สถานการณ์ภัยแล้งกำลังคืบคลานเข้ามา สร้างผลกระทบทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นหน่วยงานหลักในระดับพื้นที่ที่จะต้องหาทางแก้ปัญหาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

โดยที่ตำบลวังตะเคียน อ.เขาสมิง จ.ตราด 2 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านแก่งหิน และหมู่บ้านหินดาษ อ่างน้ำสาธารณะ และคลองสาธารณะ รวมทั้งอ่างน้ำส่วนตัวในแต่ละสวนน้ำแห้งติดพื้นที่ เครื่องสูบน้ำของเกษตรกรที่สูบน้ำเข้าสวนผลไม้หัวโข่’โผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำ เนื่องจากระดับน้ำเหลือน้อย และเกือบแห้งจนไม่พอใช้ในอีก 7 วันข้างหน้า ซึ่งช่วงนี้ทุเรียน และมังคุดที่กำลังออกผลและใกล้เก็บผลได้ต้องการน้ำมารดต้นไม้เพื่อให้สุกและสามารถตัดขายได้ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2567 แต่ปัญหาก็คือ น้ำในอ่างสาธารณะและในคลองสาธารณะก็แห้ง บ้างแห่งเหลือเพียงติดพื้นเท่านั้น 

นายสวิป อรุณมาตร สมาชิกสภาอบต.วังตะเคียน หมู่ 4 บ้านแก่งหิน ได้ออกสำรวจปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสาธารณะของตำบล 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำช้างน้อย และฝายน้ำคลองเว้ บ้านแก่งหิน พบว่า น้ำในอ่างเก็บน้ำ และฝายแก่งหินเหลือน้ำน้อยมาก และหากไม่มีน้ำมาเติบอีกไม่เกิน 5-7 วันน้ำจะแห้งและหมดไป ส่วนอ่างมีน้ำจากคลองเขาสมิงมาเติมจากการที่อบต.วังตะเคียนใช้เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าสูบน้ำมาเติมให้ตลอด 24 ชม.เนื่องจากอ่างเก็บน้ำช้างน้อย มีขนาดใหญ่และมีเกษตรกรสูบน้ำมาใช้ในการเกษตรกว่า 20-30 ราย 

ขณะที่คลองเขาสมิงระดับน้ำเหลือติดเพียงระดับพื้น แต่น้ำยังคงไหลต่อเนื่อง ซึ่งโครงการชลประทานตราดกำลังสร้างเครื่องสูบน้ำเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาภัยแล้งใน 2 หมู่บ้าน โดยโครงการจะแล้วเสร็จในปี 2568 นี้ 

นายมานะ ผลศิริ นายกอบต.วังตะเคียน เปิดเผยว่า ปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ตำบลวังตะเคียนเกิดจากความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นมากจากการปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น ซึ่งแต่ละสวนก็สร้างสระน้ำส่วนตัวไว้ใช้ โดยที่ผ่านมาได้ประชุมกับกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนไว้ล่วงหน้าแล้วในเรื่องการเตรียมน้ำเพื่อการเกษตร แต่เกษตรกรไม่ตระหนักในเรื่องนี้ ซึ่งวันนี้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ 2-3 แห่ง จึงได้ใช้เครื่องสูบน้ำ 6 ตัว สูบน้ำจากคลองส่งน้ำจากอ่างคลองโสนที่ห่างจากตำบลวังตะเคียนถึง 10 กม.มาเติมในอ่างที่น้ำพร่อง ซึ่งต้องยอมรับว่ากว่าจะสูบได้เต็มแต่ละอ่างต้องใช้เวลา จากนั้นก็จะระบายปล่อยมาจากด้านบนมายังด้านล่างเป็นทอดๆไป จากนั้นเกษตรกรต้องใช้เครื่องสูบน้ำส่วนตัวสูบน้ำเข้าพื้นที่เอง จะสามารถแก้ไขได้ระดับหนึ่ง จะให้ อบต.วังตะเคียนทำทั้งหมดคงไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากงบประมาณมีจำกัดและต้องช่วยเหลือเกษตรกรในหลายพื้นที่ ที่ผ่านมาใช้งบประมาณค่าไฟฟ้าไปแล้วกว่า 6 แสนบาท ปีที่ผ่านมาก็ใช้ไป 3.6 ล้านบาท 

