ม.วลัยลักษณ์ คว้า 2 รางวัลเกียรติยศระดับโลก 3G Award 2024 ด้านความโดดเด่นในการรับผิดชอบต่อสังคมตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในระดับอุดมศึกษา และรางวัลยอดเยี่ยมด้านมหาวิทยาลัยสีเขียว

ม.วลัยลักษณ์ คว้า 2 รางวัลเกียรติยศระดับโลก Global Good Governance Awards (3G Awards) 2024 โดยรางวัล 3G Award for Advocacy of Social Responsibility in Higher Education ให้แก่ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อเชิดชูเกียรติในฐานะผู้นำสถาบันอุดมศึกษาที่สนับสนุนการขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยมีความโดดเด่นด้านความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) และรางวัล 3G Excellence Award for Green Campus 2024 ในฐานะมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นด้านการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ เป็นตัวแทนเข้ารับรางวัล 

รางวัล 3G Awards จัดโดยบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน Cambridge International Financial Advisory ซึ่งตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักรโดยมีเครือข่ายจัดงานระดับโลกหลายหน่วยงานมีเป้าหมายเพื่อยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานที่ให้ความสำคัญและดำเนินงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบการพัฒนาของ UN-SDGs ในปีนี้พิธีมอบรางวัลจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 9 (9th Global Good Governance Awards 2024) ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแนวหน้าของประเทศ และให้ความสำคัญกับการบริการวิชาการโดยประยุกต์ใช้องค์ความรู้ และนวัตกรรมที่ได้จากการวิจัยเพื่อร่วมพัฒนาสังคมชุมชนตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs รวมถึงการวางนโยบายและพัฒนาพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นพื้นที่สีเขียวต้นแบบของประเทศ โดยการขับเคลื่อนร่วมกันของทุกหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยและมีศูนย์บริการวิชาการเป็นหน่วยงานหลักตามโครงสร้างของมหาวิทยาลัยทำหน้าที่บูรณาการความร่วมมือเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน” 

“โดยปี พ.ศ. 2567 เป็นปีแรกที่มหาวิทยาลัยได้เสนอชื่อเพื่อพิจารณารับรางวัล 3G Awards ซึ่งมีคณะกรรมการพิจารณารางวัลที่มาจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งที่เป็นภาคตัวแทนหน่วยงานของรัฐ ภาควิชาการ รวมทั้งบริษัท โดยการพิจารณาจากหลักฐานเอกสารที่เผยแพร่ออนไลน์หรือหลักฐานที่สร้างความรับรู้แก่สาธารณะถึงการทำงานของมหาวิทยาลัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม รวมทั้งหลักฐานเอกสารที่มหาวิทาลัยได้จัดส่งเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินการของมหาวิทยาลัยที่ตอบโจทย์ SDGs และมหาวิทยาลัยสีเขียว” ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าว 

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ยกระดับมหาวิทยาลัยในหลายมิติทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ โดยในปี 2566 ได้รับการจัดอันดับโลก THE impact rankings อันดับที่ 400-600 ของโลก โดยมี 4 SDGs ได้แก่ SDG2 (Zero hunger), SDG6 (Clean water and Sanitation), SDG11 (Sustainable cities and communities) และ SDG14 (Life below water) ได้รับการจัดอันดับ 1-100 ของโลก และมหาวิทยาลัยยังมีเป้าหมายในการยกระดับการพัฒนาทางด้าน SDG อย่างต่อเนื่อง โดยมีหลายโครงการและกิจกรรมที่ดำเนินการได้อย่างโดดเด่น เช่นโครงการคืนปูม้าสู่ทะเลไทยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งสามารถทำให้มีผลผลิตปูม้าในธรรมชาติเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ให้กับชุมชน โครงการเก็บกักและบริหารจัดการน้ำภายในมหาวิทยาลัย ให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอและสามารถช่วยเหลือความต้องการใช้น้ำของพื้นที่ชุมชนภายนอกมหาวิทยาลัยได้ มีการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อลดการใช้ปริมาณไฟฟ้า และการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าในการขนส่งภายในมหาวิทยาลัย เพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง รวมทั้งการติดตามและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล เช่น ปะการัง การสร้างที่อยู่อาศัยในกับสัตว์น้ำชายฝั่ง เป็นต้น  

และในปี 2566 UI Greenmetric World Rankings ได้จัดให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 1 ของภาคใต้ 4 ปีซ้อน มีอุทยานพฤษศาสตร์ขนาดใหญ่เพื่อรักษาความหลากหลายของพันธุกรรมพืชและสัตว์ รวมทั้งเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ของนักศึกษา และประชาชนที่มาเยี่ยมชมจากทั่วประเทศ มีการจัดโปรแกรมการลดการใช้พลาสติกเพื่อสร้างความตระหนักในการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมหาวิทยาลัยยังให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจัดให้มีรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ในรายวิชาหมวดการศึกษาทั่วไป และทุกรายวิชาการที่สอนในมหาวิทยาลัยจะมีการเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย