จากเหตุการณ์ที่ทาง “อิสราเอล” ขอให้ทางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ประณาม “อิหร่าน” หลังเปิดฉากส่งโดรนกว่า 200 ลำ พร้อมด้วยขีปนาวุธนำวิถี และขีปนาวุธร่อนนับร้อยลูกโจมตีอิสราเอล ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก กังวนที่อาจจะเกิดสงครามในแถบตะวันออกกลางขึ้นได้

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าประเทศแถบตะวันออกกลาง ถือเป็นกลุ่มประเทศลูกค้าที่สำคัญของประเทศไทย ทั้งเรื่องของอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ดังนั้นหากการปะทะกันมีความรุนแรงมากขึ้น จนกลายเป็นสงครามระหว่างประเทศ ก็จะส่งผลต่อสินค้าไทยในอนาคต

“นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชยื พูดถึงกรณีที่อิหร่านเริ่มปฏิบัติการโจมตีทางอากาศโดยได้ยิงโดรนไปยังพื้นที่เป้าหมายในอิสราเอล ว่า ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในต่างประเทศ ทำการประเมินสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อการค้าของไทย ล่าสุดได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล ว่า การค้าไทย-อิหร่านเบื้องต้นยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เนื่องจากพื้นที่เกิดเหตุอยู่ที่อิสราเอล คาดการณ์ว่าสถานการณ์การสู้รบน่าจะไม่ยืดเยื้อ ถ้าอิสราเอลไม่โต้กลับ โดยทางอิหร่านได้ประกาศหยุดโจมตี ยกเว้นถูกอิสราเอลตอบโต้

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะมีผลกระทบต่อการค้าไทยกับประเทศอื่นๆ หรือไม่ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อโลก จะได้เตรียมมาตรการรับมือ และแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในภาพรวม และตนจะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป”

ขณะเดียวกันขอได้ให้ติดตามสถานการณ์ที่ช่องแคบฮอร์มุส ในอิหร่าน ซึ่งเป็นช่องแคบที่สำคัญในการเดินเรือ เพื่อส่งออกสินค้าสำคัญของประเทศที่ส่งออกน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเกือบทั้งหมดในตะวันออกกลาง ทั้งซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน กาตาร์ และคูเวต โดยช่องแคบฮอร์มุสใช้ขนส่งน้ำมันถึงวันละ 21 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็น 21% ของปริมาณการขนส่งน้ำมันทั่วโลก หากไม่สามารถขนส่งผ่านจุดดังกล่าวแม้เพียงชั่วคราว อาจนำไปสู่ความล่าช้าในการจัดหาน้ำมันและทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงานโลกเพิ่มสูงขึ้นได้

ด้าน “นายเกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของไทยขณะนี้แม้อาจจะเริ่มฟื้นตัวเมื่อรัฐบาลเริ่มออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ กระตุ้นการท่องเที่ยว รวมไปถึงการเบิกจ่ายงบประมาณที่จะมาในช่วง พ.ค.นี้ แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือภูมิรัฐศาสตร์ที่ภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงตึงเครียด ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะกระทบต่อการส่งออกไทยและอาจกระทบต่อการดึงการลงทุนที่รัฐบาลมุ่งเน้นดำเนินการได้ซึ่งจำเป็นต้องติดตามใกล้ชิด

“กรณีลุกลามไปสู่สงครามตะวันออกกลางสิ่งที่กังวลคือ การขนส่งที่อาจจะกระทบการส่งออกของไทย ขณะเดียวกันราคาน้ำมันต่างๆ อาจขยับสูงกลายเป็นปัญหาของไทยท่ามกลางหนี้กองทุนติดลบแสนล้านบาทก็ยิ่งทำให้ต้นทุนต่างๆ จะแพงไปด้วย แน่นอนว่าขณะนี้สินค้าอาจจะยังไม่ขึ้นแต่หากดีเซลขยับขึ้นไปอีกค่าขนส่งที่เพิ่มย่อมผลักไปยังราคาสินค้าเช่นกัน”

สำหรับการส่งออกของไทยนั้นคิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 60% ต่อ GDP ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กกร.) มองไว้เป้าโต 2%-3% แต่อาจเสี่ยงว่าจะไม่โตในระดับดังกล่าว ซึ่งหากโต 2% เนื่องจากแต่ละเดือนจะต้องส่งออกราว 2.44 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมาไทยทำได้ที่ 4.6 ล้านเหรียญ เท่ากับเฉลี่ยเดือนละ 2.3 ล้านเหรียญเท่านั้นคงจะต้องดูในระยะต่อไปท่ามกลางสถานการณ์ตะวันออกกลางที่ยังคงน่ากังวล

“ส่งออกเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักของประเทศ โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่า การส่งออกจะขยายตัวระดับต่ำที่ 2% เฉลี่ยเดือนละ 24,400 ล้านดอลลาร์ แต่ 2 เดือนที่ผ่านมายังทำไม่ได้เพียงแค่เฉลี่ย 23,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสงครามขยายตัวรุนแรง ในขณะที่น้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยแน่นอน ดังนั้นต้องจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”

นอกจากนี้ ระดับราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นจาก 30 บาท/ลิตรเป็น 30.44 บาท/ลิตรก็ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกหากสงครามยืดเยื้อและราคาน้ำมันตลาดโลกย่อมขึ้นสูง ในขณะที่ค่าไฟฟ้าของไทยเฉลี่ย 4.18 บาท/หน่วยก็ค่อนข้างสูงทำให้หนี้ครัวเรือนที่สูงอยู่แล้วก็จะมีมากขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิด

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์ในเมียนมาที่มีการสู้รบหนัก ขณะนี้มีความห่วงในเรื่องของการค้าชายแดนที่เมืองเมียวดีซึ่งไทยส่งออกไปจำนวนมาก ซึ่งได้หารือกับผู้เกี่ยวข้องว่าอาจจะทำให้การค้าชายแดนของไทยลดลงได้ เบื้องต้นพบว่ามีผลกระทบยังไม่มากนักเนื่องจากมีการใช้เงินบาท และเงินจ๊าด โดยมูลค่าการส่งออกค้าชายแดนไทยรวมอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท ขณะที่เมียนมา 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากยืดเยื้อก็อาจจะลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ตามก็ยังคงติดตามใกล้ชิดเพราะหากรุนแรงมากขึ้นย่อมส่งผลแน่นอน

คงต้องติดตามสถานะการณ์ความขัดแย้ง “อิสราเอล-อิหร่าน” และความขัดแย้งในเมียนมา ว่าจะจบลงเมื่อไหร่!?!

เพราะผลกระทบจะส่งผลต่อการส่งออกไทย!!