เผยแพร่ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับ รายประจำปีว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบต่อโลกเรา ซึ่งจัดทำขึ้นโดย “องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก” หรือ “ดับเบิลยูเอ็มโอ” (WMO : World Meteorological Organization) อันเป็นหน่วยงาน ระดับทบวง ที่มีความชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

รายงานประจำปีข้างต้น ก็ถูกเผยแพร่ออกมาในช่วงสัปดาห์นี้ หลายประเทศจัดกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องในวันคุ้มครองโลก หรือเอิร์ธเดย์

ภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบทำให้ภัยแล้ง แม้ในพื้นที่แหล่งน้ำ ก็เผชิญกับน้ำแห้งขอด (Photo : AFP)

เนื้อหาในรายงานก็เป็นผลการศึกษาติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะโลกร้อน หรือในปัจจุบันทางยูเอ็น ได้เรียกขานให้เป็น “โลกเดือด” ซึ่งรุนแรงเกินกว่าคำว่า “โลกร้อน” ไปแล้ว อันส่งผลกระทบให้โลกเกิดความแปรปรวน หรือที่หลายคนเรียกกันสั้นๆ ว่า “โลกรวน” จาก “สภาพอากาศสุดขั้ว” ของโลกเรา

ไม่ว่าจะเป็นภัยร้อน อากาศก็ร้อนอย่างแทบจะละลายไปตามๆ กัน ภัยแล้งก็แห้งแล้งอย่างชนิดที่น้ำแห้งเหือดไปทั้งโลก เหตุวาตภัย ก็เป็นพายุที่พัดกระหน่ำแทบจะกวาดสิ่งที่ขวางหน้าให้ราพณาสูร หรือราบเป็นหน้ากลอง ปรากฏการณ์ฝนตก ก็ตกลงอย่างมาหนักรวดเดียวภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งก็จะก่อให้เกิดอุทกภัย น้ำท่วมสูงฉับพลันตามมา รวมถึงทำให้เกิดภัยธรรมชาติอื่นๆ อีกต่างหากด้วย เช่น ดินโคลนถล่ม นอกจากนี้ สภาพอากาศสุดขั้ว ก็ทำให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เช่น ไฟป่า ที่ในระยะหลังมานี้ แสงเพลิงโหมไหม้รุนแรงกว่าอดีตที่ผ่านมา เป็นต้น

ไฟป่าในอินโดนีเซีย เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา (Photo : AFP)

ตามรายงานประจำปีของ “ดับเบิลยูเอ็มโอ” ระบุว่า ในช่วงรอบปี 2023 (พ.ศ. 2566) ต้องถือว่า ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน โลกเดือด จนทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ นั้นรุนแรงขึ้นกว่าปีก่อนๆ ซึ่งบังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ หลากภาคภูมิของโลกเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภูมิภาค หรือทวีปเอเชีย

ถึงขนาดที่ “ดับเบิลยูเอ็มโอ” กล่าวในรายงานว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนที่รุนแรงมากที่สุดในโลก รวมถึงอุณหภูมิในภูมิภาคแห่งนี้ ก็สูงขึ้น หรือร้อนขึ้น เร็วกว่าค่าเฉลี่ยโลกอีกต่างหากด้วย หากกล่าวสถานการณ์ในช่วงรอบปี 2023 ที่ผ่านมา

สภาพความเสียหายของบ้านเรือนในฟิลิปปินส์ ในการเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นจากมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ทวีความรุนแรงขึ้น (Photo : AFP)

ทั้งนี้ ในรายงานของ “ดับเบิลยูเอ็มโอ” ระบุว่า อุณหภูมิในภูมิภาคเอเชียของปีที่แล้ว สูงกว่าเละเกิดเร็วกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่อุณภูมิ 2 องศาเซลเซียสที่เพิ่มสูงขึ้นในระหว่างช่วงปี 1961 – 1990 (พ.ศ. 2504 – 2533) อันสะท้อนให้เห็นว่า โลกเรา ณ เวลานี้ ถูกปกคลุมด้วยปฏิกริยาก๊าซเรือนกระจกมากมายเพียงใดเฉพาะในช่วงรอบปี 2023 ที่ผ่านมา จึงทำให้อุณหภูมิในภูมิภาคเอเชียสูงขึ้นเกินกว่าค่าเฉลี่ย

โดยผลกระทบจากโลกร้อน โลกรวน ก็ก่อให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วในภูมิภาคเอเชียเป็นประการต่างๆ เช่น คลื่นร้อนที่ถาโถมโหมกระหน่ำ จนทำให้หลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย มีสภาพอากาศที่ร้อนจัด และร้อนอย่างรุนแรงมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ

ดังที่ปรากฏว่า หลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย มีอากาศร้อนจัดเป็นประวัติการณ์ ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา

นอกจากบนดินแล้ว แม้แต่ในน้ำอย่างในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นน่านน้ำฟากตะวันออกของภูมิภาคเอเชียเรา ก็ปรากฏว่า ในปีที่แล้ว อุณหภูมิพื้นผิวน้ำก็สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เช่นกัน

ชุมชนแห่งหนึ่งในเมืองซิตตเว รัฐยะไข่ ของเมียนมา ได้รับความเสียหายอย่างหนัก หลังประสบกับพายุไซโคลนจากมหาสมุทรอินเดีย (Photo : AFP)

