ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องนับ 30 ปี สำหรับแนวทางบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กกรุงเทพมหานคร (ศพด.) แม้ปัจจุบันจะมีการเพิ่มค่าอาหารให้เด็กคิดเป็นรายละ 32 บาท ค่าอุปกรณ์รายละ 600 บาท ในยุคนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามที่ประกาศนโยบายพัฒนาศูนย์เด็กอ่อน-เด็กเล็กใกล้ชุมชนและแหล่งงานเอาไว้

และเมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา สภากรุงเทพมหานคร เปิดโอกาสให้ครูผู้ดูแลเด็ก (ผดด.) ใน ศพด. จำนวน 100 คน จาก 50 เขต แสดงความคิดเห็น ซักถาม เสนอแนะแนวทางพัฒนา โดยมี นางสาวผุสดี พรหมายน รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ร่วมให้ข้อมูล ในกิจกรรมการเยี่ยมชมสภากรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร ดินแดง

ผู้แทน ผดด. เขตจอมทอง กล่าวว่า ปัจจุบัน ศพด.ไม่ได้อยู่ในสถานะโรงเรียนขนาดเล็กของ กทม. และยังไม่มีสถานะที่ชัดเจน ทำให้ขาดการสนับอย่างเป็นทางการ ที่ผ่านมา ศพด.ในพื้นที่ตนประสบปัญหาน้ำท่วม แต่ กทม.ระบุว่าไม่มีงบพัฒนาโครงสร้างช่วยเหลือ ทำให้ต้องหางบสนับสนุนด้วยตนเอง ช่วยเหลือตัวเอง ซึ่ง ศพด.ส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดงบสนับสนุนด้านโครงสร้างในลักษณะเดียวกัน ต้องอาศัยอาสาสมัครดูแลเด็กใน ศพด.เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการปกป้องดูแลเด็ก ดูแล ศพด. หุงหาอาหาร ปฐมพยาบาล ยามเกิดภัยน้ำท่วม โรคระบาด หรืออุบัติภัยไม่คาดคิด

ขณะที่ กทม.ประกาศแนวทางพัฒนาเด็กและพัฒนา ศพด.ให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล แต่การปฏิบัติจริงยังไม่เกิด โดยเฉพาะแนวทางการรับเด็กอายุ 1 ขวบครึ่ง มาเตรียมพร้อมดูแลตามระบบเมื่อถึงอายุ 2 ขวบกว่าขึ้นไป ซึ่งมีความกังวลว่าจะเกิดอันตรายกับเด็กเนื่องจากอายุน้อยเกินไป จึงมีการสำรวจหลายรอบ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบหรือข้อสรุปจากผู้ว่าฯกทม.ว่าจะรับและสนับสนุนได้หรือไม่ อย่างไร

“ขณะที่ กทม.กำหนดให้แต่ละ ศพด.รับเด็กไม่เกิน 30 คน เพื่อควบคุมคุณภาพต่อจำนวนอาสาสมัคร ทำให้ ศพด.ของดิฉันจำเป็นต้องเก็บเงินจากผู้ปกครองเพิ่มเป็นเดือนละ 1,500 บาท ส่วนแนวทางปรับสวัสดิการ กทม.กำหนดให้อาสาสมัคร ผดด.ที่จบเอกด้านปฐมวัยไปสอบเข้าโรงเรียนสังกัด กทม.เพื่อดูแลเด็ก 3 ขวบ ขณะเดียวกันกลับกำหนดให้ ศพด.รับ ผดด.ที่จบเอกด้านปฐมวัย จึงสงสัยว่าทำไปเพื่ออะไร“ ผู้แทน ผดด. เขตจอมทอง ว่า

รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม ชี้แจงว่า สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) กำหนดให้ ผดด. 1 คน ต่อเด็ก 10 คน ซึ่งเป็นอัตราอย่างน้อย ดังนั้น ศพด. 1 แห่ง จึงต้องมี ผดด.อย่างน้อย 2 คน จึงจะดำเนินการได้ ส่วนเรื่องค่าตอบแทน อยู่ระหว่างปรับให้ตามวุฒิการศึกษา จากเดิมให้ถึงปริญญาตรี ต่อไปจะให้ถึงปริญญาโท ไม่กำหนดจำนวนเงินตายตัวเหมือนที่ผ่านมา แต่จะปรับขึ้นรายปี 4-6% คล้ายกับระบบราชการ ซึ่งการปรับแก้ต้องผ่านคณะกรรมการพิจารณา จึงล่าช้า เนื่องจากปัจจุบัน กทม.มี ผดด.ประมาณ 1,700 คน ต้องคำนวณเงินที่ต้องใช้จ่ายระยะยาว ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงและจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะไม่ใช่ระบบจำนวนเงินตายตัว ทั้งนี้ต้องรอผลสรุปจากการพิจารณาอีกครั้ง

ส่วนเรื่องปรับปรุงด้านกายภาพ ศพด.ในสังกัด กทม.ส่วนใหญ่ไม่พบปัญหา แต่จะพบในส่วนของเอกชนและส่วนบุคคล ที่ขอสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งต้องดำเนินการตามระเบียบของบประมาณอย่างชัดเจน เช่น ระบุรายละเอียดการประมาณราคา จึงจะของบประมาณได้ หาก ส.ก.และเขตช่วยผลักดันและกระตุ้นเรื่องนี้ เชื่อว่าการของบประมาณสนับสนุนอาจง่ายขึ้น

