วันที่ 24 เม.ย.67 นางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ
รองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง ครั้งที่4 ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

 

ในที่ประชุม นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตคลองสาน ได้ตั้งกระทู้ถามสดเรื่อง ปัญหาการใช้งาน Traffy Fondue ของสำนักงานเขตคลองสาน โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจาก กทม.มีนโยบายรับเรื่องร้องเรียนผ่านแพลตฟอร์ม Traffy Fondue โดยประชาชนสามารถแจ้งปัญหาผ่านแอปพลิเคชันไลน์ทำให้มีความสะดวกในการสื่อสารระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โดยตรง

 

แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมาพบว่าเรื่องร้องเรียนที่แจ้งเข้ามาที่ Traffy Fondue ของสำนักงานเขตคลองสานประสบปัญหาหลายประการ เช่น การร้องเรียนเท็จเพื่อกลั่นแกล้งกัน การแก้ไขปัญหาล่าช้าทำให้ประชาชนร้องเรียนซ้ำหลายครั้ง เรื่องที่ส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่นไม่ได้รับการแก้ไขหรือเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ทำให้มีการยุติเรื่องเนื่องจากกระทบกับตัวชี้วัดของสำนักงานเขต เป็นต้น

 

จากปัญหาดังกล่าวจึงขอสอบถามผู้ว่าฯกทม. ดังนี้ 1. แนวทางแก้ไขปัญหาการร้องเรียนซ้ำ การร้องเรียนเท็จ การตัดต่อภาพที่สร้างความเสียหายให้แก่บุคคลหรือหน่วยงานภายนอกอย่างไร 2. หน่วยงานของ กทม.แก้ไขปัญหาที่ร้องเรียนผ่านทาง Traffy Fondue ล่าช้า เช่น เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับไฟ LED แบบที่มีระบบ IOT เรื่องดวงไฟชำรุด เป็นต้น มีวิธีการแก้ไขอย่างไร และ 3. การยุติเรื่องหรือการมีเรื่องคงค้างใน Traffy Fondue ของสำนักงานเขตคลองสาน ส่งผลกระทบต่อตัวชี้วัดของหน่วยงานหรือไม่ อย่างไร

 

“เข้าใจว่ามีพันธกิจสำคัญคือการแก้ไขปัญหาเส้นเลือดฝอยตามนโยบายผู้ว่าฯกทม.ทั้ง 11 ด้าน และผู้ว่าฯกทม. ได้รายงานว่าเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนทั้งหมด 563,292 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการและส่งต่ออีกกว่า 1 แสนเรื่อง ซึ่งระบบการส่งต่อข้อร้องเรียนเป็นระบบ AI โดยส่งต่อเรื่องไม่มีการกลั่นกรองข้อมูลใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อเกิดปัญหาไม่สามารถตรวจสอบที่มาของการร้องเรียนทำให้เกิดความเสียหาย หากผู้ว่าฯ กทม.แก้ปัญหา Traffy Fondue ได้จะเป็นประโยชน์กับทุกเขต ไม่ใช่เฉพาะเขตคลองสานแห่งเดียว” นายสมชาย กล่าว

 

ด้านนายชัชชาติ ชี้แจงว่า จุดประสงค์ของการใช้ระบบ Traffy Fondue เพื่อต้องการตอบสนองประชาชนอย่างรวดเร็ว ในการแจ้งปัญหาต่าง ๆ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา สถานที่ในการแจ้ง สามารถขยายผลในด้านประเมินข้อมูลการทำงาน และประชาชนสามารถแสดงความพึงพอใจได้ ปัจจุบันมีประชาชนร้องเรียนผ่านระบบแล้วกว่า 563,292 เรื่อง แก้ไขแล้วเสร็จ 444,223 เรื่อง (79%) เป็นเรื่องที่ส่งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ 96,811 เรื่อง (17%) อยู่ระหว่างหน่วยงาน กทม.ดำเนินการ 10,397 เรื่อง (2%) ส่วนใหญ่เป็นเรื่องค้างของสำนักขนาดใหญ่ ได้แก่ สำนักการโยธา สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักการระบายน้ำ

 

“ยังพบว่าระบบคอมพิวเตอร์ยังมีข้อบกพร่อง AI ทำการคัดเลือกและกระจายเรื่องจริง แต่จะมีคนที่คอยรับเรื่องและกลั่นกรองอีกครั้ง ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ดำเนินการ 14 คน และเขตจะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องต่ออีกครั้ง โดยเรื่องการตัดต่อภาพถือเป็นเรื่องความโปร่งใส จะมีเฉพาะผู้เกี่ยวข้อง หรือปลัดกรุงเทพมหานครตรวจสอบได้ แต่จะมอบหมายให้ตรวจสอบเรื่องนี้ให้เข้มข้นขึ้น สุดท้ายถึงแม้ระบบ Traffy Fondue จะมีข้อบกพร่องแต่เชื่อว่ายังมีข้อดีมากกว่า” ผู้ว่าฯกทม.กล่าว

 

ส่วนประเด็นคำถามที่ 2 นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงจุดแข็งของทราฟฟี่ ฟองดูว์เพราะมีประชาชนเข้าไปแจ้งเป็นจำนวนมาก และเป็นปัญหาที่กทม.จะเร่งแก้ให้เสร็จภายใน 30 วัน ปัญหาที่เกิดไม่ใช่เกิดจากแพลตฟอร์มแต่เกิดจากผู้ปฏิบัติหรือหน่วยงานที่ยังมีความล่าช้า ซึ่งจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

 

ส่วนคำถามที่ 3 ทั้งหน่วยงาน ฝ่ายบริหารและผู้ว่าฯกทม.มีตัวชี้วัดสำคัญร่วมกันคือ ต้องแก้ไขปัญหาของทุกเขตทุกหน่วยงานให้ได้ 75% ในเรื่องการร้องเรียนโดยบางคนร้องเรียนจำนวนกว่าร้อยเรื่อง ต้องใช้กระบวนการที่เป็นธรรมและไม่ให้กระทบตัวชี้วัด ที่เป็นผลงานที่แท้จริงของเขต หรือของหน่วยงาน เพราะคงไม่เชื่อแค่คอมพิวเตอร์อย่างเดียวแต่จะมีเจ้าหน้าที่ช่วยกลั่นกรองในเรื่องนี้ด้วย