กนอ.เผยผลงานครึ่งปีแรกปีงบประมาณ 2567 ยอดขาย/เช่าที่ดินพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทะลุเป้า ทั้งที่ยังเหลืออีกครึ่งปี! พร้อมจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายดึงดูดนักลงทุนใน 2 นิคมฯ ด้านโครงการสำคัญตามนโยบายรัฐ-องค์กร คืบหน้าตามเป้า คาดแล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ โชว์โครงการ “Digital Twin” แพลตฟอร์มสุดล้ำ บริหารนิคมอุตสาหกรรมเสมือนจริง ควบคุมทุกระบบอย่างแม่นยำ ให้ทันต่อสถานการณ์โลก แจงเตรียมแผนรับมือสถานการณ์น้ำในพื้นที่อีอีซีไว้แล้ว

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แถลงผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 ว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 - มีนาคม 2567) กนอ. มียอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 3,946 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในเขตพัฒนาพิศษภาคตะวันออก (EEC) 3,472 ไร่ และนอกพื้นที่ EEC 474 ไร่ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 158,372 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายของปีงบประมาณ 2567 ที่ตั้งเป้ายอดขาย/เช่าตลอดทั้งปีไว้ที่ 3,000 ไร่แล้ว และเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพิ่มเติม กนอ. จึงจัดทำโปรโมชั่นกระตุ้นการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) จังหวัดระยอง และนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ในส่วนของ Rubber City ดังนี้

• นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ระยะเวลาโปรโมชั่นตั้งแต่ 1 กันยายน 2566 ถึง 27 ธันวาคม 2567 ได้รับสิทธิประโยชน์ ยกเว้นค่าเช่าที่ดิน 1 ปี ยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก 1 ปีแรก โดยมีเงื่อนไข คือ ทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 ถึง 27 ธันวาคม 2567 วางหลักประกันการเช่าที่ดินเป็นเงินสดหรือหนังสือค้ำประกันเต็มจำนวน มูลค่าสองเท่าของค่าเช่ารายปี ห้ามให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิการเช่าที่ดินบางส่วนหรือทั้งหมดภายใน 2 ปี แจ้งเริ่มประกอบกิจการภายใน 3 ปี และมีระยะเวลาการเช่าที่ดินไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยเงื่อนไขและข้อกำหนดทั้งหมดเป็นไปตามที่ กนอ. กำหนด

• นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ในส่วนของ Rubber City ระยะเวลาจัดโปรโมชั่นระหว่างวันที่ 15 มีนาคม 2567 ถึง 30 กันยายน 2567 โดยให้สิทธิประโยชน์ทั้งผู้ประกอบกิจการใหม่ และผู้ประกอบกิจการเดิม ซึ่งผู้ประกอบกิจการใหม่ จะได้รับส่วนลดร้อยละ 3 จากราคาขายที่ดิน ขณะที่ผู้ประกอบกิจการเดิม จะได้รับส่วนลดร้อยละ 5 จากราคาขายที่ดิน มีเงื่อนไข คือ ทำสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาซื้อขายที่ดินเพื่อประกอบกิจการ ชำระค่ามัดจำไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของมูลค่าที่ดิน แจ้งเริ่มประกอบกิจการภายใน 3 ปี ห้ามขายหรือโอนที่ดินภายใน 9 ปี เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก กนอ. กรณีไม่ปฏิบัติตาม กนอ. มีสิทธิ์ยกเลิกมาตรการ ยึดเงินมัดจำ และเรียกร้องค่าเสียหายได้

สำหรับโครงการสำคัญตามนโยบายรัฐ-องค์กรนั้น โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่มีวัตถุประสงค์หลักคือ เพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือมาบตาพุด เพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้าเหลวและก๊าซธรรมชาติ (LNG) 14.8 ล้านตัน/ปี เอกชนร่วมลงทุนทั้งถมทะเล สร้างท่าเรือ และประกอบกิจการ ระยะเวลาดำเนินการ 35 ปี เงินลงทุน 55,400 ล้านบาท คาดว่าเมื่อแล้วเสร็จจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมูลค่า 32,000 ล้านบาทนั้น ความคืบหน้าล่าสุด อยู่ที่ร้อยละ 87.33 (ข้อมูล ณ วันที่ 19 เม.ย. 67) ซึ่งการถมทะเลและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2567 และสามารถก่อสร้างท่าเรือก๊าซฯ ได้ในช่วงต้นปี 2568 ก่อนที่จะพร้อมเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2570 ขณะที่การก่อสร้างโครงการฯ ในช่วงที่ 2 นั้น อยู่ระหว่างทบทวนรายงานผลการศึกษา (feasibility study) เพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาก่อสร้างท่าเทียบเรือสินค้าเหลวและพื้นที่หลังท่า