“พนักงานอบต.วังตะเคียน และผมไม่ได้หยุดทำงานเลย ออกพื้นที่แก้ไขปัญหาให้ประชาชนต่อเนื่อง และใช้งบประมาณเท่าที่มี ซึ่งวันนี้เกินกำลังแล้ว ซึ่งต้องรองบประมาณจากจังหวัดมาช่วยเหลือซึ่งได้เสนอไปยังอำเภอเขาสมิงไปแล้วเหมือนที่หลายอบต.ในอำเภอเขาสมิงได้ทำไป แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งวันนี้ 8 ตำบลในอำเภอเขาสมิงขาดแคลนน้ำมาก ในส่วนชลประทานตราดก็ได้นำรถน้ำมาช่วยเหลือแต่ยังไม่เพียงพอ รวมทั้งรถน้ำของ อบต.วังตะเคียนก็มี 1 คันที่พอช่วยเฉพาะหน้าได้ แต่ในปี 2568 สถานีสูบน้ำที่สร้างในพื้นที่หมู่ 4 ที่ใช้งบประมาณ 60 ล้านบาทที่ชลประทานตราดมาสร้างให้จะช่วยให้หมู่ 4 และหมู่ 7 ไม่ขาดแคลนน้ำซึ่งผมประสานงานมาดำเนินการตั้งแต่เป็นนายกอบต.วังตะเคียนสมัยที่ 2 “นายกอบต.วังตะเคียน กล่าว 

ขณะที่จังหวัดบุรีรัมย์ นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผวจ.บุรีรัมย์ พร้อมด้วย นายบุญประสงศ์ นวลสายย์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบุรีรัมย์ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจติดตาม และประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง ในพื้นที่อำเภอแนวชายแดนไทย-กัมพูชา หลังพบว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งค่อนข้างสูง คือ อ.ละหานทราย กับ อ.โนนดินแดง ซึ่งสถานการณ์ภัยแล้งใน 2 พื้นที่อำเภอดังกล่าว ได้มีประชาชนได้รับผลกระทบแล้วกว่า 4,000 คน 

พร้อมกันนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ และคณะ ยังได้ทำการสำรวจ และรับทราบสภาพปัญหา การขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค น้ำใช้ในภาคการเกษตร และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งระยะเร่งด่วน และระยะยาว โดยทาง อ.โนนดินแดง มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง ได้แก่ ม.11 ม.12 ม.14 ต.โนนดินแดง มีประชาชนได้รับผลกระทบ จำนวน 2,030 คน 522 ครัวเรือน ซึ่งเบื้องต้นได้ดำเนินการสูบน้ำจากคลองชลประทานเขื่อนลำนางรอง มากักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำซับหินเพลิง ตั้งแต่วันที่ 6-16 เมษายน 2567 ได้ปริมาณน้ำ 35,000 ลบ.ม. ซึ่งสามารถแก้ไขการแคลนน้ำได้ ถึงเดือนกรกฎาคม 2567 

ส่วนพื้นที่ อ.ละหานทราย มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง ได้แก่ ม.5 ตำบลหนองแวง มีประชาชนได้รับผลกระทบ จำนวน 2,000 คน 500 ครัวเรือน ซึ่งได้ดำเนินการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำ พะยิว ระยะทาง 4 กม. มายังบ่อน้ำสาธารณประโยชน์ ม.5 บ้านหนองตาเยา ต.หนองแวง อ.ละหานทราย สามารถแก้ไขการขาดแคลนน้ำ ถึงเดือนกรกฎาคม 2567

ผวจ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของทั้ง 2 อำเภอ ในระยะยาวด้วยการรับฟังความคิดเห็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่แล้ว เพื่อสร้างความมั่นคงน้ำในพื้นที่อย่างยั่งยืน ซึ่งได้ดำเนินโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย การประปาส่วนภูมิภาคสาขาละหานทราย - โนนดินแดง- บ้านกรวด /อำเภอละหานทราย- โนนดินแดง- บ้านกรวด วงเงินงบประมาณ 377 ล้านบาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 และทำโครงการก่อสร้างระบบผลิต น้ำขนาด 100 ลบ.ม./ชม. การประปาส่วนภูมิภาค สาขาละหานทราย หน่วยบริการ โนนดินแดง อำเภอโนนดินแดง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาคได้เสนอในแผนงานบูรณาการ จัดการน้ำปี 2568 (TWP) เรียบร้อยแล้ว

