ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

“ความเลว – ความชั่ว” อยู่ที่การกระทำ อะไรเล่านำให้เกิด “ความเลว – ความชั่ว” เหล่านั้น?

สุประชาเดิมชื่อประชาเฉย ๆ แต่เมื่อเขาต้องการ “เปลี่ยนชีวิต” ไปสู่โลกใหม่ที่แตกต่างและยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้น เขาก็เปลี่ยนชื่อไปมาอยู่ 2-3 รอบ จากประชาเป็นภริษศร แล้วก็เป็นยุทธวราช ก่อนที่จะกลับมาหาชื่อเดิม เพียงแต่เติม “สุ” เข้าไป นัยว่าจะได้นำเขาพ้นจากความเลวความชั่ว เมื่อได้ไปมีตำแหน่งใหญ่โตต่าง ๆ นั้น

ประชาเกิดมาในครอบครัวเกษตรกร เติบโตมากลางท้องไร่ท้องนา หรืออย่างที่เพลงลูกทุ่งเก่า ๆ เรียกว่า “กลิ่นโคลนสาบควาย” เขาเป็นลูกชายคนโตในครอบครัวที่มีพี่น้องรวม 8 คน ที่บ้านมีฐานะค่อนข้างจะยากจน แบบว่ามีมื้อกินมื้อ เพราะผืนนาผืนไร่ได้ผลผลิตไม่สม่ำเสมอ น้ำท่าก็กันดาร แล้งสองปีดีหนึ่งปี บ่อยครั้งต้องไปขอยืมข้าวญาติๆ หรือเพื่อนบ้านมาหุงเลี้ยงกัน เพราะข้าวที่เก็บเกี่ยวได้แต่ละปีแล้วเอามาเก็บไว้ไม่พอกินจนชนปี ยังมีดีอยู่บ้างที่มีป่าริมเขาชายหมู่บ้าน ก็ได้หาของป่าและสัตว์เล็กสัตว์น้อยมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่ก็ต้องขยันและแย่งชิงกันหามากินอย่างยากลำบากพอสมควร ไม่ต้องพูดถึงปูปลากุ้งหอยที่แทบจะหาไม่ได้เพราะไม่มีแหล่งน้ำใหญ่ ๆ จะมีก็แต่บ่อหรือสระเล็ก ๆ ที่ต่างคนต่างขุดไว้หาน้ำและเก็บน้ำ เพียงเพื่อไว้หุงข้าวและทำอาหาร กับที่ไว้อาบไว้กินอีกไม่มาก บางทีก็ต้องไปหาซื้อน้ำจากหมู่บ้านอื่นที่เขามีห้วยมีหนอง จึงพอได้กินได้ใช้ในบางคราวที่ขาดแคลนนั้น

พอประชาอายุ 6 ขวบก็ได้เข้าโรงเรียนในโรงเรียนประชาบาลที่อยู่หมู่บ้านติดกัน ใช้เวลาเดินเท้าประมาณครึ่งชั่วโมงในแต่ละวัน โชคดีที่มีเพื่อนร่วมโรงเรียนร่วมเดินไปด้วย ก็เดินไปเล่นไปจนถึงโรงเรียน รวมถึงในขากลับนั้นด้วย บางบ้านที่เขามีฐานะดีหน่อย ก็ซื้อจักรยานในลูกถีบ บางคนใจดีก็ชวนให้เพื่อนซ้อนไปด้วย แต่ในตอนนั้นก็ยังไม่มีบ้านไหนที่มีรถยนต์หรือ “รถกระบะ” (ชื่อเรียกเมื่อ 50 ก่อนปีตอนที่ประชาเป็นเด็ก ๆ แต่พอเขาโตเข้าเรียนหนังสือในเมือง กลับเรียกกันว่า “ปิกอัพ” ที่ฟังดูอาจจะหรูหรา ทั้งที่แปลว่า “รถบรรทุก” เท่านั้น) ดีหน่อยที่ฝุ่นผงยังไม่มาก ต่างจากในหลายปีต่อมาที่มีรถยนต์วิ่ง น้อง ๆ ของประชาที่ก็ต้องเดินไปโรงเรียน ที่หัวของทุกคนโปรยไปด้วยฝุ่นสีแดงตามสีดิน รวมถึงเสื้อผ้าและเนื้อตัว ที่เขรอะขระมอมแมมตาม ๆ กัน อีกหลายปีต่อมาจึงมีการเอาหินคลุกมาบด ฝุ่นที่ติดตามหัว ตัว และเสื้อผ้าก็ไม่ได้หายไป เพียงแต่เปลี่ยนเป็นสีเทา จนเมื่อเขาได้เรียนจบอาชีวะ ถนนแถวหมู่บ้านจึงมีการลาดยางมะตอย ฝุ่นผงก็ลดลงไปเกือบหมด ทว่าเท้ากลับร้อนและเดินบนถนนนั้นลำบากกว่าเดิม แม้จะใส่รองเท้าแล้วก็ตามที เพราะความร้อนมันระอุเหมือนไต่จากเท้าขึ้นมาตามตัวจนถึงหัว นั่นคือความทุกข์อย่างเดียวของประชาตอนเด็ก ๆ คือฝุ่นและความร้อนบนถนนของหมู่บ้านนั้น