ขณะที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) มีความก้าวหน้าร้อยละ 84.81 (ณ วันที่ 22 เม.ย. 2567) คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนที่วางไว้ในปี 2567 มีนักลงทุนจากหลายประเทศให้ความสนใจเข้ามาลงทุน ล่าสุดนักลงทุนจากจีนสนใจเช่าที่ดินแบบเหมาแปลงใหญ่ เพื่อประกอบกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จคาดว่าจะเกิดการจ้างงาน 7,459 คน มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจพื้นที่กว่า 1,342 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ กนอ. ยังปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ของโลก โดยการเข้าสู่ระบบ Digital Transformation ผ่านการดำเนินงานโครงการ Digital Twin ซึ่งเป็น Platform พื้นฐานที่อยู่บนระบบดิจิทัล เชื่อมโยงข้อมูลจากอุปกรณ์เซ็นเซอร์ กล้องวงจรปิด ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำ ระบบขนส่ง และข้อมูลอื่นๆ เข้าด้วยกัน แสดงผลแบบ Real Time บนแพลตฟอร์มดิจิทัล ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถวิเคราะห์ข้อมูล ตัดสินใจ และบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการยกระดับการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง

“กนอ. พัฒนานิคมอุตสาหกรรม Digital Twin ต้นแบบแห่งแรกขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร โดยเชื่อมโยงกับระบบ IOT ต่างๆ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และระบบงานอื่นๆ ของ กนอ. เช่น ระบบอนุมัติอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-PP), ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS), ระบบฐานข้อมูลสนับสนุนการระงับเหตุ (DSS), ระบบตรวจวัดมลพิษทางอากาศ (CEMs), โครงการตามเกณฑ์ SMART I.E. ฯลฯ พร้อมทั้งพัฒนาระบบการวิเคราะห์ข้อมูล โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากอุปกรณ์ที่ติดตั้งไปประมวลผลเพื่อบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม ปัจจุบันได้ขยายผลไปยังนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ อีก 13 แห่ง ของ กนอ. รวมทั้งปรับปรุงระบบ Interface ให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น ตลอดจนพัฒนาทักษะให้กับบุคลากร คาดว่าจะทำให้ได้ธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้ กว่า 584 ล้านบาท ลดระยะเวลาการดำเนินการจากการรับส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้กว่าร้อยละ 95 เช่น จาก 1-2 วัน เหลือเพียง 1-5 นาที ดึงดูดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น และยังเป็นการสนับสนุนมาตรการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย” นายวีริศ กล่าว

ขณะเดียวกัน กนอ. ได้เดินหน้า “สถาบัน กนอ.” (I-EA-T Institute) เพื่อยกระดับนิคมอุตสาหกรรมไทยสู่ความอัจฉริยะ พัฒนาทักษะแรงงาน ผลักดันผู้ประกอบการสู่อนาคต ตอบโจทย์นักลงทุนต่างชาติ สร้างจุดแข็งให้กับประเทศ โดย สถาบัน กนอ. มุ่งเน้น 3 กลยุทธ์หลัก คือ 1.พัฒนาทักษะแรงงาน: พัฒนาหลักสูตรอบรม ทดสอบวัดผลฝีมือแรงงาน รับรองฝีมือแรงงาน 2.พัฒนานิคมอุตสาหกรรม: ยกระดับนิคมอุตสาหกรรม เน้นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart I.E.) และ 3.สร้างเครือข่าย: เชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งที่ผ่านมา กนอ. มีการเปิดหลักสูตร “ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมมืออาชีพ” (I-EA-T Orientation) มาแล้ว 2 รุ่น ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการและผู้พัฒนาเป็นอย่างมาก

ส่วนการเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำในภาคอุตสาหกรรมนั้น ได้รับรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา สถานการณ์น้ำในพื้นที่ EEC มีความต้องการน้ำที่ 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยมีน้ำสำรอง 1.18 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขณะที่ภาคเกษตรมีสิทธิ์ใช้น้ำก่อนภาคอุตสาหกรรม โดยน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก 4 แห่ง อยู่ที่ระดับร้อยละ 52.05 คาดว่าเพียงพอจนถึงฤดูฝน อย่างไรก็ตาม กนอ. ยังเตรียมแผนรับมือภัยแล้งไว้ด้วย โดยมีสระพักน้ำดิบ 1.6 ล้านลูกบาศก์เมตร สูบน้ำจากคลองน้ำหู คลองทับมา 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน สามารถผลิตน้ำรีไซเคิล 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซื้อน้ำจากเอกชน 125,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และที่สำคัญ กนอ. ยังรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด โดยวิธีลดน้ำสูญเสียและนำหลักการ 3R (Reduce Reuse Recycle) มาใช้ด้วย

#การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย #กนอ #ข่าววันนี้ #ลงทุน #นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค #โรงงาน