ส่วนที่จังหวัดตรัง นายสุภัทธ คงด้วง เกษตรอำเภอปะเหลียน จ.ตรัง มอบหมายให้ นายอำนาจ เซ่งเซี่ยง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ และนางสาวชุติมา อ่องศรี นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอําเภอปะเหลียน ลงพื้นที่หมู่ที่ 6 ต.สุโสะ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เพื่อติดตามสวนยางพาราที่ประสบปัญหาจากฝนทิ้งช่วงในฤดูแล้ง โดยแปลงดังกล่าวปลูกยางพาราช่วงกลางปี 2566 ซึ่งในปีนี้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงในฤดูแล้ง ทำให้ยางพาราบางส่วนยืนต้นตาย 

ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรอำเภอปะเหลียนได้มีการดำเนินการเตรียมรับมือภัยแล้งมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 โดยการแจ้งขอรับบริการฝนหลวงของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผ่านทางสำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง เบื้องต้นได้มีการแนะนำให้เกษตรกรใช้วิธีรักษาความชื้นในหน้าดิน เพื่อไม่ให้หน้าดินมีความแห้งจนเกินไป และหนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมมากคือการคลุมดิน หรือห่มดิน โดยใช้วัสดุเหลือใช้ในการทำการเกษตร เช่น หญ้า ฟาง ใบไม้ ทางมะพร้าว หรือทางใบปาล์ม เพื่อให้หน้าดินไม่แห้ง และรักษาความชื้นได้นานจนเกิดการย่อยสลายเป็นอินทรียวัตถุ อีกทั้งยังแนะนำให้เกษตรกรปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบันทุกปี และเมื่อได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติคือ ให้ทำการแจ้งข้อมูลความเสียหายเบื้องต้นให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบ เพื่อประสานให้ความช่วยเหลือในขั้นตอนต่อไป

นางนิตยา จันทร์ประทีป เกษตรอำเภอเมืองตรัง พร้อมด้วย นางนนิดา คุปต์กาญจนากุล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองตรัง และนางกนกกาญจน์ คงแก้ว นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง ร่วมกับ นายชัยวัฒน์ เพชรเล็ก อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน ติดตามแปลงทุเรียนที่ประสบปัญหาจากฝนทิ้งช่วงในฤดูแล้ง ณ สวนทุเรียน และแปลงเกษตรผสมผสานของ ว่าที่ร้อยโทธนภัทร หลักเพชร หมู่ 6 ต.หนองตรุด อ.เมือง จ.ตรัง

พื้นที่เกษตรมีการปลูกทุเรียน อายุ 3 ปี จำนวน 7 ไร่ 3 งาน สละสุมาลี จำนวน 7 ไร่ กล้วยหอมทอง จำนวน 7 ไร่ มะละกอ จำนวน 8 ไร่ และส้มโอ จำนวน 8 ไร่ ซึ่งภายในแปลงมีการขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำ จำนวน 2 สระ ลึก 20 เมตร และ 10 เมตร และมีการจัดการทำระบบน้ำ โดยสมบูรณ์ทั่วทั้งพื้นที่เพาะปลูก แต่ประสบปัญหาขาดน้ำ เนื่องจากฝนทิ้งช่วงในฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ทำให้น้ำในสระไม่เพียงพอในการทำการเกษตร ส่งผลให้ต้นทุเรียนจำนวนมากยืนต้นตายเสียหายสิ้นเชิง และไม้ผลอื่น ๆ ขาดน้ำในระดับวิกฤติ

เบื้องต้นได้มีการแนะนำให้ ปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ และสิ่งสำคัญเมื่อได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติคือ ให้ทำการแจ้งข้อมูลความเสียหายเบื้องต้นให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบ เพื่อประสานให้ความช่วยเหลือในขั้นตอนต่อไป