำคัญคือ การเชื้อเชิญ ลินดา มาร์เทลล์ ตำนานนักร้องหญิงคันทรีผิวดำคนแรกในวัย 82 เหมือนบ่งบอกให้รู้ว่า ดนตรีไม่มีขอบเขตและขีดคั่นเรื่องสีผิว

และเหตุผลสุดท้ายคือ เพลงเกือบทั้งหมดเป็นเพลงที่มีคุณภาพด้านเนื้อหา และมีสัมผัสของความเป็นป็อปด้านดนตรีมากพอที่จะประสบความสำเร็จ ซิงเกิ้ลที่ 2 - “II Most Wanted” ที่ได้ ไมลี่ย์ ไซรัส ร่วมร้องขึ้นอันดับ 1 ไปแล้วเช่นเดียวกับ “Texas Hold ‘Em” ยังมีอีกหลายเพลงที่พร้อมจะฮิท อย่าง “Bodyguard”, “Ya Ya”, “Riiverdance”, “II Hands II Heaven”, “Tyrant” และ “Levii’s Jeans” ที่ร่วมร้องกับ โพสต์ มาโลน

ยิ่งกว่านั้น เธอยังกล้านำเพลงคลาสสิคมาทำใหม่โดยมีการแต่งเนื้อเพิ่มเติมเข้าไป คือ “Blackbird” ของ เดอะ บีเทิ่ลส์ และ “Jolene” ของ ดอลลี่ พาร์ตัน

อัลบั้ม Cowboy Carter เป็นอีกตัวอย่างชัดเจนที่บอกว่า ทำไม บียอนเซ จึงเป็นซูเปอร์สตาร์ที่ยังได้รับความนิยมระดับสูงมายาวนาน นับตั้งแต่เธอเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มนักร้อง เดสทินี่’ส ไชล์ด เมื่อปี 1997 มาสู่การเป็นศิลปินเดี่ยวกับอัลบั้มแรก Dangerously in Love ... จนถึงวันนี้