รัฐบาล “เศรษฐา 1” บริหารประเทศไปแล้วถึง 7เดือน หากจะมองว่าเป็นห้วงเวลาที่ยาวนาน ที่รัฐบาลผสมต้องเผชิญหน้ากับมรสุม สารพัดแรงกดดัน ที่มาพร้อมๆกับ “ความคาดหวัง” ของผู้คนก็ย่อมได้

หรือหากจะมองในมุมของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ว่าเวลาไม่พอกับการบริหารงานเพื่อช่วยเหลือ และแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ก็ย่อมได้ ไม่ผิดแผกอีกเช่นกัน

แต่เมื่อวันนี้สถานการณ์ทางการเมืองรอบด้าน เกิดเป็นปัจจัย “กดดัน” ทั้งภายในและนอกรัฐบาล ไปจนถึง “พรรคเพื่อไทย” เอง การปรับเปลี่ยนตัวผู้เล่นในบางเก้าอี้จึงต้องเกิดขึ้น ไม่ต่างจากไฟต์บังคับ โดยเฉพาะเมื่อโฟกัสไปที่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคใหญ่ พรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งมีแนวโน้มว่าต้องหมุนเวียน เปลี่ยนด้วยกันหลายที่นั่ง

และที่ถูกจับตามากที่สุดคือ โอกาสที่เศรษฐา จะเหลือเก้าอี้ “สร.1” เพียงตำแหน่งเดียว ย่อมเป็นไปได้สูง เนื่องจากที่ผ่านมา แม้เศรษฐา จะนั่งควบ “ขุนคลัง” เป็นเบอร์หนึ่ง แต่งานหลักๆคือการทำหน้าที่ นายกฯ อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล จนบ่อยครั้งที่ “ฝ่ายค้าน” ถึงกับเปรยว่าบรรยากาศที่กระทรวงการคลังนั้นเงียบผิดปกติ เพราะเจ้ากระทรวง ที่นั่ง “ว่าการฯ” นั้นไม่ย่างกรายมาเลย

กระทรวงการคลัง นอกจากจะมีรายงานว่า อาจถึงคราวที่ต้อง ส่ง “ผู้เล่นชุดใหม่” เข้ามาประจำการ กันอย่างเป็นทางการเสียที !

เศรษฐา จะอยู่หรือไป จากกระทรวงการคลัง หรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ยังต้อง ลุ้นกันต่อ แต่ที่แน่ๆ ชื่อของ “พิชัย ชุณหวชิร” นั่งทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สะพัดขึ้นมาจ่อคิว ในฐานะ “ว่าที่ขุนคลังคนใหม่” อย่างต่อเนื่อง

ประเด็นที่ทำให้ชื่อพิชัย ยังแรงดีไม่มีตก หลักใหญ่ใจความเนื่องจากเป็นคนที่ใกล้ชิดกับครอบครัวชินวัตร มาตั้งแต่แรก  ตามมาด้วยชื่อ “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รองเลขาธิการพรรคและโฆษกคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย มีชื่อเตรียมนั่ง “รมช.คลัง”

นัยว่าถูกส่งตรงมาจากพรรคเพื่อขับเคลื่อน นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ในฐานะ “มือปั้น” โครงการแจกเงินหมื่น มาตั้งแต่แรก  ทั้งนี้เผ่าภูมิ คือผู้ที่ทำหน้าที่เดินสาย ชูนโยบายแจกเงินหมื่น ดีเบตบนเวทีหาเสียงชนกับตัวแทนจากพรรคการเมืองอื่นๆ 

ทำให้ชื่อของเผ่าภูมิ ติดโผในการปรับครม. มาตั้งแต่ “เศรษฐา 1”  แต่สุดท้าย โผพลิก เมื่อ ปรากฏว่า เศรษฐา นั่งควบ รมว.คลัง และมี “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” นั่งทำหน้าที่รมช.คลัง  และเมื่อวันที่รัฐบาลนำแถลงข่าวที่ทำเนียบฯ มีเผ่าภูมิ ร่วมวงแถลงกับจุลพันธ์ เสมือนเป็นการ “เปิดตัว” อยู่กลายๆ

การปรับครม.รอบนี้ สำหรับพรรคเพื่อไทยแล้ว ดูจะมีความหมาย และมีความสำคัญมากกว่าใคร !

โดยเฉพาะเมื่อพรรคเพื่อไทย นั้นต้องรักษา ดีเอ็นเอ รักษาจุดแข็งจาก “พรรคไทยรักไทย” ที่ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ปลุกปั้นมากับมือ คือความเหนือชั้นของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้องให้ได้เห็นเป็นรูปธรรม  ดังนั้นพรรคเพื่อไทยต้องดึงความแข็งแกร่ง ให้กลับคืนมาด้วยการมีมือเศรษฐกิจ ที่ ครอบครัวชินวัตร ไว้ใจได้ว่าจะช่วยดึง “เรทติ้ง” ให้พรรคได้มากขึ้น

สถานการณ์ของพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลเมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบกับ พรรคก้าวไกล ต้องยอมรับว่ายังตกเป็นรองหลายช่วงตัว   เพราะแม้วันนี้พรรคก้าวไกล จะเป็นฝ่ายค้าน และยังอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงจะถูกยุบพรรคหรือไม่ แต่ปรากฏว่า ผลการสำรวจความนิยมที่ผู้คนมีต่อพรรคก้าวไกล กลับพุ่งแรง แซงหน้า พรรคเพื่อไทย ในฐานะรัฐบาล ทำเอา “เจ้าของพรรคตัวจริง” อย่าง ทักษิณ อาจต้องกุมขมับ

การปรับครม. รอบนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้พรรคเพื่อไทยเองได้จังหวะพลิกเกม ทั้งในด้านบริหารไปจนถึงการเมือง ที่ต้องเร่งสร้างคะแนน หนีพรรคก้าวไกล ให้ห่างออกไป ด้วยการชู ความเป็นมืออาชีพด้านเศรษฐกิจ ตอกย้ำ มอตโต้พรรคเพื่อไทย เพื่อให้คนไทยมีกิน มีใช้ !