มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ตื่นตัวเพื่อยกระดับคุณภาพ มาตรฐาน ด้านการเรียนการสอนและการวิจัย เพื่อก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศระดับสากล ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีวัตถุประสงค์ในการเป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งพัฒนากำลังคนระดับสูงระดับประเทศ สร้างองค์ความรู้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาภาคใต้ พัฒนาประเทศ รวมถึงการทำงานให้ได้มาตรฐานระดับสากลเชื่อมต่อกับนานาชาติ โดยเฉพาะยิ่งในภูมิภาคอาเซียน ตามเจตนารมณ์ของ ท่านพันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ ผู้ริเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2508 และยังเป็นบุคคลสำคัญในการก่อตั้งประชาคมอาเซียนอีกด้วย ดังนั้นภารกิจหนึ่งที่สำคัญของมหาวิทยาลัยฯ คือ การทำงานระดับนานาชาติเพื่อที่จะสร้างกำลังคนของมหาวิทยาลัยฯให้เป็น Global Citizen และเป็นสมาชิกสมาคมอาเซียนที่มีคุณภาพ ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยฯที่ว่า “การสร้างประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์ สร้างคนดีมีคุณภาพมีความสามารถ มีจิตอาสาที่จะออกมาดูแลสังคม” ซึ่งถือเป็นคุณค่าที่เป็นสากล เพราะว่าการที่คนคนหนึ่งสามารถคิดถึงคนอื่นได้ไม่เห็นแก่ตัว ถือว่าเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่า สร้างอนาคตให้กับประเทศได้ ในส่วนของยุทธศาสตร์การดำเนินการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณค่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับแนวหน้าของโลก ทั้งนี้ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อยู่ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศในกลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยฯ ที่มุ่งเน้นการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือต้องมีบุคลากรที่มีคุณภาพ มีความสามารถที่จะพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมควบคู่ไปกับการพัฒนากำลังคนระดับสูง ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก และสาขาเฉพาะทางที่มีความชำนาญ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีหลักสูตรมากกว่า 300 หลักสูตร มีวิทยาเขตถึง 5 วิทยาเขตด้วยกัน ได้แก่ วิทยาเขตปัตตานี, หาดใหญ่,  ตรัง, สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต  ซึ่งครอบคลุมทั่วภาคใต้ 

ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับบทบาทของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการพัฒนาภาคใต้ พัฒนาสังคม และพัฒนาประเทศ ซึ่งสิ่งที่มหาวิทยาลัยฯ ภูมิใจ คือ การได้สร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 จนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยฯมีศิษย์เก่ามากกว่า 200,000 คน ที่ทำงานอยู่ทั่วภาคใต้ ทั่วประเทศและบางท่านก็อยู่ต่างประเทศ ในขณะเดียวกันในพื้นที่ก็มีสภาพปัญหาสภาพทางภูมิศาสตร์ที่หลากหลาย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก็มีบทบาทสำคัญที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนด้วยความเป็นกลางทางวิชาการเพื่อความจริงใจที่จะถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ การดูแลคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลสงขลานครินทร์,โรงพยาบาลทันตกรรม,โครงการที่ดูแลผ่าตัดเด็กเล็กที่ปากแหว่งเพดานโหว่, โครงการ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” (Phuket Sandbox) โดยบทบาทที่สำคัญ คือ การให้โอกาสทางการศึกษาให้สิ่งดีๆ ที่เป็นความก้าวหน้าทางวิชาการ ให้โอกาสกับคนในฐานรากต่างๆได้พัฒนาอาชีพ เช่น โครงการ PSU BAZAAR ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยฯให้ความสำคัญเรื่อง Non Degree คือ การฝึกอบรมที่ไม่ต้องเรียนยาวๆ แต่ได้ประเด็นสำคัญ ได้ทักษะสำคัญออกไป สิ่งเหล่านี้มหาวิทยาลัยฯจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาศักยภาพคนทั่วไปด้วยในการยกระดับความสามารถของคน อีกอันหนึ่งก็คือ เราเป็นมหาวิทยาลัยฯ ที่มีความสามารถทางด้านภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาอาหรับ ภาษาเกาหลี ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเยอรมัน ภาษามลายู  ภาษาอังกฤษฝรั่งเศส เรามีความสามารถทั้ง 5 วิทยาเขต มีบุคลากรที่มีความสามารถฝึกอบรมเตรียมความพร้อมให้กับพี่น้องในภาคใต้ทั้งเยาวชนที่จะประสงค์จะศึกษาต่อคนที่ทำธุรกิจต่างๆ เพราะฉะนั้นขีดความสามารถพวกนี้มหาวิทยาลัยสามารถให้บริการได้ทั้ง On-site และ Online คิดว่าจะเป็นประโยชน์มากในการยกระดับขีดความสามารถของประชาชน ดังนั้นบทบาทของมหาวิทยาลัยฯ เน้นหนักคือการดูแลทั้งเชิงลึก ทางวิชาการ สร้างอาชีพ สร้างโอกาสในชีวิตในการศึกษาต่อให้กับประชาชน สำหรับการทำงานในตรงนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำได้ดีแต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ลืมที่จะทำให้หลักสูตรต่างๆ ได้มาตรฐานตามเกณฑ์วิชาชีพระดับโลก ทั้งเกณฑ์ของประชาคมอาเซียน ที่เรียกว่า AUN-QA ก็คือ หลักสูตรที่สามารถจะเรียนแล้วก็ถ่ายโอนหน่วยกิตกันได้ในประเทศอาเซียน สิ่งเหล่านี้มหาวิทยาลัยฯ ก็มีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนให้มหาลัยสงขลานครินทร์ มีคุณภาพสูง มีความเป็นมหาวิทยาลัยฯที่ได้รับการยอมรับระดับสากล ดังนั้นถ้าดูจาก Ranking ต่างๆ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก็ถือว่าระดับ Top Ten ของประเทศไทย ซึ่งเป็นทั้งมหาวิทยาลัยฯ ที่มีคุณภาพสูงแล้วก็เป็นมหาวิทยาลัยฯที่เป็นสมาชิกถาวรของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน 30 มหาวิทยาลัยฯจาก 10 ประเทศ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก็เป็น 1 ใน 5 ที่เขาคัดเลือกเป็นสมาชิกถาวรของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนหรือ (AUN) ASEAN University Network  ก็ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราชาวสงขลานครินทร์และเชื่อว่าพี่น้องประชาชนในภาคใต้ ในประเทศไทย ซึ่งเรามุ่งมั่นทุ่มเท เพื่อทำให้มหาวิทยาลัยฯเป็นกลไกสำคัญในการสร้างอนาคตให้กับประเทศ

ทางด้าน รศ.ดร.ธนิต   เฉลิมยานนท์  รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและการเงิน  กล่าวถึง วิสัยทัศน์และพันธกิจของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในปี 2566-2570 ที่นำมาใช้ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยฯนำไปสู่ World Class University 


ในส่วนของการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยซึ่งเรามีวิสัยทัศน์ที่ว่า “มหาวิทยาลัยแห่งคุณค่า” เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับแนวหน้าของโลก มหาวิทยาลัยฯมุ่งเน้นที่จะสร้างความเป็น World Class University ยกระดับ 5 เรื่องที่ คือเรื่องของอาหาร เรื่องการแพทย์ เรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องของสังคมพหุวัฒนธรรม และก็เรื่องของการท่องเที่ยวมูลค่าสูง ซึ่งทั้ง 5 เรื่องเหล่านี้เป็นจุดแข็งของประเทศไทยอยู่แล้วและมหาวิทยาลัยเองก็มีความพร้อมทั้งด้านกำลังคน ทางด้านองค์ความรู้ที่จะขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ให้เกิดผลลัพธ์ประสิทธิผลที่ยั่งยืน โดยจะดำเนินการสร้างศักยภาพของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศและส่งผลไปถึงประชาคมโลกในภาพรวมด้วย
โดยในปี 2570 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะอยู่ใน 5 อันดับแรกของโลก

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้วางเป้าหมายไว้ว่าในปี 2570 อยากเห็นผลเชิงประจักษ์ในเรื่องของการสร้างองค์ความรู้การสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในภาคใต้และประเทศไทย รวมถึงอยากจะเห็นมหาวิทยาลัยฯ มีความก้าวหน้าในเรื่องของการจัดลำดับในระดับโลกโดยใช้เกณฑ์ของ  QS World University Rankings เป็นตัวจัดอันดับ โดยวางเป้าว่าในปี 2570 มหาวิทยาลัยฯ จะอยู่ในลำดับที่อย่างน้อยใน 5 อันดับแรกของโลก โดยที่มหาวิทยาลัยฯ ยังมุ่งเน้นไปถึงสาขาสำคัญๆ ได้แก่ สาขาการท่องเที่ยว และสาขาการเกษตร ที่จะขับเคลื่อนให้อยู่ในระดับ 100 อันดับแรกของโลก รวมถึงสาขาการแพทย์ และสาขาทางด้านวิศวกรรมเคมี ที่อยากจะยกระดับให้ถึงระดับภายใน 300 ลำดับแรกของโลก ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์บรรลุวิสัยทัศน์ที่จะเป็นมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าของโลก 

