นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) กล่าวถึงกรณีที่มีข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ออกมาว่า เป็นห่วงเยาวชนกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะช่วงรอยต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กำลังจะขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เนื่องจากเด็กที่ครอบครัวมีฐานะยากจนจะเริ่มทยอยหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงรอยต่อนี้มากที่สุด ว่า เร็วๆนี้ ตนจะประสานขอเข้าพบ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. และผู้บริหาร สกร. เพื่อหารือว่ากรมส่งเสริมการเรียนรู้ กับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มีโครงการใดบ้างที่จะช่วยกันขับเคลื่อนงานการจัดการศึกษาให้แก่เด็กกลุ่มเปราะบาง เด็กยากจนหลุดจากระบบการศึกษาที่ กสศ.มีข้อมูลอยู่ เพราะ สกร.มีครูกระจายอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศเข้าถึงเด็กได้โดยตรง มีแหล่งเรียนรู้ที่เข้าถึงได้ง่าย แต่ สกร.มีงบประมาณจำนวนจำกัด ขณะที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  มีงบประมาณสำหรับการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่เปราะบาง ยากจน มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ถ้าหาก สกร.ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กสศ. ดำเนินโครงการงานที่เป็นภารกิจที่ สกร.ต้องขับเคลื่อนก็จะทำให้การดูแลเยาวชนกลุ่มเปราะบางที่หน่วยงานอื่นเข้าไม่ถึง จะสามารถดำเนินการได้ดียิ่งขึ้น

 “ การลดภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียนและผู้ปกครอง เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล และ พ.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งปีการศึกษา 2567 นี้ เป็นปีที่ 2 ที่มีการเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวสำหรับผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แต่ก็อาจจะยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง และค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งการจัด       การเรียนรู้ของ สกร.มีหลักสูตรที่หลากหลาย มาความยืดหยุ่น เข้าถึงได้ง่าย เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา และขณะนี้ สกร.ก็กำลังพัฒนาระบบการสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน              ทั่วประเทศไม่ว่าจะเรียนจบจากที่ไหน ดังนั้นหาก กสศ. กับ สกร. มีความร่วมมือกันในการดูแลเยาวชน        กลุ่มเปราะบาง ก็จะเป็นการเพิ่มทางเลือก สร้างโอกาสให้เด็กเข้าถึง และไปต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นได้” อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กล่าว.