“เนื่องจาก ศพด.อยู่ภายใต้ข้อบัญญัติกรรมการชุมชน การแก้ไขบางเรื่องจึงอาจล่าช้า ปัจจุบันกทม.กำลังพิจารณารับเด็กอายุ 1 ขวบครึ่งขึ้นไป และกำหนดให้ครูผู้ดูแลมีอายุได้ถึง 70 ปี ภายใต้สุขภาพที่ดีและความสมัครใจ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องจากอาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก“ นางสาวผุสดี กล่าว

ด้านนายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบัน ส.ก.กำลังประสานกับเขตเพื่อผลักดันการปรับปรุงโครงสร้าง ศพด. แต่ติดปัญหาเรื่องการออกแบบ เนื่องจากเขตมีผู้ออกแบบฝ่ายโยธาค่อนข้างน้อย จึงอยากฝากเรื่องนี้ไปถึงสำนักพัฒนาสังคม สำหรับ ศพด.ที่จัดตั้งแล้ว หากมีพื้นที่เหลือบางส่วน ควรออกแบบสำเร็จรูป หรือออกแบบใหม่บ้าง เพราะสภาพ ศพด.หลายแห่งไม่สามารถใช้งานได้แล้ว ที่ผ่านมา มี ศพด.ที่เป็นอาคารถาวรไม่กี่แห่ง จากการสุ่มตัวอย่าง พบปีละ 2-3 แห่งเท่านั้น ดังนั้น หากกทม.มีพื้นที่ก่อสร้างพร้อม สภากทม.พร้อมจะผลักดันเรื่องนี้

ผู้แทน ผดด.เขตลาดกระบัง กล่าวว่า ปัจจุบันค่าตอบแทนแต่ละ ศพด.ยังออกไม่ตรงกันเป็นมาตรฐาน บางแห่งออกวันที่ 3-4 บางแห่งออกวันที่ 10-12 ควรมีกำหนดวันชัดเจน รวมถึงค่าอาหารและค่าตอบแทนของ ผดด.ควรกำหนดให้เป็นมาตรฐาน นอกจากนี้ ควรสนับสนุนงบเปลี่ยนที่นอนให้เด็กทุกปี เพื่อความสะอาด ขณะที่ ผู้แทน ผดด.เขตหนองจอก แสดงความเห็นว่า ทั้ง ศพด.ขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ควรได้รับอุปกรณ์ส่งเสริมการพัฒนาสำหรับเด็กที่ได้มาตรฐานเท่าเทียมกัน ส่วนผู้แทน ผดด.เขตบางแค ตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดมาตรฐานสวัสดิการของ ศพด.แต่ละแห่งของ กทม.จึงไม่เท่ากัน เช่น ศพด.เขตบางแค วันที่ 18 แล้ว แต่เงินเดือนยังออก ทั้งที่เป็น ศพด.ของกรุงเทพมหานครเหมือนกัน ซึ่ง ผดด.ทำงานตั้งแต่ 05.00 น. ถึง 18.00 น. ไม่มีเวลาไปประกอบอาชีพเสริม รวมถึง กรณีโรงเรียน กทม.เปิดรับเด็กอายุ 3 ขวบ แล้วกำหนดให้ ศพด.ลดจำนวนเด็กลง จึงสงสัยว่าเป็นการบีบยุบ ศพด.ให้อยู่ไม่ได้หรือไม่ เรื่องนี้อาจกระทบผู้ปกครองที่มีรายได้น้อย

นางสาวผุสดี ชี้แจ้งว่า เรื่องเปลี่ยนที่นอนเด็กและสื่อการเรียนการสอน สพส.ได้รับงบประมาณปี 67 ในการจัดซื้อแล้ว และจะจัดซื้อในปีนี้ ส่วนในปี 68 สพส.ได้เขียนของบประมาณในการศึกษาดูงานสำหรับ ผดด.แล้ว ซึ่งต้องรอคำตอบว่าจะผ่านการพิจารณาหรือไม่ ส่วนเรื่องการออกค่าตอบแทน ผดด.ให้ตรงเวลา สพส.ได้ทำบันทึกข้อตกลงให้ ผอ.เขตดำเนินการให้รวดเร็วอย่างน้อย 3 วันทำการ เนื่องจาก การออกเงินเดือนจำเป็นต้องมีเอกสารแนบตามระเบียบการออกฎีกา ส่วนเรื่องการสอบ แนวทางปลัด กทม.กำหนดไว้ว่า ครูใหม่ต้องสอบข้อเขียน ครูเก่าต้องสอบสัมภาษณ์ เพื่อดูทัศนคติในการดูแลเด็กของครูเท่านั้น เนื่องจากแต่ละคนมีสภาพกายและใจแตกต่างกันไป จึงต้องมีการประเมิน เพื่อป้องกันปัญหาภายหลัง อาจทำให้ครูหลายท่านรู้สึกอึดอัด แต่โดยภาพรวมไม่มีปัญหา ส่วนแนวทางเกี่ยวกับเด็กพิเศษ สพส.ยังมีไม่ ศพด.รองรับโดยตรง แต่ได้ร่วมมือกับสำนักการศึกษา สำนักอนามัย ในการคัดกรองเด็กพิเศษเพื่อส่งต่อตามมาตรฐานของ สมศ. อย่างไรก็ตาม ปัญหาและข้อเสนอแนะต่าง ๆ สพส.จะนำเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาให้ได้ข้อสรุปต่อไป