หมู่บ้านของประชานอกจากจะไม่มีโรงเรียนแล้วก็ยังไม่มีวัด ผู้คนในหมู่บ้านของประชาถ้าจะทำบุญหรือร่วมพิธีทางศาสนาต่าง ๆ ก็ต้องเดินทางไปที่วัดในหมู่บ้านที่มีโรงเรียนตั้งอยู่นั้นอีกเช่นกัน ประชาจำได้ว่าวันไหนที่วัดนั้นมีงาน จะได้ยินเครื่องเสียงเปิดตั้งแต่ตอนบ่าย ๆ เพื่อลองเครื่องและเรียกชาวบ้านให้เตรียมตัวมาร่วมงาน พอถึงตอนค่ำเครื่องเสียงก็จะดังกระหึ่มขึ้น กระทั่งบ้านของเขาที่ฝาเป็นไม้ไผ่สานขัดแตะกระเพื่อมเป็นจังหวะตามเสียงกลอง พ่อจะพาประชาและน้อง ๆ ที่โตและเรียนหนังสือแล้วไปเที่ยวงานที่วัด โดยออกเดินทางร่วมไปกับบ้านอื่น ๆ ส่วนแม่ก็จะอยู่บ้าน ดูแลน้องเล็ก ๆ ที่ยังไม่เข้าโรงเรียน เพราะยังเล็กเกินไปและดูแลตัวเองไม่ได้ โดยเมื่อถึงวัดพ่อก็จะให้ประชาดูแลน้อง ๆ ให้เงินเล็กน้อยไปซื้อขนม เช่น ท๊อฟฟี่และขนมโก๋มาแบ่งกันกิน แล้วให้ไปดูหนังกลางแปลง ส่วนพ่อก็จะไปดูมวย (ความจริงคือไปเล่นมวยหรือพนันมวย) พอมวยจบก็จะมาดูหนังร่วมกับลูก ๆ จนประมาณ 2 ยาม น้ำค้างเริ่มปรอย ๆ ลงมาพอเย็น ๆ เส้นผม ก็ดูหนังได้สัก 2 เรื่อง ก็พากันกลับ ถึงบ้านหัวถึงหมอนก็หลับด้วยความเหนื่อยเพลียกันไปทุกคน ตื่นมาอีกทีก็ตอนใกล้สว่าง เพราะเสียงเครื่องไฟและแผ่นเสียงดังขึ้นอีกรอบ เพื่อที่จะให้แต่ละบ้านเตรียมตัวไปร่วมทำบุญและฟังเทศน์ในตอนเช้า ด้วยเครื่องเสียงปลุกค่ำปลุกเช้าแบบนี้ทำให้คนในไร่ในนาหลายคนรวมถึงประชาด้วยนี้ ได้ร้องเพลงคลอตามไป และบางคนก็ได้เป็นนักร้องเสียงดี ๆ มีชื่อเสียงในเวลาต่อมา ทั้งนี้เพราะหลาย ๆ บ้านก็ไม่ได้มีวิทยุ แต่ได้อาศัยฟังเพลงจากรถเร่ระหว่างที่รอฉายหนังกลางแปลงนี้เองฝึกฝนหัดร้อง รวมถึงงานวัดบางแห่งก็จะมีประกวดร้องเพลงในงาน สร้างความฝันใหม่ให้กับเด็ก ๆ และหนุ่มสาวสมัยนั้น ที่อยากเป็น “คนเด่น - คนดัง” แบบง่าย ๆ ตามวิถีชีวิตอย่างคนในชนบทนี้