ทั้งนี้ คลื่นความร้อนที่โถมกระหน่ำนั้น ก็ยังส่งผลทำให้บรรดา “ธารน้ำแข็ง” เกิดการละลายตัวมากขึ้นกว่าปีก่อนหน้า ซึ่งการละลายตัวของธารน้ำแข็ง ได้ก่อให้น้ำตามแหล่งน้ำต่างๆ มีปริมาณมากขึ้น รวมทั้งระดับน้ำในทะเลเพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อ “ความมั่นคงทางน้ำ” เช่น น้ำท่วมฉับพลันในบางแห่ง หรือระดับน้ำทะเลที่สูงเพิ่มขึ้น ก็อาจทำให้เมืองบางเมืองที่อยู่ชายทะเล หรือใกล้ชายทะเล ก็อาจจะตกอยู่ในสภาพเป็นเมืองจมน้ำก็เป็นได้

ทาง “ดับเบิลยูเอ็มโอ” ยังกังวลด้วยว่า จากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ก็จะทำให้เกิด “พายุ” ที่มีกำลังความเร็วลมรุนแรงเพิ่มขึ้นจากเดิมด้วยเหมือนกัน ก่อให้เป็น “วาตภัย” พัดกระหน่ำในแต่ละพื้นที่โลกอย่างน่าสะพรึง ไม่ว่าจะเป็นซีกโลกตะวันออก ในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เกิด “พายุไต้ฝุ่น” อยู่เป็นประจำ หรือซีกโลกตะวันตก ในมหาสมุทรแอตแลนติก ก็จะเกิดพายุที่เรียกว่า “เฮอริเคน” กันทุกปี ส่วนย่านมหาสมุทรอินเดีย ก็จะเกิด “พายุไซโคลน” โดยบรรดาพายุ วาตภัย ที่มีหลากหลายชื่อเหล่านี้ ก็จะทวีความรุนแรงหนักขึ้น จากสาเหตุปัจจัยที่โลกร้อนขึ้น นั่นเอง เรียกได้ว่า โลกยิ่งร้อน ลมพายุก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ คลื่นร้อนแล้ว ในช่วงรอบปีที่แล้วที่เพิ่งผ่านพ้นมา ภูมิภาคเอเชียก็เผชิญปรากฏการณ์ฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ คือ ฝนตกหนักไม่กี่วันเท่านั้น ซึ่งปรากฏการณ์นี้ จะก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมสูงฉับพลันตามมา รวมถึงการเกิดดินโคลนถล่ม คร่าชีวิตผู้คน และทำลายทรัพย์สินอย่างน่าสะพรึงในหลายพื้นที่ของประเทศในภูมิภาคเอเชีย

นักวิทยาศาสตร์วัดระดับความหนาของธารน้ำแข็ง ที่ช่วงปีที่ผ่านมา ละลายตัวลงไปเป็นอย่างมากจากสาเหตุภาวะโลก จนหวั่นเกรงว่าจะมีผลต่อปริมาณน้ำทะเลเพิ่มระดับสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อเมืองชายฝั่งทะเล (Photo : AFP)

ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับประเทศปากีสถานเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ ก็อธิบายเพิ่มเติมว่า อย่างในปีนี้ที่เพิ่งเกิดเมื่อไม่กี่วันก่อนในหลายประเทศของตะวันออกกลาง อันเป็นหนึ่งในภูมิภาคของเอเชียเรา เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโอมาน เป็นต้น ที่เกิดฝนตกเทกระหน่ำลงมาอย่างหนักที่นานเพียง 1 วัน แต่ปริมาณน้ำฝนเท่ากับ 1 ปี ในพื้นที่นั้นๆ ก็ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมสูงฉับพลันขึ้นมาทันที

ใช่แต่เท่านั้น คลื่นความร้อนที่ถาโถม จนทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนจัด ก็ยังทำให้เกิดไฟป่าได้อีกด้วย ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา ไฟป่าที่เกิดขึ้นกับผืนป่าในภูมิภาคเอเชีย ก็รุนแรงขึ้นปีก่อนๆ อาทิเช่น สถานการณ์ไฟป่าในอินโดนีเซียเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งปรากฏว่า ผลาญผืนป่าไปถึง 2.87 ล้านเอเคอร์ หรือถ้าคิดเป็นไร่ ที่ชาวไทยเราคุ้นกัน ก็ประมาณ 7.175 ล้านไร่ ที่ต้องสูญเสียไปเพราะไฟป่าเผาผลาญ โดยตัวเลขข้างต้น ก็ถือว่าเสียหายหนักขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า คือ 2022 (พ.ศ. 2565) ถึง 5 เท่าด้วยกัน

ทบวงชำนัญพิเศษด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติ ยังได้สรุปตัวเลขในรายงานด้วยว่า ในรอบปีที่ผ่านมา เอเชียเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งจากสภาพอากาศและน้ำถึง 79 ครั้ง ในจำนวนนี้ร้อยละ 80 เป็นอุทกภัยและวาตภัย ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 2,000 คน พร้อมๆ กันนั้นก็ทำให้ประชากรชาวเอเชียได้รับผลกระทบ คือ เดือดร้อนมากกว่า 9 ล้านคนด้วยกัน