ทางด้าน ผศ.ดร.เถกิง  วงศ์ศิริโชติ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ กล่าวถึงกรณี การขับเคลื่อนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่มีการสร้างความร่วมมือกับนานาชาติเพื่อมุ่งสู่ World Class University และเป็นที่ยอมรับในระดับโลกว่า การที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะเป็น World Class University สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องพันธมิตร ซึ่งพันธมิตรของเรามีหลายกลุ่มหลายรูปแบบแม้แต่พันธมิตรที่เป็นมหาวิทยาลัยด้วยกัน พันธมิตรที่เป็นเอกชน และพันธมิตรที่เป็นเครือข่าย เราอยู่ในเครือข่ายหลายๆเครือข่ายที่สำคัญของโลก เช่น AUN หรือ ASEAN University Network ซึ่งในมหาวิทยาลัยไทย เราก็ร่วมอยู่ในเครือข่ายนี้หลายมหาวิทยาลัย นอกจากนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยังเป็นคนที่ดูแลเรื่อง IMT-GT UNINET (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle University Network) คือเครือข่ายมหาวิทยาลัยในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย มากกว่านั้นถ้าไปไกลกว่าในพื้นที่อาเซียนเราก็ยังมีเครือข่ายอื่นๆที่เราจะต้องเข้าไปร่วม ทำงานด้วยกัน ก็คือ ในเครือข่าย ASEA-UNINET ของประเทศออสเตรีย หรือเครือข่ายในกลุ่มประเทศยุโรปและมีโครงการต่างๆไม่ว่าจะเป็นโครงการทางด้านวิจัยด้านการแลกเปลี่ยนนักศึกษาบุคลากรผ่านเครือข่ายของยุโรปเป็นจำนวนมาก หรือโครงการที่เรารู้จักในนามของ Erasmus Mundus นอกจากนี้ก็ยังมีโครงการอื่นๆที่จะยกระดับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ให้เป็นมหาวิทยาลัยระดับ World Class University ได้หรือระดับโลกได้ เช่น การพยายามยกระดับหลักสูตร ในหลายๆหลักสูตรที่พร้อมที่จะได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ตอนนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติหลายหลักสูตร ตัวอย่างเช่น หลักสูตรการท่องเที่ยวและการโรงแรมที่มีเขตภูเก็ต อันนี้ก็ได้มาหลายปีแล้ว ตอนนี้เรากำลังวางแผนที่จะยกระดับหลักสูตรด้านวิศวกรรมศาสตร์ก็คือการนำเรื่องของ ABET เข้ามาเป็นมาตรฐานใหม่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในกลุ่มของประเทศอาเซียน ประเทศที่มหาวิทยาลัยฯมีความร่วมมือมากที่สุดก็จะเป็นประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดเรามากแล้วก็มีนักศึกษาของประเทศอินโดนีเซียมาเรียนกับเราเป็นจำนวนมากเรามีความร่วมมือหลายด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียนการสอน วิจัย หรือกิจกรรมที่เป็นลักษณะแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมก็จะมีอยู่ในกลุ่มของประเทศอินโดนีเซีย ทั้งนี้ยังมีประเทศมาเลเซียอีกประเทศ แต่ประเทศอินโดนีเซียจะมากกว่า 

    ทั้งนี้การสร้างพันธมิตร คือสิ่งที่สำคัญที่สุดเพราะหนึ่งคำในระบบการศึกษาที่เรามักจะใช้กันในทุกวันนี้คือ “การเป็นครูครีเอเตอร์” การสร้างสิ่งใหม่ๆร่วมกัน สร้างสิ่งใหม่ๆไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชนหรือแม้แต่ในประเทศ ต่างประเทศ จะต้องมาร่วมมือกันเพื่อสร้างสิ่งใหม่สร้างมูลค่าใหม่ สร้างคุณค่าใหม่ให้กับสังคม