เพื่อนคนหนึ่งของประชาเคยชวนประชาขึ้นประกวดร้องเพลง ตอนนั้นเขาเรียนอยู่ชั้น ป.6 กำลังจะขึ้น ป.7 (สมัยนั้นเมื่อ 50 ปีก่อน ระบบการศึกษาของไทยชั้นประถมศึกษาจะมี 7 ชั้น แบ่งเป็นประถมศึกษาตอนต้น 4 ชั้น และตอนปลายอีก 3 ชั้น จากนั้นก็ขึ้นชั้นมัธยมศึกษาอีก 5 ชั้น โดยแบ่งมัธยมศึกษาตอนต้นอีก 3 ชั้น และตอนปลายอีก 2 ชั้น) เขากับเพื่อนพากันไปฝึกร้องในทุ่งนา โดยเพื่อนจะเริ่มร้องก่อนจากระยะห่าง 4-5 ช่วงตัว แล้วเดินไปร้องห่างออกไปทีละช่วงคันนา (ช่วงคันนาคือระยะห่างของแปลงนาแปลงหนึ่ง ๆ ซึ่งจะกว้างคูณยาวประมาณ  40 - 50 เมตร) แล้วตะโกนถามว่ายังได้ยินเสียงเพลงชัดไหม เพื่อนบอกว่าวิธีนี้จะช่วยฝึกการเพิ่มพลังเสียง บางทีก็ปีนต้นตาลขึ้นไปร้องลงมาจากข้างบนยอดตาล เพื่อนบอกว่าจะทำให้ไม่ประหม่าและเสียงไม่สั่น (เพราะคนที่กลัวความสูงก็เหมือนกับคนที่กลัวคนหมู่มาก จะกลัวและตื่นเต้นจนเสียงสั่น) แต่ที่แปลกไปกว่านั้นก็คือไปแอบร้องกันในโอ่งเก็บน้ำขนาดยักษ์ของโรงเรียน ใบที่ไม่มีน้ำแล้วและสามารถลงไปอยู่ในนั้นได้ทั้งตัว แล้วลองเสียงร้องให้ดังขึ้นทีละนิดๆ เพื่อฝึกให้เสียงก้องและมีลูกคอที่น่าฟัง วิธีการทั้งหมดนี้เพื่อนบอกว่าจำเอามาจากรายการวิทยุรายการหนึ่ง ที่พิธีกรเล่าถึงการฝึกร้องเพลงแบบต่าง ๆ เหล่านั้น

อย่างไรก็ตามประชาก็ไม่ได้ไปประกวดเป็นนักร้องกับเพื่อน พอจบชั้นประถม 7 เขาก็ไปเรียนต่อในเมือง โดยไปอาศัยอยู่ญาติของพ่อคนหนึ่ง ญาติคนนี้มีศักดิ์เป็นอาของพ่อ หรือเป็นปู่น้อยของประชานั่นเอง ปู่น้อยเป็นข้าราชการระดับเล็ก ๆ ระดับเสมียนที่ศาลากลางจังหวัด แต่วางท่าเป็นคนใหญ่คนโตน่าดู ยิ่งในบ้านแล้วก็ยิ่งวางก้ามเป็นเจ้าขุนมูลนาย คุณนายเป็นแม่บ้านก็วางท่าแบบคุณหญิงไม่น้อยไปกว่ากัน ครอบครัวนี้มีลูก 5 คน ทุกคนกลัวพ่อและแม่จนลนลานและอยู่ในระเบียบอย่างเรียบร้อย ลูกคนเล็กชื่อจอร์จอายุเท่าประชา และกำลังขึ้นเรียนชั้นมัธยม 1 เช่นกัน แต่ประชาก็ต้องเรียกลูกคนนี้ว่า “คุณจอร์จ” เพื่อไม่ให้ทำตัวเสมอกัน ซึ่งคุณจอร์จนี่เองที่ได้สร้างนิสัยบางอย่างให้เกิดขึ้นกับประชา เพียงแต่ไม่ใช่วิถีที่ “สูงศักดิ์” แต่อาจจะเรียกในสมัยนี้ว่า “ต่ำตม” คือค่อย ๆ ถึงประชาไปในทางชั่วหรือให้กลายเป็น “คนเลว” อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลยนั่นเอง

บางคนว่าความดีนั้นทำยากกว่าความชั่ว แต่สำหรับบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “ความดี - ความชั่ว” นี้ต่างกันอย่างไร?